ผุด‘ทีมเรามีเรา’ เร่งฟื้นฟูเยียวยา ชงเข้าครม.พุธนี้


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ ถกทีมเศรษฐกิจช่วยผู้ได้รับผลกระทบโควิด -19 ระลอกใหม่ หลังรัฐยกระดับมาตรการเข้ม เร่งทีม ศก.ออกมาตรการฟื้นฟู-เยียวยาประชาชน เสนอเข้า ครม.พุธนี้ทันที ย้ำดูแลกลุ่มเปราะบางรวมทั้งผู้มีรายได้น้อย พร้อมตั้ง "ทีมเรามีเรา”  ช่วยเหลือผู้พิการที่ติดเชื้อโควิดทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด

    เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจ อาทิ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ที่ปรึกษานายกฯ, นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง, นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย, นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เข้าร่วมหารือ
    ทั้งนี้ เป็นการหารือถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และการพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และประชาชนที่ได้รับกระทบจากการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ของรัฐ เช่น จากคำสั่งปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และสถานประกอบการอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ
    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงความคืบหน้าของมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของมาตรการด้านการเงิน ผ่านการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด และการออก พ.ร.ก.ด้านการเงินต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ รวมถึงมาตรการด้านภาษี ทั้งการลดภาษีและการขยายกำหนดเวลาต่างๆ อีกทั้งมาตรการด้านการคลังผ่านโครงการเยียวยา และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่างๆ ซึ่งมีทั้งโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่งระยะที่ 1-2 โครงการเพิ่มกำลังซื้อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการที่ยังดำเนินการอยู่ เช่น โครงการเราชนะ
    อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิดในรอบล่าสุดนี้ ได้กระจายไปทั่วประเทศ และมีผลกระทบในวงกว้างกว่ารอบที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณามาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อดูแลและเยียวยาประชาชนอย่างเร่งด่วน และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยจะพิจารณามาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที อาทิ มาตรการด้านการเงิน มาตรการด้านสินเชื่อ มาตรการพักชำระหนี้ รวมถึงมาตรการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน มาตรการการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
    "นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในที่ประชุมเรื่องความจำเป็นที่ต้องพิจารณามาตรการที่จะออกมาใหม่ในรอบนี้ ด้วยความรวดเร็วและด้วยความรอบคอบ โดยมาตรการใดที่สามารถดำเนินการได้ทันที นายกฯ ได้ขอให้หน่วยงานต้นสังกัดนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในครั้งหน้า ที่จะมีการประชุมในวันพุธที่ 5 พ.ค.64 นี้ได้เลย" นายอนุชากล่าว
    น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมให้ความช่วยเหลือ ดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม โดยทุกหน่วยงานทยอยออกมาตรการเพื่อดูแลประชาชนในส่วนการรับผิดชอบแล้ว และจะมีการออกมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม
    รองโฆษกฯ กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจตราราคาสินค้าและบริการ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาเอาเปรียบผู้บริโภค กำชับให้มีการปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน และบางสินค้าหากจะมีการขึ้นราคา ต้องขออนุญาตที่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้มีการปรับขึ้นราคาใดๆ ทั้งสิ้น กระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งให้ควบคุมอัตราค่าบริการในส่วนของธุรกิจจัดส่งสินค้ามากเป็นพิเศษ เนื่องจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศใช้บริการสั่งสินค้า สั่งอาหารแบบส่งถึงบ้าน (Delivery) มากขึ้น จึงต้องกำกับดูแลอัตราค่าขนส่งเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับพี่น้องประชาชน เพื่อสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนทำงานที่บ้าน WFH และอยู่กับบ้าน เว้นระยะห่างทางสังคมเป็นหลัก
    ขณะเดียวกัน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน และผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด พร้อมตั้งคณะทำงานช่วยเหลือผู้พิการที่ติดเชื้อโควิดเป็นการเฉพาะ ทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด ภายใต้ “ทีมเรามีเรา” ซึ่งจะดำเนินการตั้งแต่ 1.มอนิเตอร์ ติดตามว่ามีคนพิการที่โพสต์/โทร.ขอความช่วยเหลือหรือไม่ คัดกรอง ประสานเครือข่ายเพื่อให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลทั้งโรงพยาบาลหรือ รพ.สนาม และประเมินและติดตามผลการช่วยเหลือ โดยผู้พิการสามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือมายังสายด่วน 1300 ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสายด่วน 1479 ตั้งแต่ขณะนี้เป็นต้นไป
    "แนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่พยายามดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ส่วนมาตรการดูแลผู้ประกอบการร้านอาหาร และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีมาตรการให้การช่วยเหลือออกมาเร็วๆ นี้" น.ส.รัชดากล่าว.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"