'วัคซีนทางเลือก' การบริหารความเสี่ยงและโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

     ความสับสนว่าด้วยบทบาทของเอกชนในการช่วยภาครัฐจัดหาวัคซีนโควิด-19 สะท้อนความจริงข้อหนึ่งว่า คำว่า  “ทีมประเทศไทย” ยังไม่ได้เป็นทีมเดียวกันอย่างแท้จริง

            เพราะหากเป็น Team Thailand ที่มีภารกิจร่วมในการเอาชนะสงครามโควิดครั้งนี้ จะต้องไม่มีคำว่า “ภาครัฐ” กับ  “ภาคเอกชน”

            และไม่ควรจะมีการแบ่งแยกระหว่าง “โรงพยาบาลเอกชน” กับ “ภาคธุรกิจ” อย่างที่เราได้ยินในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างที่มีข่าวคราวความขัดแย้งว่าตกลงจะเอาอย่างไรกับข้อเสนอของเอกชนที่จะมาช่วยหาวัคซีนเสริมให้ประเทศไทย

            ย้อนกลับไปเมื่อ 19 เมษายนที่ผ่านมา ผู้บริหารสูงสุดของกว่า 40 องค์กรเอกชนประชุมออนไลน์ภายใต้การนำของคุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย เพื่อระดมความคิดในอันที่จะช่วยเร่งการจัดหาและกระจาย พร้อมกับหาทางช่วยให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70%  ของประชากรไทยทั้งหมดก่อนสิ้นปี 2564

            ข้อเสนอของที่ประชุมวันนั้นคือ การตั้ง 4 กลุ่มขึ้นมาช่วยรัฐบาลในเรื่องการกระจายวัคซีน, การสื่อสาร,  เทคโนโลยี และการช่วยหา “วัคซีนทางเลือก” เพิ่มอีกประมาณ 30 ล้านโดส

            วันที่ 28 เมษายน ผู้นำเอกชนจากสภาหอการค้าไทย,  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้าพบนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา

            ในคำแถลงข่าวหลังการประชุมนั้น หอการค้าไทยแจ้งว่าท่านนายกฯ เห็นพ้องกับข้อเสนอของฝ่ายเอกชน และได้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐกับเอกชน 4 คณะตามแนวทางที่คณะซีอีโอได้เสนอไป

            ต่อมาค่ำวันเดียวกันนั้น มีคำ “ประกาศ” จากหอการค้าไทยว่า รัฐบาลได้แจ้งมาว่าภาคเอกชน “ไม่ต้อง” ช่วยจัดหาวัคซีนเพิ่มแล้ว เพราะรัฐบาลสามารถจะจัดหาตามเป้า 100  ล้านโดสได้ก่อนสิ้นปีแน่นอน

            แต่ในวันเดียวกันนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ออกข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมว่า ทางการเน้นว่าให้เอกชนช่วยหาวัคซีนเสริมได้

            เมื่อผู้คนเริ่มงุนงงว่าความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ ก็ไปถามนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง

            คุณหมอเฉลิมบอกว่า รัฐบาลบอกเพียงให้ “ภาคธุรกิจ”  ไม่ต้องช่วยจัดหาวัคซีนเพิ่มเท่านั้น แต่ส่วนของโรงพยาบาลเอกชนยังจะเดินหน้าหาวัคซีนทางเลือกต่อไป

            อีกทั้งคณะกรรมการที่นายกฯ ได้ตั้งขึ้นเพื่อการนี้ซึ่งมี  นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน และมีตัวแทนจากเอกชนมาร่วมด้วยนั้น ก็ยังมีภารกิจของการหาวัคซีนมาเสริมต่อเช่นกัน

            กลายเป็นว่า แม้ในภาคเอกชนเองก็เริ่มจะมีความสับสนและงุนงงเช่นกัน

            ต่อมา โฆษกรัฐบาลคุณอนุชา บูรพชัยศรี บอกว่ารัฐบาลไม่ได้กีดกันเอกชนในการช่วยจัดหาวัคซีนทางเลือก

            แต่จากการหารือกับภาคเอกชนเท่าที่ติดต่อได้ ผู้ผลิตแต่ละประเทศสามารถส่งมอบวัคซีนได้ภายในไตรมาสที่ 4  จึงอาจจะล่าช้า

            คุณอนุชาบอกว่า หอการค้าไทยได้ชี้แจงว่ากรณีที่ภาคเอกชนจะนำเข้าวัคซีนในช่วงปลายปีนี้ถือว่าล่าช้า

            ดังนั้น จึงสรุปว่าให้รัฐบาลเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหาวัคซีนตามแผนเดิม คือภายในสิ้นปีนี้จะมีวัคซีน 100 ล้านโดส

            ตามแผนที่รัฐบาลแจ้งให้ประชาชนทราบนั้น คาดว่าจะได้จาก AstraZeneca ที่จะผลิตโดย Siam BioScience ของไทยเริ่มมิถุนายนนี้ถึงสิ้นปี โดยเดือนแรกจะได้ 6 ล้านโดส และหลังจากนั้นเดือนจะ 10 ล้านโดส

            บวกกับ Sinovac จากจีนอีกประมาณ 2 ล้านโดส

            รวมกันแล้วส่วนนี้จะเป็นประมาณ 63% ของความต้องการ

            จากนั้นรัฐบาลเชื่อว่าจะได้จาก Pfizer 5-20 ล้านโดส จาก Sputnik V อีก 5-10 ล้านโดส จาก Johnson &  Johnson อีก 5-10 ล้านโดส และ Sinovac อีก 5-10 ล้านโดส

            ส่วนนี้จะเท่ากับประมาณ 30% ของความต้องการทั้งหมด

            ที่เหลือ 7% นั้น ตามเอกสารทางการบอกว่าจะให้เอกชนเป็นฝ่ายจัดหาจาก Moderna หรือ Sinopharm ของจีน หรือ Bharat ของอินเดีย

            ความเป็นจริงก็คือว่า นี่คือการทำสงครามกับไวรัสโควิด-19

            และในการทำสงครามนั้นจะต้องมีการ “ประเมินและบริหารความเสี่ยง” ที่เรียกว่า Risk Management จึงจะชนะศัตรูได้

            การจัดหาวัคซีนครั้งนี้ก็เช่นกัน รัฐบาลจะต้องตระหนักว่ายังมีปัจจัยความไม่แน่นอนอีกมากมายหลายประการจากนี้ไปถึงสิ้นปีนี้

            ความไม่แน่นอนนั้นอาจจะมาจาก หนึ่ง อุปสรรคที่คาดไม่ถึงในกระบวนการผลิตของวัคซีนยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง

            สอง ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการกลายพันธุ์ของไวรัส จนทำให้มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การต้องปรับสูตรของวัคซีน และอาจนำไปสู่ความล่าช้าของการผลิต

            ซึ่งอาจจะหมายความว่า ปริมาณที่ยี่ห้อต่างๆ ได้ตกลงกับเราไว้อาจจะต้องเปลี่ยนตารางเวลาและผลิต รวมถึงเลื่อนตารางเวลาการส่งมอบ

            สาม เนื่องจากวัคซีนทุกชนิดที่ใช้อยู่ในโลกวันนี้ยังเป็นการใช้ในสภาวะ “ฉุกเฉิน” จึงอาจจะมีผลข้างเคียงอันไม่พึงปรารถนาที่คาดไม่ถึง ซึ่งแตกต่างไปจากการผลิตวัคซีนตามปกติที่ใช้เวลานานกว่าวัคซีนตัวนี้หลายปี จึงอาจจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทั้งสูตร, มาตรฐาน, ประสิทธิภาพ และเวลาส่งมอบได้ตลอดเวลา

            สรุปว่าการบริหารความเสี่ยงนั้นหมายถึง การต้องเผื่อไว้สำหรับสิ่งที่คาดไม่ถึง จึงต้องทำงานบนหลักการของการมีวัคซีนภายใต้

            “มากไปดีกว่าน้อยไป”

            หรือ “เกินดีกว่าขาด”

            ถ้าหากมีเกิน 100 ล้านโดส เราก็ฉีดให้คนไทยเกิน  70% ของประชากร

            แต่หากเป้า 100 ล้านโดสของรัฐบาลเกิดได้ต่ำกว่าหรือช้ากว่าที่กำหนด ส่วนที่เอกชนไปจัดหามาได้ก็จะได้เป็น  “กระสุนสำรองเผื่ออุบัติเหตุ”

            นี่คือการบริหารความเสี่ยงภายใต้ภาวะวิกฤติที่สะท้อนถึงความเป็น Team Thailand อย่างแท้จริง.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"