ผลวิจัยคนสูบบุหรี่ เสี่ยงฉีดวัคซีนไร้ผล


เพิ่มเพื่อน    

  "แพทย์รามาฯ" เผยผลวิจัยจากอิตาลี พบคนสูบบุหรี่ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ภูมิคุ้มกันขึ้นต่ำกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 40% เหตุบุหรี่ไปทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกาย แนะคนไทยเลิกสูบระหว่างรอฉีดวัคซีน 1-2 เดือนช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันฟื้นตัวได้ "ครปอ." เตือนดื่มแอลกอฮอล์ก็ทำลายภูมิคุ้มกันเชื้อโควิดเช่นกัน

    เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นใหม่โดยทีมวิจัยจากอิตาลี ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัยของรัฐบาลอิตาลี พบการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนได้ผลน้อยลง งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยตรวจระดับภูมิคุ้มกันร่างกายต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 (Anti SARS-Cov2 antibodies) ภายหลังจากได้รับวัคซีนประเภท COVID-19 mRNA ของ Pfizer/BioNTech ครบ 2 เข็ม ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 86 คน
    "ผลการศึกษาพบว่าคนที่สูบบุหรี่จะมีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยอยู่ที่ 1,099 U/ml ในขณะที่คนที่ไม่สูบบุหรี่จะอยู่ที่ระดับ 1,921 U/ml หรืออาจจะกล่าวได้ว่าคนที่สูบบุหรี่หลังจากได้รับวัคซีนแล้วระดับภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโควิด-19 จะขึ้นต่ำคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 40% นอกจากนี้งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ว่า คนอ้วนหรือคนที่มีความดันโลหิตสูงก็มีแนวโน้มที่ระดับภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีนจะได้ผลน้อยกว่า"
    ดร.พญ.เริงฤดีกล่าวว่า ทาง พญ.มิกิโกะ วาตานาเบะ หัวหน้าทีมวิจัย ตั้งข้อสังเกตว่าการที่คนสูบบุหรี่มีระดับภูมิคุ้มกันขึ้นต่ำกว่าคนไม่สูบบุหรี่นั้นคล้ายกับกรณีของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่พบผลคล้ายกันคือภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ของคนสูบบุหรี่จะลดลงอย่างรวดเร็วกว่าคนไม่สูบบุหรี่ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการสูบบุหรี่ที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานไม่ปกติ เป็นผลทำให้เกิดการติดเชื้อโรคต่างๆ ง่ายกว่าคนไม่สูบ อย่างไรก็ตาม กลไกที่ทำให้คนสูบบุหรี่ตอบสนองต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 น้อยกว่าคนไม่สูบบุหรี่นั้นจำเป็นต้องมีการศึกษารายละเอียดต่อไป
    ดร.พญ.เริงฤดีกล่าวด้วยว่า รายงานกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกาสรุปชัดเจนว่า สารเคมีจากควันบุหรี่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายและปอดลดลง เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อของปอด และทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันอีกหลายๆ โรค และหากเลิกสูบบุหรี่ภายในระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเริ่มทำงานดีขึ้น โดยปอดจะกลับมาทำงานดีขึ้น ช่วยกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นในระหว่างที่คอยรับการฉีดวัคซีน คนที่สูบบุหรี่จึงควรเลิกสูบทันที ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ลงปอดรุนแรงแล้ว การเลิกสูบบุหรี่ยังจะทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ได้เต็มที่เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนอีกด้วย
    ด้านนายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) กล่าวว่า โควิด-19 รอบนี้หนักกว่าสองรอบที่ผ่านมา ชัดเจนว่าคลัสเตอร์จากแหล่งอบายมุข ร้านเหล้า ผับ บาร์ บ่อนพนัน เป็นจุดของการแพร่เชื้อ ซึ่งประชาชนกำลังจับตาว่าผับบาร์ไฮโซย่านทองหล่อ รัชดาฯ นนทบุรี นครราชสีมา สงขลา ภูเก็ต หรือเชียงใหม่ ที่เป็นคลัสเตอร์สำคัญๆ ในครั้งนี้ ผู้รักษากฎหมายจะสามารถเอาผิดคนที่เกี่ยวข้องได้มากน้อยแค่ไหน
    นายชูวิทย์กล่าวว่า จากการมอนิเตอร์ข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนในช่วงโควิดรอบใหม่เดือน เม.ย.2564 รวบรวมโดยเว็บไซต์ stopdrink พบว่ามีข่าวผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 134 ข่าว เฉลี่ยวันละ 5 ข่าว ส่วนใหญ่เป็นข่าวการติดเชื้อโควิด-19 กว่าร้อยละ 60 ที่เหลือเป็นข่าวความรุนแรงในครอบครัว อุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท และล่วงละเมิดทางเพศ เมื่อพิจารณาข่าวโควิด-19 ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้อง พบเป็นข่าวคลัสเตอร์สถานบันเทิง ผับ บาร์ ร้านเหล้า (ย่านทองหล่อ-รัชดาฯ นครราชสีมา นนทบุรี สงขลา ภูเก็ต ฯลฯ) รวมถึงข่าวการแพร่เชื้อต่อจากคลัสเตอร์เหล่านี้ 20 ข่าว หรือร้อยละ 26 ที่น่าตกใจคือ เป็นข่าวติดเชื้อจากการตั้งวงกินดื่มกันเองตามบ้าน ริมหาด งานบวช งานบุญ งานศพ สูงถึง 56 ข่าว หรือร้อยละ74 สะท้อนว่าการตั้งวงสังสรรค์เป็นอีกปัญหาใหญ่ จึงอยากวิงวอนพี่น้องประชาชนให้งดการตั้งวงกินดื่มในช่วงนี้อย่างเด็ดขาด ขอให้คิดไว้เสมอว่าคนที่นั่งกินกับคุณอาจจะติดเชื้อมา และทางที่ดีลด ละ เลิกจะดีที่สุด
    “นอกจากการแพร่ระบาดที่ถือว่าร้านเหล้า ผับ บาร์ วงเหล้า สัมพันธ์ชัดเจนกับการแพร่เชื้อแล้ว อีกด้านหนึ่งงานวิชาการทั่วโลกยืนยันว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกาย เพราะไม่สามารถตรวจจับ กำจัดและทำลาย หรือต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 รวมทั้งทำให้ความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อบกพร่องด้วย นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังเข้าไปทำลายอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของคนที่ดื่มให้เสื่อมทำงานผิดปกติ เมื่อสัมผัสเชื้อและแพร่เชื้อทำให้อาการติดเชื้อรุนแรงขึ้น ยังไม่นับพฤติกรรมเสี่ยงสารพัดจากการขาดสติ กลายเป็นภาระของหมอและพยาบาล” ผู้ประสานงาน ครปอ.กล่าว  
    ส่วนนายณัฐพงษ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า ยังมีการรวมตัวลักลอบเล่นการพนันในหลายพื้นที่ตามที่ปรากฏเป็นข่าว ทั้งจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอปากช่องลงพื้นที่จับกุมนักพนัน 13 คน พร้อมอุปกรณ์การเล่นไฮโล และทีวี 3 เครื่อง (มวยตู้) คาดว่ามีการรวมตัวลักลอบเล่นพนันกว่า 100 คน กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชสนธิกำลังอาสาฝ่ายปกครองและตำรวจบุกทลายบ่อนไก่ชน รวบนักพนันได้ 15 คน อีกกว่า 20 คนวิ่งหนีกระเจิง และล่าสุดในพื้นที่จังหวัดนครศรีฯ พบไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลายคนเข้าเล่นพนันไฮโลในงานศพ ทำให้ประชาชนหลายคนตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการการ์ดตกของประชาชนกลุ่มนี้อย่างรุนแรง ไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม ละเมิดกฎหมายและฝ่าฝืนคำสั่งการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ จึงอยากให้มีการลงโทษสถานหนักกับผู้ที่ยังลักลอบตั้งวงเล่นพนัน
    “ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวด กวดขัน และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตลอดจนขอให้ประชาชนร่วมกันเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสสถานที่ลักลอบเล่นการพนันส่งตรงถึงทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ขอให้เพื่อนๆ เยาวชน ประชาชน หยุดแชร์ หยุดเชียร์ หยุดชวนพนันออนไลน์ และหยุดพฤติกรรมรวมกลุ่มตั้งวงเล่นไพ่ วงพนันทุกรูปแบบ จำเป็นต้องปฏิบัติตามแนวทางชีวิตวิถีใหม่อย่างเคร่งครัด สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19” ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนันกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"