สั่งประเมินผลระลอก3! โอ่คลอดเยียวยาทุกกลุ่ม


เพิ่มเพื่อน    

 

"บิ๊กตู่" สั่งหน่วยงานด้านเศรษฐกิจประเมินผลกระทบหลังออกมาตรการคุมโควิดระลอกใหม่ ก่อนชง "ศบศ."  ออกแนวทางเยียวยาทุกกลุ่ม พร้อมกำชับแรงงานดูแลผู้ประกันตน ม.33 "เพื่อไทย" จี้รัฐบาลเร่งแจกเงิน 5 พัน 3 เดือน โยกงบ ปภ.ช่วยเหลือ ปชช.เดือดร้อน "อนุสรณ์" ชง 5 แผนฟื้น ศก.

    เมื่อวันที่ 2 พ.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำชับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ เพื่อกำหนดแนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ, ลูกจ้างและประชาชน รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยให้เตรียมความพร้อมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบศ. ซึ่งจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้
    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า การประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจระลอกใหม่ครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ต้นที่มีการปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ฯลฯ ทั่วประเทศ กระทั่งมาถึงมาตรการล่าสุดที่เน้นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร  ซึ่งแม้ก่อนออกมาตรการต่างๆ จะได้ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน แต่ก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งประเมินผลหลังมีมาตรการออกไปแล้ว เพื่อกลั่นกรองเป็นแนวทางการช่วยเหลือ เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว
    "รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยมาตรการเยียวยาต่างๆ จะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม และรวดเร็ว ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม โดยได้ขอให้กระทรวงอื่นๆ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการแบ่งเบาภาระค่า ครองชีพประชาชนด้วย เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้มีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ รวมถึงแก๊ส ฯลฯ ซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้เป็นอย่างดี ถือเป็นแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง" รองโฆษกรัฐบาลกล่าว
    ส่วนนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ กำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพของพี่น้องแรงงาน พร้อมให้ดูแลผู้ประกันตนที่มีกว่า 16.5 ล้านคน โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดสถานที่และสถานประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ตามประกาศกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างหรือถูกสั่งให้กักตัวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในขณะนี้
    ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หลายคนมีความเป็นห่วงว่าจะมีผลกระทบเพราะทั้งโควิดและเศรษฐกิจมีความเกี่ยวเนื่องกัน แต่ใช่ว่าเศรษฐกิจจะมีแต่สัญญาณลบไปทั้งหมด โดยช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 รอบสาม โดยเฉพาะช่วง มี.ค.ที่ผ่านมามีสัญญาณเป็นบวก ยกตัวอย่างตัวเลขการส่งออกเดือน มี.ค. การส่งออกบวกถึง 8.47% ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ และถ้าไม่นับทองคำ น้ำมัน นับเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง เดือน มี.ค.ตัวเลขส่งออกบวกถึง 12% ซึ่งถือเป็นความหวังในภาวะที่เจอกับโควิด
    นายจุรินทร์กล่าวว่า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปี 2564 นับตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึงเดือน มี.ค.สูงมาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจในส่วนที่กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบ  เช่นเดียวกับราคาพืชผลทางเกษตรอยู่ในตัวเลขที่ดีสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
    “เป็นสัญญาณก่อนการระบาดโควิดรอบสามหรือในช่วงก่อนเริ่มระบาดก็ยังมีสัญญาณดีอยู่ สำหรับเศรษฐกิจในภาพรวมที่ผ่านมาเราพึ่งตัวเลข 2 ตัวที่สำคัญคือ การท่องเที่ยวและการส่งออก เดือน มี.ค.ตัวเลขการส่งออก 8.47 สำหรับเดือนเม.ย.ก็คาดการณ์ว่ายังมีโอกาสเป็นบวกเช่นเดียวกัน” รองนายกฯ กล่าว
    อย่างไรก็ดี นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงข่าวกรณี พ.ร.ก.เงินกู้โควิด 1.9 แสนล้านบาทว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ขอกู้เงินผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 แสนล้านบาท ขอทวงถามเงินกู้ที่เคยขอสภาไปนั้นเหลืออีกเท่าไหร่ ตอนนี้ประชาชนกำลังจะอดตาย เหตุใดรัฐบาลไม่รีบเร่งนำเงินส่วนที่เหลือออกมาเยียวยาผู้ประกอบการ ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ปีที่แล้วโควิดระลอกแรกเยียวยาประชาชน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แต่ระลอกนี้ยังไม่เยียวยาสักบาท ก็อยากเรียกร้องให้ท่านเยียวยาในจำนวน 5,000 บาท 3 เดือนเท่ารอบแรก   
    "กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) วันนี้มีภัยที่ใหญ่หลวงมาก มีงบประมาณในการช่วยเหลือหากมีภัย สามารถนำน้ำอาหารไปช่วยเหลือหมู่บ้านที่ล็อกดาวน์ ขอให้นำระเบียบของ ปภ. ออกมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน" นายยุทธพงศ์ระบุ
    นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจว่า ที่ดูเหมือนกระเตื้องขึ้นบ้างในไตรมาสแรกปีนี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสาม กำลังทำให้เศรษฐกิจของประชาชนระดับฐานรากและผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบรุนแรง คาดว่าจะมีการเลิกจ้างระลอกใหม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์บางส่วน
    นายอนุสรณ์กล่าวว่า ขอเสนอนโยบายแรงงานและข้อเสนอเพื่อการดำเนินการ 5 ข้อต่อรัฐบาลภายใต้ผลกระทบการแพร่ระบาดโควิดระลอกสาม 1.ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2565 เพิ่มเติมให้กับกระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษาฯ  กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดให้มีโครงการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น เพื่อนำผู้ว่างงานมาทำหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขและผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ 2.ขอเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณและการนำเงินจากกองทุนประกันสังคมบางส่วนมาจัดสร้างโรงพยาบาลของผู้ประกันตน อย่างน้อย 8 แห่งทั่วประเทศ     
    นอกจากนี้ 3.ขอให้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อจัดตั้ง ธนาคารแรงงานหรือธนาคารผู้ประกันตน ให้สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและการออมเงินให้กับผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งเป็นแหล่งทุนให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ 4.ให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 และ 5.รัฐบาลควรปฏิรูปโครงสร้างการบริหารสำนักงานประกันสังคม
    ด้านนางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า มีข้อเรียกร้องมายังนายกฯ 1.อนุญาตให้ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และงดนั่งดื่มแอลกอฮอล์ ขอให้พิจารณาอนุญาต ในวันที่ 7 พ.ค.2564 เพราะมั่นใจมีมาตรฐานป้องกันการติดเชื้อมีความปลอดภัย สามารถเปิดให้บริการให้นั่งรับประทานได้ 2.มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร ค่าจ้าง เงินเดือนพนักงาน 50% งดการจัดเก็บภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผ่อนผันการชำระดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน และพักการชำระเงินต้นเป็นเวลา 1 ปี อีกทั้งขอความกรุณารัฐบาลโดย ศบค.ประสานเจ้าของห้างสรรพสินค้าลดค่าเช่าอย่างน้อย 50% โดยเจ้าของพื้นที่ที่ให้ส่วนลด สามารถนำไปลดหย่อนภาษีจากรัฐบาลในรอบบัญชีถัดไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"