อาการหนักเฉียดพัน คร่าอีก21ชีวิต/สธ.ผวาคนในครอบครัว/เล็งห้ามต่างชาติเข้า


เพิ่มเพื่อน    

  ติดเชื้อรายใหม่ดีดกลับ 1,940 ราย ตายยังสูง 21 ราย อาการหนัก 954 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 270 ราย ศบค.เล็งค้นหาเชิงรุก กทม.-ปริมณฑล จับตา กต.ชะลอคนต่างชาติเข้าประเทศ ผวาเชื้อกลายพันธุ์ สธ.ห่วงติดเชื้อในครอบครัว-เพื่อน  หลังตัวเลขพุ่ง 54% ขอให้ ปชช.ระวังตัว แจงวัคซีนไม่ใช่ทางรอดต้องใช้มาตรการอื่นๆ ร่วมด้วย ยกข้อมูลอิสราเอล-อเมริกาฉีดเยอะยังตายมากกว่าไทย ขณะที่ยอดลงทะเบียนฉีดวัคซีนวันที่ 2 ทะลุ 6 แสนคน นายกฯ ขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมขยายศักยภาพ "สายด่วนโควิด-19"

     เมื่อวันอาทิตย์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,940 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,930 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,788 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 142 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 68,984 ราย หายป่วยสะสม 39,481 ราย อยู่ระหว่างรักษา 29,481 ราย อาการหนัก 954 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 270 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 21 ราย เป็นชาย 12 ราย หญิง 9 ราย อยู่ใน กทม. 8 ราย, เชียงใหม่ 4 ราย, ชลบุรี ลำพูน จังหวัดละ 2 ราย, นครปฐม ตาก  ระยอง นครสวรรค์ อุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย สาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากใกล้ชิดสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อ สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน และมีถึง 2 รายที่ติดเชื้อขณะนอนอยู่ในโรงพยาบาล ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 245 ราย  
    อย่างไรก็ตาม กรณีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศนั้น หลังพบว่าเชื้อโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ โดยสายพันธุ์อินเดียระบาดไปหลายประเทศ จึงขอให้ติดตามประกาศจากกระทรวงการต่างประเทศที่จะชะลอบุคคลที่ไม่ใช่คนไทยเดินทางเข้ามาในประเทศ ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 152,800,831 ราย เสียชีวิตสะสม 3,206,451 ราย
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับ 5 จังหวัดแรกที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 2 พ.ค. ได้แก่ กทม. 539 ราย, นนทบุรี 276 ราย,  สมุทรปราการ 145 ราย, ชลบุรี 89 ราย และปทุมธานี 62 ราย ขณะที่แผนที่ประเทศไทย ข้อมูลวันที่ 2 พ.ค. มีจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเลย 11 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 1-10 ราย 32 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 50 ราย 27 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 100 ราย 4 จังหวัด จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย 3 จังหวัด แต่ที่เราเป็นห่วงคือ กทม.และปริมณฑล เพราะจะเห็นว่าผู้ติดเชื้อกระจุกตัวอยู่ใน กทม.และปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่ โดยที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กหารือกันว่า จำเป็นต้องค้นหาเชิงรุกในชุมชน ในพื้นที่แออัดให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีมาตราให้ทำงานที่บ้าน ทิศทางการติดเชื้อลดลง แต่ กทม.และปริมาณกราฟตัวเลขยังขึ้นอยู่ จึงฝากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการให้เข้าใจความเดือดร้อน และท่านจะค่อยๆ เห็นตัวเลขที่เราอยากเห็นลดลง
    ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการรายงานผลการพัฒนาระบบบริหารจัดการเตียงในพื้นที่ กทม. ระหว่างวันที่ 4-30 เม.ย. โดยข้อมูลสรุปจะเห็นว่าช่วงกลางเดือน เม.ย. ผู้ป่วยทั้งมีอาการหนักและมีอาการเบื้องต้น ต้องใช้ระยะเวลารอเตียงนานเกิน 10 วัน แต่หลังการบูรณาการร่วมกันแล้วจนถึงวันที่ 29 เม.ย. ผู้ป่วยทุกระดับจะใช้เวลารอเตียงอยู่ที่ 1-2 วันเท่านั้น โดยรองอธิบดีกรมการแพทย์รายงานว่า ปัจจุบันระยะเวลารอเตียงอยู่ภายใน 48 ชั่วโมง นอกจากนี้ สำหรับการลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านแอปพลิเคชันและไลน์หมอพร้อม ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ถึงเวลา 09.00 น.ของวันที่ 2 พ.ค. มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 430,588 ราย ตัวเลขนี้ทำให้เห็นว่ามีผู้เข้าใช้บริการจำนวนมาก เมื่อลงทะเบียนพร้อมกันจำนวนมากอาจทำให้ระบบขัดข้องชั่วคราว แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขอยู่ ส่วนผู้ที่ไม่สะดวกใช้ช่องทางดังกล่าว สามารถไปลงทะเบียนได้ที่ อสม.หรือโรงพยาบาลที่มีประวัติรักษาอยู่ รัฐบาลยืนยันคนไทยมีสิทธิ์ได้รับวัคซีน
วัคซีนไม่ใช่มาตรการเดียว
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงว่า สำหรับประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อลำดับ 102 ของโลก ส่วนประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ อินเดีย บราซิล สหรัฐอเมริกา ส่วนผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ อินเดีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา สำหรับยอดผู้ป่วยของไทยวันนี้ 1,940 ราย เสียชีวิต 21 คน โดยผู้เสียชีวิตอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 8 ราย, เชียงใหม่ 4 ราย, ชลบุรีและลำพูน 2 ราย และ นครปฐม ตาก ระยอง นครสวรรค์ อุดรธานี 1 ราย เป็นผู้ชาย 12 ราย หญิง 9 ราย อายุระหว่าง 34-88 ปี ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต ส่วนใหญ่คือ โรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง อ้วน ส่วนปัจจัยต่อการติดเชื้อคือใกล้ชิดสมาชิกในครอบครัวและเพื่อน สัมผัสจากผู้ติดเชื้อ รวมทั้งติดเชื้อขณะนอนอยู่ในโรงพยาบาล เช่น ญาติเข้าไปเยี่ยม โดยระยะเวลาตั้งแต่ติดเชื้อและเสียชีวิต โดยเฉลี่ยประมาณ 9 วัน
    นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ขอเน้นว่าการป้องกันโควิดคือเข้มงวดในดูแลคนภายในครอบครัว โดยมีการรายงานพบว่าในสัปดาห์ที่  14-17 ผู้ติดเชื้อใกล้ชิดจากคนในครอบครัวและเพื่อน จากร้อยละ 27.02 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 54.30 นอกจากนี้ยังมีจุดที่ประชาชนสนใจคือชุมชนคลองเตย จากการตรวจเชิงรุก ตั้งแต่วันที่ 27-30 เม.ย. ในชุมชน 70 ไร่ ตรวจ 433 คน พบเชื้อ 21 คน ชุมชนวัดสะพาน ตรวจ 489 คน พบเชื้อ 29 คน และชุมชนพัฒนาใหม่ ตรวจ 411 ราย พบเชื้อ 49 ราย
    “วัคซีนไม่ใช่มาตรการเดียวที่จะแก้ปัญหาโควิดได้สำเร็จ จำเป็นจะต้องมีมาตรการอื่นๆ ในการควบคุมจึงจะได้ผล ยกตัวอย่างข้อมูลคือ ประเทสอิสราเอล ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวนร้อยละ 62.4   สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 43.3 ขณะที่ไทยร้อยละ 1.5 เท่านั้น แต่เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยรายวันต่อประชากร 1 ล้านคน  กลับพบว่าสหรัฐอเมริกาเสียชีวิตร้อยละ 2.15, อิสราเอลเสียชีวิต 0.28 และไทยเสียชีวิต 0.17 จะเห็นว่าการฉีดวัคซีนที่กว้างขวางของสหรัฐอเมริกา ที่สูงกว่าไทย 10 เท่า และอิสราเอลที่สูงกว่าไทย ร้อยละ 30 จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการอื่นๆ ด้วย เช่นที่ประเทศไทย ทำคือใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือได้ดี ส่วนกระแสในโซเชียลฯ ที่ระบุเราไม่มีทางเลือกมากนัก ต้องรอแต่วัคซีน อยากจะสื่อสารว่าวัคซีนไม่ใช่มาตการเดียว แต่สิ่งที่เราทำนั้นดีอยู่แล้ว  และสามารถทำต่อเนื่องให้การควบคุมโรคโควิดได้ดี”  
    เมื่อถามว่าทำไมช่วงนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเสียชีวิต 21 คนติดต่อกัน 2 วัน สาเหตุเป็นเพราะอะไร รวมทั้งหลังการติดเชื้อเพียง 9 วันก็เสียชีวิต เป็นเพราะเหตุใด นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า   จำนวนผู้เสียชีวิตสูงต่อเนื่องหลายวัน เนื่องจากฐานผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าระลอกอื่นๆ ทั้งนี้ จากการรายงานผู้ติดเชื้อเมื่อ 2สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยเหล่านั้นที่อาการหนัก ก็จะมาปรากฏผลหลังการตรวจพบเชื้อประมาณ 10 วัน ซึ่งแตกต่างจากระลอกแรกคือ ธ.ค.63 ที่บางรายรักษาเป็นเดือนกว่าจะเสียชีวิต ลักษณะเหล่านี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จะติดตามรายละเอียดว่ามีเหตุปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องหรือไม่
      "ส่วนหนึ่งที่เราทราบกันดี การมีโควิดสายพันธุ์อังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ เราเห็นระยะเวลาการเสียชีวิตสั้นลงไปกว่าเดิม จึงมีความเป็นไปได้ สอดคล้องกับงานศึกษาในยุโรปว่าโควิดสายพันธุ์อังกฤษกลับมีความรุนแรงสูงขึ้น แต่เราก็จะดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น" นพ.เฉวตสรรกล่าว
    นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา โฆษกกรมอนามัย กล่าวว่า ข้อมูลการลงทะเบียนจองคิวรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านไลน์บัญชีทางการและแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ณ เวลา 14.00 น. มีผู้ลงทะเบียนรวม 499,873 ราย แบ่งเป็นผ่านไลน์ 379,653 ราย และแอปพลิเคชันอีก 120,220 ราย โดยเชื่อว่าวันนี้จะมีการจองเข้ามาอีกทะลุ 6 แสนราย โดยเน้นย้ำว่าแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” จะมีโลโก้พื้นหลังสีเขียวและตัวอักษรสีขาว เขียนว่า “หมอพร้อม”
ต้องเผาศพหลังเสียชีวิตไม่เกิน 1 วัน
    นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประสานงานไปยังนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม สั่งการให้โรงพยาบาลราชทัณฑ์ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รับตรวจโควิดให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั่วไปฟรีทุกคน เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 เวลา 08.30-14.00 น. และตั้งแต่วันที่ 5-11 พฤษภาคม 2564 ณ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยประชาชนไม่ต้องลงทะเบียนใดๆ เพียงแค่แสดงบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น หลังจากมีผู้ติดต่อมาทาง NBT กรมประชาสัมพันธ์ ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สมาชิกในบ้านติดเชื้อโควิด แต่หาที่ตรวจเชื้อไม่ได้ อีกทั้งหมดเวลาการตรวจ ทำให้มีปัญหาไม่ได้รับการตรวจทันที
    นายอนุชาเปิดเผยด้วยว่า? หลังจากได้สั่งการไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ดำเนินการประสาน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และขอความร่วมมือวัดทุกวัดทั่วประเทศ อย่าปฏิเสธการประกอบพิธีฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโควิด แต่ขอให้ใช้ความระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษในการดำเนินการฌาปนกิจ โดยให้ประสานกับสาธารณสุขพื้นที่ เพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดและถูกวิธี และต้องสร้างความเข้าใจกับญาติเกี่ยวกับการประกอบพิธีฌาปนกิจนั้นต้องกระทำทันที ไม่ให้มีการจัดสวดพระอภิธรรมเป็นระยะเวลานานนั้น จากรายงานจาก พศ. วัดหลายแห่งทั่วประเทศให้ความร่วมมือรับศพผู้ป่วยโควิดมาประกอบพิธีฌาปนกิจแล้วจำนวน 21 ราย ขอให้ญาติผู้เสียชีวิตเข้าใจ โดยต้องกระทำการเผาทันทีภายหลังเสียชีวิตไม่เกิน 1 วัน เพราะไม่ได้ฉีดยารักษาสภาพศพ โดยผู้ร่วมพิธีฌาปนกิจ ให้มีเฉพาะญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่อาจเกิดขึ้นในชุมชนใกล้เคียง
    น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานได้ร่วมกันดำเนินการขยายศักยภาพการให้บริการสายด่วนโควิด-19 ทั้งในเรื่องความเพียงพอของบุคลากรและจำนวนคู่สาย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลที่สถานพยาบาลตามระดับอาการอย่างรวดเร็ว ตามข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม การบูรณาการทำงานมีดังนี้? 1.กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงต้นได้เพิ่มจำนวนคนมาช่วยรับสาย โทร. 1668 ซึ่งเป็นจิตอาสาทางการแพทย์และสาธารณสุขกว่า 200 คน และต่อมามีการเพิ่มคู่สายอีก 40 คู่สาย โทร. 0-2079-1000 เพื่อเสริมศักยภาพในการประสาน รับ-ส่งผู้ติดเชื้อไปศูนย์แรกรับอาคารนิมิบุตร 2.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คัดนักเรียนแพทย์ที่มีความพร้อมมาช่วยรับโทรศัพท์ 1668 และ 1669 เพื่อแก้ปัญหาคนไม่พอ 3.บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เข้าปรับปรุงระบบ 1668 และเพิ่มคู่สายให้สามารถรองรับปริมาณการโทร.จำนวนมาก
    4.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิด "ศูนย์ 191" รับแจ้งผู้ป่วยโควิด-19 แล้วส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานการแพทย์ตลอด 24 ชม. รองรับ 1,200 คู่สายทั่วประเทศ 5.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โทร. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง ทำงานคู่ขนานกับสายด่วน 1668 ของกระทรวงสาธารณสุข และ 1669 ศูนย์เอรวัณ กทม. เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 สอบถามข้อมูลการใช้ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และประสานหาเตียง? 6.สำหรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กทม. โทร.สายด่วน 1669 ศูนย์เอราวัณ ซึ่งได้จัดระบบการรับสายใหม่และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รับสาย ขณะนี้ไม่มีปัญหาแล้ว และพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งประชาชนสามารถติดต่อสายด่วน 1668 หรือ 1330 ได้ด้วย
     ทั้งนี้ เมื่อมีผู้รับเรื่องแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องโทร.หมายเลขอื่นอีก เนื่องจากศูนย์เอราวัณจะเป็นศูนย์กลางในการจัดเตียง  ขณะนี้ ทางศูนย์ฯ แจ้งว่าสามารถดำเนินการนำส่งผู้ป่วยได้แบบวันต่อวัน
    “นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณบุคลากรและอาสาสมัครทุกภาคส่วนที่ทุ่มเทกำลังอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ข้อบกพร่องใดๆ ที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้เร่งเข้าแก้ไข และสนับสนุนทรัพยากรเพื่อให้เกิดพัฒนางานบริการในทุกด้าน รวมถึงมีการเตรียมพร้อมเพื่อดูแลผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีงบประมาณเพียงพอต่อการเยียวยาดูแลและบรรเทาผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ วงเงินมาจาก พ.ร.ก.กู้เงินและงบกลางปีงบประมาณ 2564 โดยกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาออกมาตรการ ทั้งรูปแบบการเยียวยาและกระตุ้นใช้จ่าย” รองโฆษกฯ กล่าว
ตั้งศูนย์ฟันข่าวโควิดปลอม
    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรมควบคุมโรค ได้แจ้งผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ในเบื้องต้น ที่มีการตรวจ กกต. เจ้าหน้าที่และพนักงานในรอบที่สอง เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีผู้รับการตรวจ 137 คน ผลปรากฏว่าไม่พบการติดเชื้อเพิ่มแต่อย่างใด สำหรับผลการตรวจเป็นรายบุคคล จะจัดส่งให้ในวันที่ 3 พ.ค. การตรวจของ กกต.และเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ใกล้ชิดกับ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ที่ติดเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการรักษา ซึ่งมีการตรวจหาเชื้อรอบแรกเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา และพบว่าผลเป็นลบ การตรวจในรอบที่สอง ครบ 7 วัน เพื่อความมั่นใจว่าไม่มีผู้ใดติดเชื้อ
    นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม. โดยสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการตรวจเชิงรุกและนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ hospitel ดำเนินการดูแลรักษาผู้ป่วยที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.63-2 พ.ค.64 มีผู้ป่วยติดเชื้อ 3,462 ราย รักษาหายกลับบ้าน 2,072 ราย ย้ายไปโรงพยาบาลนอกสังกัด  21 ราย และเสียชีวิต 10 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,359 ราย กทม. ได้ยกระดับการนำส่งผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาล โดยศูนย์เอราวัณ 1669 ได้ร่วมกับเครือข่ายร่วมดำเนินการ ทำให้รับ-ส่งผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น และไม่มีผู้ป่วยตกค้างในแต่ละวัน
    พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า เนื่องจากยังมีการตรวจพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีเตียงเตรียมไว้รองรับผู้ป่วยติดเชื้ออย่างเพียงพอ กทม.จึงได้ขยายโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม เพื่อเป็นหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ รองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย หรือพักดูอาการหลังรับการรักษาในโรงพยาบาลหลักแล้วอาการดีขึ้น ขณะนี้กำลังเตรียมการเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 5 ณ ศูนย์กีฬาบางบอน เขตทุ่งครุ ซึ่งจะสามารถรองรับได้อีก 400 เตียง จากเดิมมี  1,700 เตียง พร้อมทั้งประสานผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในการเปิดเป็น Hospitel เพิ่มเติม จากปัจจุบันมีอยู่ 5 แห่ง รองรับได้ 584 เตียง โดยผู้ประกอบการโรงแรมที่มีความพร้อม สามารถประสานกับสำนักการแพทย์ กทม. หรือสำนักงานเขตพื้นที่
    ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จัดตั้งศูนย์สืบสวนและต่อต้านข่าวสารอันเป็นเท็จในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อสนับสนุนภารกิจในการสืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ในการพิจารณาดำเนินคดีพิเศษหรือคดีอาญาอื่นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ โดยแต่งตั้งให้ พ.ต.ท.สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ, พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ  
    ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึงการหายเงียบไปหลังเกิดการติดเชื้อในกลุ่มที่พบปะกันในร้านอาหาร จ.สุโขทัย และไม่สามารถติดต่อ หรือมีความเคลื่อนไหวใดๆ และเกิดกระแสข่าวลือเรื่องความชัดเจนว่าป่วยโควิด-19 หรือไม่ โดยยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาเงียบหายไปเพราะกักตัว และปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้ครบกำหนด 14 วัน และเตรียมจะเข้าทำงานในกระทรวงยุติธรรม ในวันที่ 3 พ.ค.นี้ หากทุกอย่างมีความพร้อม เพราะข้าราชการผู้ร่วมปฏิบัติงานก็เข้าสู่มาตรการ WFH เนื่องจากขณะนี้มีหลายภารกิจที่ต้องดำเนินการสานต่อ หลังจากช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เข้าทำงานภายในกระทรวงยุติธรรม แต่ทั้งนี้ต้องขอเวลาพิจารณาก่อนว่าจะสามารถเข้าทำงานที่กระทรวงยุติธรรมวันที่ 3 พ.ค.นี้ได้เลยหรือไม่ ขณะนี้กำลังติดต่อประสานงานกับทีมคณะทำงาน เพราะเป็นช่วงที่ให้ทำงานที่บ้าน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"