“ศึกใน-ศึกนอก” รุมเร้ารัฐบาล เสียงโอดของประชาชนเริ่มดังขึ้น


เพิ่มเพื่อน    

 

         วิกฤตการณ์โรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นยังมีทีท่าว่าจะไม่จบลงไปง่ายๆ แต่เมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้นมาแล้ว ก็เป็นห้วงเวลาที่ท้าทายฝีมือการแก้ไขของผู้นำประเทศและรัฐบาล ว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ที่หนักหน่วงนั้นให้เบาลงได้อย่างไร

                ยิ่งประเทศไทยซึ่งมีประชากรที่ยากไร้ ด้อยโอกาส จำนวนไม่น้อย การเกิดโรคร้ายแพร่ระบาดในยามที่เศรษฐกิจตกสะเก็ด ก็ได้สร้างความเดือดร้อนให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมากขึ้นเป็นสองเด้ง มีหลายชีวิตรอความช่วยเหลือของรัฐในการเยียวยา ลดปัญหาที่เกิดขึ้นให้บรรเทาเบาบางลงไปบ้าง

                บรรยากาศดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ทั่วโลกต่างก็เจอกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวมากบ้าง น้อยบ้างตามเหตุปัจจัย แต่ การบริหารจัดการ ของรัฐภายใต้สถานการณ์วิกฤติ ภาวะผู้นำเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าความร่วมมือของคนในประเทศในการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ

                ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิดระลอกแรก รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่มี แบล็กอัพ เป็นทีมอาจารย์หมอ ฝ่าพายุลูกแรกมาได้อย่างสวยงาม แต่ต้องแลกมาด้วย “ความเจ็บ” จากการใช้มาตรการล็อกพื้นที่  กลายเป็นดาบสองคม เมื่อการล็อกดาวน์นำมาซึ่งปัญหาปากท้องของชาวบ้าน

                ครั้นจะนำมาใช้อีกครั้งในวิกฤตการณ์ระลอก 3 ที่เป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงในการระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ก็หวั่นเกรงว่าจะกระทบต่อ “ปากท้อง” ของคนในประเทศ จึงเลือกมาตรการแบบ ลักปิดลักเปิด ด้วยการใช้แนวทางที่ว่า “ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อนในการใช้ชีวิต” เป็นที่ตั้ง

                มองอีกมุมหนึ่งก็น่าเห็นใจ “รัฐบาล” เพราะแต่ละมาตรการก็ต้องนำไปใช้ก่อนมีการประเมิน เพื่อให้เกิดความสมดุลทุกด้าน แต่บังเอิญว่าแนวทางที่เลือกให้น้ำหนักที่ผิดไป ทำให้ “ชีวิตคน” กลายเป็นเดิมพันในมาตรการนั้นๆ จนทำให้สถิติของผู้ที่เสียชีวิต กลายเป็นคำถามที่พุ่งตรงกลับมาที่รัฐบาลว่า การบริหารจัดการดังกล่าวมาถูกทาง สมดุล แล้วหรือไม่ และหากไม่เป็นไปตามที่ประเมิน เหตุใดจึงไม่รีบปรับมาตรการโดยเร็ว

                ฉายภาพไปสู่กลไกการแก้ไขของรัฐบาล ที่ถูกมองว่า มีความขัดแย้ง อยู่ลึกๆ เนื่องจากองค์ประกอบในการประเมิน และวางมาตรการนั้น “มองภาพสถานการณ์” คนละมุม 

                และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ความรับผิดชอบในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายคือ คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีในฐานะของผู้นำประเทศ ที่ต้องแก้ปมปัญหาให้ทุกอย่างไหลลื่น และทันต่อสถานการณ์ที่มี “ตัวเลขของผู้ป่วย” เป็นตัวแปร

                จริงอยู่ว่าแม้นายกฯ จะริบอำนาจตาม กม. 31 ฉบับ ในการเข้าไปสั่งการแก้ไขปัญหาโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างในการบริหารงาน แต่ในที่สุดก็ต้องลดโทนด้วยการชี้แจงต่อสาธารณชนว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ได้เป็นการรวบอำนาจ รัฐมนตรียังสามารถสั่งการตามปกติ นายกฯ เพียงแต่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมาย เข้าไปร่วมประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆ เท่านั้น

                หรือแม้กระทั่งการที่มีข่าวนายกฯ สะกิดเตือนรัฐมนตรีขี้นินทา โดยขู่ว่าจะริบโควตามาเป็นของตนเอง เปิดหน้า “ศัตรูในมิตร” ที่ทางการเมืองถือได้ว่าเป็น สนิมเนื้อใน ที่มักทำให้เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน และต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม แต่ก็ต้องยกเลิกคำสั่งแบ่งพื้นที่ให้รัฐมนตรีดูแลในที่สุด

                หยุดการรุกไล่ของกลุ่มการเมืองที่กำลังวางฐานให้เพื่อสยบ คลื่นใต้น้ำ ที่กำลังก่อตัว เหลือแค่ควันหลงของ “ลูกหาบ-ลิ่วล้อ” ซึ่งกำลังสะสมไพร่พลของตนเอง ตั้งตัวเป็นแม่ทัพ

                “ยุทธวิธี” ขู่และปลอบ เพื่อสยบปัญหาภายในจากปัญหาความไม่เบ็ดเสร็จในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ยังเป็นแค่การทดลอง เพื่อดูผลลัพธ์ที่ออกมาว่าจะเป็นการช่วยลดอุณหภูมิภายใน หรือแค่ยื้อเวลาออกไปเพื่อไม่ให้สถานการณ์ความตึงเครียดภายในพรรคร่วมรัฐบาลเกิดแรงระเบิด

                ยังไม่นับสถานการณ์ภายนอก ที่โยงเข้ามาสู่การเมืองภายใน อันมีความสลับซับซ้อน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาค

                ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของกลุ่มราษฎรที่ยังอ่อนแรง จากการที่แกนนำถูกคุมขังดำเนินคดี ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันที่ยังไม่สามารถทำให้ยุติลงไปได้ สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ท่ามกลางการเฝ้าดูของมหาอำนาจ โดยมีความพยายามในการลากไทยเข้าไปในวงของปัญหา ด้วยการเปิดศึกที่ริมชายแดนอย่างดุเดือด พร้อมความพยายามลากให้กองทัพออกโรง

                ปรากฏการณ์ 3 เส้าที่ส่งผลให้ “รัฐบาล” ต้องวางท่าทีในการแสดงออกอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้บานปลาย กลายเป็นศึกอีกด้านถาโถมเข้ามารวมกับปัญหาเรื่องโควิด-19  จนอาจกลายเป็น น้ำผึ้งหยดเดียว จนรัฐบาลไม่สามารถคุมได้

                เหนืออื่นใด การแก้ไขปัญหาที่ยังขาดๆ เกินๆ นั้นเป็นเรื่องปกติในสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการระบาดในระลอกที่ 3 ก็ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่คุมยาก แต่ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในสังคม คือการที่รัฐบาลขาดความเด็ดขาดในการหาผู้รับผิดชอบต่อความบกพร่องในเหตุการณ์ระบาดของโควิดที่เกิดขึ้นทั้ง 3 ครั้ง โดยประชาชนต้องรับผลจากความผิดพลาดเหล่านั้นไปเต็มๆ 

                แม้จะถูกมองว่าการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวเป็น “อาการพาล” เพราะโรคระบาด ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่คำถามที่ผ่านมาที่ทิ่มแทงรัฐบาลก็คือ พวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่ต้นตอของการแพร่ระบาด หากแต่เป็นคนในเครือข่ายของผู้มีอำนาจ บารมี เป็นจุดกำเนิดที่ทำให้เกิดสภาพการณ์เช่นนี้ใช่หรือไม่

                ความเด็ดขาด และการกระชับอำนาจในการบริหารจัดการปัญหาการแพร่ระบาด ภายใต้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ อาจช่วยทำให้กลไกต่างลื่นไหลขึ้น แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับ “ขยะใต้พรม” ที่สร้างปัญหาให้กับส่วนรวมได้สักครั้ง มิพักจะต้องเอ่ยอ้างคำว่า “เหลื่อมล้ำ” ให้ระคายหูผู้มีอำนาจ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น  จนยากที่จะออกมาปฏิเสธ

                การออกโรงของลูกพรรคที่บริหารกระทรวงสาธารณสุข วิจารณ์โครงสร้างการบริหารงานแบบทหาร ภายใต้รูปแบบ ศบค. ที่มองว่าเป็น Single command เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และถูกศอกกลับด้วยการกระชับอำนาจมาไว้ที่นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญในการรับรู้ของประชาชนที่กำลังเดือดร้อน

                เพราะสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการรับรู้คือ มาตรการที่วางไว้ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีนจะทำได้เร็วกว่ากำหนดหรือไม่ ผลกระทบหรือการเยียวยาหากวัคซีนส่งผลต่อชีวิต มาตรการอื่นๆ  ในการช่วยลดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในช่วงโควิด ที่ปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่นให้เกิดความเหมาะสม  

                เลยไปถึงการวางแผนด้านอื่นๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ข้างหน้า เพราะในห้วงระยะเวลา 3-4 เดือนต่อจากนี้ ยังไม่มีใครรับประกันได้ว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ จะเจาะเข้าสู่ประเทศไทยได้อีกหรือไม่ เพราะมาตรการที่วางไว้อาจมีรูรั่ว การ์ดตก จนต้องกลับไปเสี่ยงอีกครั้ง รัฐมีแผนรับมืออย่างไร

                ถึงวันนั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ไม่ใช่แค่จากขั้วการเมือง หรือกลุ่มต้านรัฐบาลเท่านั้น แต่จะเริ่มมาจากกลุ่มที่เคยหนุนรัฐบาล ซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถ้วนหน้า.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"