การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย


เพิ่มเพื่อน    

 

ภาพชาวอาร์เมเนียนอนตายเกลื่อนข้างถนน จากหนังสือของ “เฮนรี มอร์เกนเทา” เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำจักรวรรดิออตโตมัน ตีพิมพ์ ค.ศ.1918

 

 

                เมื่อตอนที่ “บารัค โอบามา” หาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาเคยกล่าวไว้ว่า “...มีความรู้สึกร่วมกับอาร์เมเนีย-อเมริกัน ผู้ซึ่งเป็นลูกหลานของคนที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และ “...พันธสัญญาหลักที่จะจดจำรำลึกและทำให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หมดสิ้นไป”

                แต่พอได้เป็นประธานาธิบดี 2 สมัย 8 ปี โอบามาก็ไม่เคยใช้คำว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เมื่อวันรำลึกเหตุการณ์ในทุกปลายเดือนเมษายนมาถึง เพราะกลัวจะทำให้รัฐบาลตุรกีไม่พอใจ (เช่นเดียวกับประธานาธิบดีคนก่อนๆ) ยิ่งในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นพันธมิตรสำคัญในการทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายไอซิส

                ในสมัยของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ชาวอาร์เมเนียยิ่งหมดหวัง รัฐบาลทรัมป์ได้ร้องขอให้วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันสกัดมติรับรองการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้หลายหน ทว่าในปี 2019 ทั้งสภาล่างและสภาสูงได้โหวตผ่านให้การสังหารหมู่ชาวอาร์เมเนียระหว่าง ค.ศ.1915-1923 เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

                ช่วงหาเสียงเลือกประธานาธิบดีเมื่อปลายปีที่แล้ว “โจ ไบเดน” ได้ให้สัญญาว่าหากเขาได้รับเลือกจะสนับสนุนการรับรองดังกล่าวนี้ และเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ในโอกาสครบรอบ 106 ปีโศกนาฏกรรมของชาวอาร์มีเนีย ประธานาธิบดีคนใหม่ใกล้ครบ 100 วัน ได้มีแถลงการณ์ “วันนี้ในทุกๆ ปี เรารำลึกถึงชีวิตที่สูญเสียในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียในยุคออตโตมัน และสัญญากับตัวเองว่าจะป้องกันความโหดร้ายแบบนั้นไม่ให้อุบัติขึ้นอีก…”

                ประวัติความขัดแย้ง

                มีหลักฐานยืนยันการตั้งถิ่นฐานของชาวอาร์เมเนียในคาบสมุทรอนาโตเลียตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ราชอาณาจักรอาร์เมเนียรับเอาคริสต์ศาสนามาเป็นศาสนาประจำชาติในคริสต์ศตวรรษที่ 4 แต่แล้วการมาถึงของชาวเติร์กในคริสต์ศตวรรษที่ 11 (เชื่อว่าชาวเผ่าเติร์กมีต้นกำเนิดจากทางเหนือของจีน) ทำให้อาร์เมเนียสิ้นชาติ กลายเป็นประชากรส่วนหนึ่งของออตโตมันเติร์กในเวลาต่อมา

                จักรวรรดิไบแซนไทน์ (หรือโรมันตะวันออก) ล่มสลายลงใน ค.ศ.1453 จักรวรรดิออตโตมันเรืองอำนาจยาวนาน 400 กว่าปี ยึดครองดินแดนได้กว้างขวาง 3 ทวีป ตอนขึ้นสู่จุดสูงสุดได้แผ่ขยายอิทธิพลไปจนสุดคาบสมุทรบอลข่านและชายฝั่งทะเลเอเดรียติก ฮังการียังไม่รอด เช่นเดียวกับทุกชาติรอบทะเลดำ ทางทวีปแอฟริกาก็กินพื้นที่ตอนเหนือไล่จากอียิปต์ไปถึงแอลจีเรีย ทางทิศตะวันออกไปสุดที่ทะเลแคสเปียน ได้อิรัก ซีเรีย และบางส่วนของคาบสมุทรอาหรับไปด้วย


ทหารสำรวจโครงกระดูกของชาวอาร์เมเนียในหมู่บ้านแห่งหนึ่งเมื่อ ค.ศ.1915 (ภาพจากพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย กรุงเยเรวาน ประเทศอาร์เมเนีย)

 

                ชาวอาร์เมเนียตั้งถิ่นฐานแทรกอยู่ในหมู่ชาวเติร์กและชาวเคิร์ด ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ.1914 มีชาวอาร์มีเนียนประมาณ 2.5 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่บนที่ราบสูงอาร์เมเนียในอนาโตเลียตะวันออก และยังกระจายอยู่ทางตอนกลางและตะวันตกของคาบสมุทรด้วย ชาวอาร์มีเนียนราว 2 แสนอยู่ในชุมชนเมือง โดยเฉพาะคอนสแตนติโนเปิล (อิสตันบูลในปัจจุบัน) นอกจากในฝั่งจักรวรรดิออตโตมันแล้วก็ยังอยู่ในจักรวรรดิรัสเซียทางทิศเหนืออีกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองไหนหรือภูมิภาคใด ชาวอาร์มีเนียนไม่ได้เป็นประชากรหลักของพื้นที่นั้นๆ เลย

                ออตโตมันเติร์กออกกฎหมายเก็บภาษีพิเศษกับชาวอาร์เมเนียเพื่อสิทธิ์ในการประกอบพิธีทางศาสนา ในส่วนที่อาศัยร่วมกับชาวเคิร์ดก็ถูกเอารัดเอาเปรียบหลายอย่าง โดยเฉพาะเมื่อมีปัญหากระทบกระทั่งก็มักไม่ได้รับความเท่าเทียมจากกระบวนการยุติธรรม ที่ดินถูกแย่งไปโดยชาวเคิร์ด รวมถึงชาวเซอร์คัสเซียนที่อพยพมาจากการสู้รบกับรัสเซีย และยังต้องจ่ายภาษี 2 ต่อ ให้กับทั้งเจ้าของที่ดินชาวเคิร์ดและรัฐบาลออตโตมัน

                ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวอาร์เมเนียส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนาที่ค่อนข้างยากจน แต่ก็มีบางส่วนที่เป็นช่างฝีมือ พ่อค้า นายธนาคาร มีฐานะร่ำรวยในเขตเมืองใหญ่ บางคนเป็นข้าราชการระดับสูง พวกเขาถูกมองว่าเป็นคนตระหนี่ โลภมาก และไม่น่าไว้ใจ ชาวเติร์กเชื่อว่าสักวันพวกเขาจะเรียกร้องเอกราช

                ก่อนรุ่งสางล้างเผ่าพันธุ์

                “สงครามรัสเซีย-ตุรกี ค.ศ.1877-1878” จบลงด้วยชัยชนะของรัสเซีย ออตโตมันเสียไซปรัส บอลข่าน และบางส่วนของเอเชียน้อย ในการประชุมใหญ่เบอร์ลิน ค.ศ.1878 รัฐบาลออตโตมันตกลงจะปฏิรูปและรับประกันความปลอดภัยแก่ชาวอาร์เมเนีย แต่สุดท้ายไม่เกิดขึ้นจริง แถมยังแย่ลงไปกว่าเดิมเมื่อ “อับดุลฮามิดที่ 2” สุลต่านออตโตมันตั้งกองทหารชาวเคิร์ด อนุญาตให้พวกเขาลงมือกับชาวอาร์เมเนียได้โดยไม่มีความผิด ระหว่างปี 1895- 1896 มีชาวอาร์เมเนียถูกฆ่าไปประมาณ 1 แสนคน อีกจำนวนมากถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา ที่ไม่ยอมก็ต้องอพยพหลบหนี

                ระหว่างนี้มีกลุ่มรักชาติอาร์เมเนียเกิดขึ้น ได้จัดตั้งพรรคปฏิวัติขึ้น 2 พรรค ได้แก่ “พรรคระฆัง” และ “พรรคสหพันธรัฐ” (ในปี 1887 และ 1890 ตามลำดับ) มีเป้าหมายให้อาร์เมเนียเป็นรัฐอิสระ แต่ทั้ง 2 พรรคไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาวอาร์เมเนียมากนัก โดยเฉพาะทางอนาโตเลียตะวันออก พวกเขาเชื่อและหวังว่าชาติคริสเตียนจากยุโรปจะมีน้ำใจกดดันออตโตมันให้มอบความเมตตาแก่พวกเขา แต่การเคลื่อนไหวของฝ่ายอาร์เมเนียกู้ชาติก็สุมไฟแค้นแก่ออตโตมันเรียบร้อยแล้ว

                ค.ศ.1894 กองทัพออตโตมันและชาวเคิร์ดบุกฆ่าชาวอาร์เมเนียในเขตซาซุนไปหลายพันคน เพราะปฏิเสธจ่ายภาษีพิเศษ ตามมาด้วยการสังหารหมู่อีกชุดใหญ่ในฤดูใบไม้ร่วงปีถัดมา เหตุเพราะมีชาวอาร์เมเนียเดินขบวนประท้วงในคอนสแตนติโนเปิล ทำให้ระหว่างปี ค.ศ.1894-1896 มีชาวอาร์เมเนียตายไปมากกว่า 1 แสนคน เรียกกันว่า “การสังหารหมู่ฮามิเดียน” มาจากชื่อองค์สุลต่าน “อับดุลฮามิดที่ 2”

                กลุ่มเคลื่อนไหว “ยังเติร์ก” มีอุดมการณ์สร้างชาติที่ต่างไปจากสุลต่านอับดุลฮามิด หมุดหมายอยู่ที่การรวมกลุ่มชนชาติเติร์กเป็นประเทศ เพิ่มมุสลิม ลดคริสเตียน ขณะที่จักรวรรดิออตโตมันนั้นเป็นการรวมกันของคนหลากหลายเชื้อชาติและแผ่ขยายศาสนาอิสลาม

                “คณะกรรมการสหภาพและความก้าวหน้า” (Committee of Union and Progress : CUP) ซึ่งเป็นองค์กรของยังเติร์กถูกตั้งขึ้นในปี 1889 พรรคสหพันธรัฐของอาร์เมเนียเข้าเป็นพันธมิตรด้วยในปี 1907 และในปี 1908 กลุ่มยังเติร์กก็ปฏิวัติสำเร็จ สุลต่านถูกบังคับให้นำรัฐธรรมนูญปี 1876 มาบังคับใช้และมีรัฐสภา ชาวอาร์เมเนียและทุกเชื้อชาติในจักรวรรดิต่างยินดีปรีดา แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลุ่มยังเติร์กกลับนิยมความรุนแรง ใช้กำลังทางทหารกับกลุ่มชนที่ไม่ใช่ชาวเติร์กมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งระแวงว่าชาวอาร์เมเนียจะไปร่วมมือกับพวกต่างชาติ จึงไม่มีการคืนที่ดินให้กับชาวอาร์เมเนีย

                ปี 1909 ชาวอาร์เมเนียยังถูกฆ่าไปอีกกว่า 2 หมื่นคน ในการจลาจลที่เมืองอดานาและฮัดจิน แต่กว่าพรรคสหพันธรัฐจะประกาศเลิกเป็นพันธมิตรกับ CUP ก็ปาเข้าไปถึงปี 1912 และได้ขอความช่วยเหลือจากมหาอำนาจยุโรป เดือนกุมภาพันธ์ปี 1914 CUP ยอมให้มีแผนปฏิรูปอาร์เมเนีย (1914 Armenian reforms) แต่ไม่เคยได้ปฏิบัติจริง เพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในกลางปีนั้น และผู้นำของ CUP ไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าวอยู่แล้ว เพราะกลัวการแยกประเทศของอาร์เมเนียจะทำได้สำเร็จ จึงนำไปสู่การกำจัดชนิดขุดรากถอนโคนในปีต่อมา นอกจากนี้ความอับอายที่พ่ายแพ้ในสงครามบอลข่าน ครั้งที่ 1 (ปี 1912-1913) ต่อชาติคริสเตียนทำให้สูญเสียดินแดนในบอลข่านเกือบทั้งหมด ก็เป็นเหตุผลสำคัญในการเอาคืนกับชาวอาร์เมเนีย


นักโบราณคดีขุดหัวกะโหลกชาวอาร์เมเนียขึ้นมาจากหลุมขนาดใหญ่ (ภาพจากสารคดี “Intent to Destroy” พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย)

 

                ออตโตมันเข้าร่วมสงครามโลกกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (ประกอบด้วยเยอรมนี, ออสเตรีย-ฮังการี และบัลแกเรีย) ในเดือนตุลาคม 1914 โดยการโจมตีรัสเซียอย่างไม่ทันตั้งตัวตามท่าเรือต่างๆ ในทะเลดำ ทว่า “การรบที่สมรภูมิซาริคามิช” ระหว่างเดือนธันวาคม 1914 ถึงมกราคม 1915 ที่หมายจะปิดล้อม “กองทัพรัสเซียนคอเคซัส” กลับล้มเหลวเนื่องจากการรบในหน้าหนาวของรัสเซียนั้นเยี่ยมยุทธ์กว่าใคร กองทัพออตโตมันของ “เอนเวอร์ ปาชา” แกนนำยังเติร์กคนสำคัญพ่ายยับและเสียทหารไปมากกว่า 6 หมื่นนาย

                ระหว่างถอยทัพกลับคอนสแตนติโนเปิล กองทัพออตโตมันระบายแค้นด้วยการเผาทำลายและสังหารชาวอาร์เมเนียในหมู่บ้านที่เคลื่อนทัพผ่านเป็นจำนวนมาก ทหารชาวอาร์เมเนียในกองทัพออตโตมันถูกปลดอาวุธและส่งไปใช้แรงงานในกองพันแรงงาน ซึ่งในเวลาต่อมาถูกสังหารหมดเกลี้ยง เมื่อเดินทางถึงเมืองหลวง “แม่ทัพปาชา” ประกาศกล่าวโทษชาวอาร์เมเนียในภูมิภาคใกล้รัสเซียว่าเข้าข้างศัตรูและทรยศออตโตมัน เป็นเหตุให้เขารบแพ้รัสเซีย บรรดาผู้นำ CUP ก็เห็นพ้อง

                เนรเทศสู่นรก

                วันที่ 24 เมษายน 1915 “ตาลัต ปาชา” ผู้มีอำนาจสูงสุดของออตโตมันออกคำสั่งให้จับกุมปัญญาชน ผู้นำชุมชน และนักการเมืองชาวอาร์เมเนียในคอนสแตนติโนเปิลประมาณ 250 คน (ส่วนมากถูกฆ่าตายในเวลาต่อมา) และได้สั่งปิดองค์กรทางการเมืองทั้งหมดของอาร์เมเนีย วันที่ 29 พฤษภาคม รัฐสภาออตโตมันผ่านกฎหมายให้รัฐบาลและทหารทำการเนรเทศผู้ที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ นั่นก็คือชาวอาร์เมเนีย

                ตลอดฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงปี 1915 ชาวอาร์เมเนียถูกบังคับให้เดินผ่านพื้นที่ราบและภูเขาจากอนาโตเลียตะวันออกไปยังค่ายกักกันห่างไกล ความมุ่งหมายคือไม่ให้มีชาวอาร์เมเนียในพื้นที่ใดก็ตามเกิน 5-10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในพื้นที่นั้นๆ เพื่อกันไม่ให้สืบสานส่งต่อวัฒนธรรมไปยังรุ่นหลังได้

                นอกจากจับสังหารและเนรเทศไปสู่ความตาย ประมาณ 1-2 แสนคนของชาวอาร์เมเนียเปลี่ยนศาสนาโดยการบังคับและภาวะจำยอมเพื่อมีชีวิตรอด ผู้หญิงกลายเป็นทาสรับใช้และถูกข่มขืน ชาวเติร์กบางคนแต่งงานกับผู้หญิงอาร์เมเนียเพื่อจะได้รับสิทธิ์ในทรัพย์สินของชาวอาร์เมเนีย แต่หากพื้นที่ใดประชากรอาร์เมเนียที่เปลี่ยนศาสนามีจำนวนเกิน 5 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเกินจากนั้นก็จะถูกกำจัด

                ผู้ชายอาร์เมเนียส่วนใหญ่ถูกคัดเป็นทหารไปก่อนหน้านั้นแล้ว ที่เหลือก็เป็นเด็กหรือแก่เกินไป ไม่ก็จ่ายภาษีพิเศษเพื่อไม่ต้องไปรบ การสังหารหมู่ในยุคยังเติร์กนี้ต่างไปจากยุคอับดุลฮามิดที่ฆ่ากันในหมู่บ้าน ยังเติร์กมองว่าทรัพย์สินชาวอาร์เมเนียจะถูกทำลายและปล้นสะดม ควรเก็บไว้จัดสรรแก่คนในชาติภายหลัง (ซึ่งดำเนินต่อเนื่องยาวนานจนล่วงสู่ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20) จึงจับผู้ชายแยกออกมาจากกลุ่มที่ถูกเนรเทศในช่วงไม่กี่วันแรกแล้วฆ่าเสีย ส่วนมากไม่กล้าขัดขืน เพราะกลัวครอบครัวจะเป็นอันตรายกว่าเดิม สถานที่สังหารหมู่มีทั้งข้างถนนใหญ่, ตามเขตภูมิประเทศลอนลาดขรุขระ, หน้าผา, ทะเลสาบ, แม่น้ำ และบ่อน้ำ

                ศพที่ถูกทิ้งลงแม่น้ำไทกรีส, ยูเฟรตีส และมูรัต ลอยไปถึง “เมโสโปเตเมียตอนเหนือ” ก่อนขบวนเด็กและสตรีที่ถูกเนรเทศให้เดินทางไกลและรอดชีวิตคนแรกจะมาถึงเสียอีก

                การทิ้งศพลงน้ำนี้เจ้าหน้าที่ออตโตมันมองว่าเป็นการจัดการที่ง่าย รวดเร็ว และไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างรุนแรง ศพเน่าเกยอยู่ตามริมฝั่ง แต่บางศพก็ลอยไปไกลถึงอ่าวเปอร์เซีย อย่างไรก็ตาม มลภาวะทางน้ำยังคงอยู่ยาวนานหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผ่านไปแล้ว ชาวอาหรับปลายน้ำได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาด

                เด็กและผู้หญิงที่ต้องเดินเท้าไปสู่ทะเลทรายในซีเรียและในเมโสโปเตเมียตอนเหนือ (อิรัก) ไม่ได้รับน้ำและอาหาร มีเพียงสิ่งที่พวกเขาพกติดตัวไปเองเท่านั้น และช่วงเวลาดังกล่าวคือฤดูร้อน พวกเขาต้องเดินถึงประมาณ 1,000 กิโลเมตร จึงขาดอาหารตาย อ่อนแรงจนตาย และป่วยตายเป็นจำนวนมากก่อนถึงที่หมาย เมื่อถึงค่ายกลางทะเลทรายที่มีอยู่ 25  แห่ง ก็จะมีการย้ายไปมาระหว่างค่ายเพื่อให้ตายลงไปอีกตามเป้า การข่มขืนและปล้นทรัพย์เกิดขึ้นควบคู่กัน

                และในช่วงที่อาหารจะหมดลง ผู้หญิงจะให้ลูกชายกินก่อนลูกสาว เมื่อไม่มีลูกสาวเหลือ แม่ก็จะยอมอดตายเพื่อให้ลูกชายอย่างน้อย 1 คนได้รอดชีวิตไปสืบทอดสายเลือด ต่อมาเด็กเหล่านี้ที่รอดตายถูกขายเป็นลูกบุญธรรมของผู้มีบุตรยากในหมู่ชาวอาหรับ แขกมัวร์ที่เป็นนักแสวงบุญ และชาวยิว แต่ไม่น้อยถูกซื้อไปเป็นแรงงานทาส และเครื่องบำเรอกาม เงินที่ขายได้ถือเป็นค่าแรงของทหารที่คุมขบวนเนรเทศ

                แม้ว่าประสบกับชะตากรรมที่แสนโหดร้ายทารุณเพียงใด ช่วงต้นปี 1916 ชาวอาร์เมเนียก็ยังรอดตายอยู่ถึงประมาณ 5 แสนคน “ตาลัต ปาชา” จึงเปิดไฟเขียวให้กับการสังหารหมู่ระลอกที่ 2 ระหว่างเดือนมีนาคม-ตุลาคม 1916 ชาวอาร์เมเนียถูกฆ่าไปอีกราว 2 แสนคน การสังหารโดยการสนับสนุนของรัฐอาจหยุดลงในต้นปี 1917 แต่ก็ยังมีการฆ่าตามมาอีกในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงตายจากความหิวโหย ประจักษ์พยานที่พบเจอศพชาวอาร์เมเนียมีอยู่ไม่น้อย อาทิ หมอสอนศาสนา, นักการทูต และผู้สื่อข่าวที่ถ่ายภาพไว้มากมาย

                การกระทำและการยอมรับ

                ออตโตมันปราชัยในสงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง ส่งผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาจัดระเบียบการปกครอง อาร์เมเนียได้ดินแดนเดิมส่วนหนึ่งในอนาโตเลียตะวันออก จัดตั้งเป็น “สาธารณรัฐอาร์เมเนียที่ 1” กองกำลังอาร์เมเนียได้จังหวะล้างแค้น ฆ่าชาวเติร์กไปราว 4-6 หมื่นคน ต่อมาตุรกีลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราช เริ่มในปี 1919 และสำเร็จได้เป็นสาธารณรัฐตุรกีเมื่อปี 1923 ในระหว่างนี้ชาวอาร์เมเนียถูกฆ่าไปอีกจำนวนมากก่อนที่จะตกเป็นของสหภาพโซเวียตในปี 1921 จึงถือว่ามีผู้ปกป้องอย่างเป็นทางการ

                การดำเนินคดีโดยศาลทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรต่อรัฐมนตรีทั้งหมด ผู้นำกองทัพ และคณะกรรมการ CUP ตัดสินออกมาว่าเป็น “การสังหารหมู่” ที่ดำเนินการโดยกลุ่มผู้นำของ CUP (สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” คำนี้เกิดขึ้นในปี 1944) จำเลย 18 คนถูกพิพากษาประหารชีวิต แต่การประหารเกิดขึ้นกับ 3 คนเท่านั้น เพราะที่เหลือหนีไปก่อนแล้ว ด้าน “ตาลัต ปาชา” ถูกลอบสังหารในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 1921 จาก “ปฏิบัติการเทวทัณฑ์” กลุ่มลับของพรรคสหพันธรัฐอาร์เมเนีย

                จำนวนผู้เสียชีวิตของชาวอาร์เมเนียทั้งหมดประมาณกันว่ามีไม่น้อยกว่า 8 แสนคน “ตาลัต ปาชา” ก็เคยให้ตัวเลขไว้ที่ 924,158 คน นักประวัติศาสตร์ให้บวกอีก 30 เปอร์เซ็นต์ จึงตกอยู่ที่ราว 1.2 ล้านคน ขณะที่ชาวอาร์เมเนียเองประมาณว่าพี่น้องของพวกเขาตายไปถึงประมาณ 1.5 ล้านคน

                พลันที่ “โจ ไบเดน” ประกาศรับรองว่าเหตุการณ์เมื่อ 1 ศตวรรษก่อนเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ “เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน” ประธานาธิบดีตุรกีสวนกลับไปว่า “ไร้หลักฐาน” และ “เป็นการรับรองที่ไม่ยุติธรรม” รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีเรียกทูตสหรัฐเข้าพบเพื่อประท้วงและประณาม นอกจากนี้ยังได้ทวีตว่า “คำพูดไม่สามารถเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ และเราไม่จำเป็นต้องศึกษาบทเรียนจากผู้อื่นสำหรับประวัติศาสตร์ของเราเอง”

                ตุรกีแสดงความไม่พอใจไม่ว่าใครก็ตามที่ใช้คำว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” กับเหตุการณ์ที่เกิดกับชาวอาร์เมเนียเมื่อศตวรรษก่อน พวกเขายืนยันว่าเป็นความสูญเสียระหว่างสงคราม ซึ่งเกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย ปัจจุบันมี 32 ประเทศให้การรับรองการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย มีชาติมหาอำนาจอย่างเยอรมนี, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, อิตาลี และล่าสุดสหรัฐอเมริกา รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ชาติเป็นกลาง

            แต่ไม่มีจีนและอังกฤษ.

 

************

 

เรียบเรียงจาก :

- britannica.com/event/Armenian-Genocide/Genocide

- en.wikipedia.org/wiki/Armenian_Genocide

- edition.cnn.com/2021/04/24/politics/armenian-genocide-biden-erdogan-turkey

- aljazeera.com/news/2021/4/26/erdogan-slams-bidens-armenian-genocide-recognition

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"