ฟื้น ศก.แบบ Strong กู้เพิ่ม 2.4 ล้านล้าน


เพิ่มเพื่อน    

 ม้าฤดูหนาว-ศก.ไทยยุคสู้โควิด กู้ 2 ล้านล้านเพื่อสร้างอนาคต

การรับมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิดรอบ 3 ในปัจจุบัน ทุกฝ่ายยังต้องร่วมมือกันต่อไป โดยฝ่ายรัฐบาล-กระทรวงสาธารณสุขก็พยายามหามาตรการต่างๆ มารับมืออย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่ลำพังแค่โควิดรอบแรกกับรอบสองหลายภาคส่วนก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ พอมาเจอโควิดรอบสามเลยทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรง จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมาอีกหลายระลอก

มุมมองและข้อเสนอจากนักวิชาการที่ติดตาม ศึกษาทำวิจัยเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำจากวิกฤติโควิดมาตั้งแต่รอบแรกจนถึงรอบสามอย่าง ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจ โดยเฉพาะข้อเสนอที่ว่ารัฐบาลควรกู้เงินเพิ่มเติมประมาณ 2 ล้านล้านบาท หรือเต็มที่ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท เพื่อมารับมือกับโควิดโดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ  และเพื่อนำมาใช้ทำโครงการเพื่อรองรับการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจระยะยาว เช่น การขุดคลองไทยที่ใช้งบหนึ่งล้านล้านบาท เป็นต้น

            ....ก่อนเกิดโควิดรอบสาม เศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ที่  3-3.5 เปอร์เซ็นต์ แต่พอเกิดรอบสามคงทำให้เศรษฐกิจโตไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์แล้ว เผลอๆ อาจสักประมาณ 2.5  เปอร์เซ็นต์ แต่ตรงนี้ขึ้นอยู่ที่ว่าภาครัฐจะอัดฉีดเงินเข้าไปมากขนาดไหน ถ้าภาครัฐอัดฉีดเยอะ ผมก็มองว่าเศรษฐกิจเราก็จะกลับมาฟื้นตัวได้อีกแบบรอบที่ผ่านมา มันจึงยังมีอะไรที่จะเติบโตได้อีกค่อนข้างเยอะ แต่การจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ผมไม่อยากให้แค่เยียวยาอย่างเดียว แต่อย่างน้อยก่อนสิ้นปีหรือภายในงบประมาณรายจ่ายปีหน้า เราควรพูดถึงภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย เพราะว่ามันมีสุภาษิตจีนอยู่ที่ว่าด้วยเรื่อง ม้าฤดูหนาว คือประเทศจีน เคยมีช่วงภัยพิบัติที่เกิดหิมะตกอย่างหนัก ทำให้ม้าวิ่งหนีไปหมด คนที่เลี้ยงม้าไม่มีม้า จนทำให้ไม่สามารถทำการค้าอะไรได้ สิ่งที่เขาสอนกันก็คือ สิ่งที่ควรต้องทำไม่ใช่การไปวิ่งตามหาม้า แต่ให้เร่งปลูกหญ้าเอาไว้ เพราะเมื่อใดที่เศรษฐกิจกลับมาดี ม้าทั้งหลายก็จะวิ่งกลับมากินหญ้าสวย ๆ ของคุณเอง

...ก็เช่นเดียวกัน การที่ประเทศไทยจะเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเตรียมขุดคลองคอคอดกระ, การเตรียมเรื่องดิจิทัล, การทำเรื่องอีอีซีให้พร้อม แล้วพอจบจากโควิด คนฉีดวัคซีนกันครบ เราเริ่มกลับมาเปิดประเทศ นักลงทุนเมื่อเขาเห็นหญ้าที่สวยงาม เขาก็จะวิ่งกลับมาลงทุนในประเทศไทย อันนี้คือสิ่งที่เราต้องรีบทำ

            ก่อนจะลงรายละเอียดมากขึ้นถึงข้อเสนอการกู้เงินอย่างน้อย 2 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ดร.นณริฏ-นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการวิเคราะห์ผลกระทบจากโควิดให้เข้าใจก่อนว่า เวลาพิจารณาผลกระทบเศรษฐกิจจะดูจากปัจจัยที่สำคัญประมาณ 2-3 ปัจจัย ประกอบด้วยมีจำนวนผู้ติดเชื้อแต่ละรอบเยอะขนาดไหน เพราะเมื่อมีการติดเชื้อคนที่ติดเชื้อก็ต้องกักตัวเอง ต้องไปรักษาโควิด ก็ทำให้แรงงานทางเศรษฐกิจก็จะหายไป อย่างประเทศที่ติดโควิดกันจำนวนมาก เช่น อินเดีย, สหรัฐอเมริกา, บราซิล ก็ลำบากเพราะคนหายไปเป็นล้านๆ คน ที่ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างการทำงาน แต่สำหรับประเทศไทยไม่เยอะมาก โดยโควิดรอบแรก ตอนนั้นคนกลัวกันเยอะ แต่ท้ายสุดผลออกมาคนติดเชื้อไม่มาก ต่อมาโควิดรอบสองที่มาจากแรงงานต่างด้าว ผลกระทบก็จะไปอยู่ที่แรงงานต่างด้าวเป็นหลัก อันแตกต่างจากรอบแรกที่ส่วนใหญ่คนติดเชื้อเป็นคนไทย แต่รอบสอง ตัวเลขการติดเชื้อจะสูงกว่ารอบแรก และส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

            ปัจจัยที่สองคือเรื่องของ Health promotion  เช่นการบังคับให้คนใส่หน้ากาก การบังคับให้คนทำ  Social distancing การตรวจหาเชื้อกับคนให้ได้จำนวนมาก แล้วแยกคนติดเชื้อออกมาจากคนไม่ติดเชื้อ  ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยทำได้ดีในรอบแรกและรอบสอง แต่เริ่มมาหย่อนตอนรอบสาม ที่อาจเพราะเราเริ่มเหนื่อยกันจนการแพร่ระบาดกระจายมาก

            ปัจจัยที่สามคือ การที่ภาครัฐทำเรื่องของ มาตรการควบคุมการระบาด เช่น การสั่งปิดบางสถานที่ ปิดร้านอาหาร ปิดสถานบริการ การเคอร์ฟิว ที่คุมการระบาดได้แต่กระทบกับเศรษฐกิจเยอะ

            ...ผมได้ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากช่วงโควิด  โดยนำข้อมูลระหว่างประเทศมาเทียบกัน เช่น ขนาดของการระบาด การใช้มาตรการ Health promotion และมาตรการในการควบคุมการระบาด เราก็พบว่ายังมีปัจจัยที่ 4 อีก ที่เป็นปัจจัยที่สำคัญสุดในการกำหนดว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ ก็คือเรื่องของ นโยบายภาครัฐในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่เป็นปัจจัยสำคัญสุด  คือจะล็อกดาวน์ยังไงก็ได้ แต่หากมีการเยียวยาที่ดี เศรษฐกิจก็ไม่พัง

อย่างรอบแรกเรามีการล็อกดาวน์รุนแรงมาก แต่รัฐบาลก็อัดฉีดเงินช่วยเหลือมหาศาลเลย ผ่านการออกพระราชกำหนดกู้เงินและ พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้อง รวมวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท โดยเป็นมาตรการทางด้านการคลัง 1 ล้านล้านบาท ที่ใน 1 ล้านล้านบาทก็แบ่งออกเป็น งบ 555,000  ล้านบาท ใช้สำหรับเยียวยา เช่น โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราชนะ และอีก 450,000 ล้านบาท เป็นงบในด้านการซื้อวัคซีนและพัฒนาระบบสาธารณสุข และอีก 400,000 ล้านบาทที่ดูเรื่องของงบฟื้นฟู เช่น โครงการโคก หนอง นา เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ตรงนี้แม้จะใช้งบไม่หมด แต่ก็ใช้เยอะมากร่วมๆ 750,000 ล้านบาทในส่วนการคลัง  ส่วนการเงินก็ใช้ไปอีกร่วม 900,000 ล้านบาท ซึ่งตรง 9 แสนล้านบาท มีตัวงบ 5 แสนล้านบาทที่เป็นเรื่องซอฟต์โลน คือปล่อยกู้ให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อให้มีสภาพคล่อง แต่พบว่าปล่อยได้ไม่เยอะประมาณ 150,000 ล้านบาท แล้วก็มีตัวที่เป็นเรื่องของ BSF ที่เกี่ยวกับหุ้นกู้ เพื่อช่วยไม่ให้ตลาดหุ้นกู้มันพัง แต่พบว่าตัวหุ้นกู้รายใหญ่ๆ ไม่ได้เข้ามาใช้ช่องทางนี้ แสดงว่ากิจการค่อนข้างโอเคดีอยู่

จากนั้นพอรอบที่สอง รัฐบาลก็ออกมาตรการ เช่น  เที่ยวด้วยกัน, คนละครึ่งออกมาอีก ทำให้ท้ายที่สุดที่คาดการณ์กันว่าสิ้นปีที่แล้ว เศรษฐกิจเราจะตกโดยติดลบถึง  7-8 เปอร์เซ็นต์ แต่ผลออกมาพบว่าติดลบแค่  6 เปอร์เซ็นต์  

            ทั้งหมดคือปัจจัย 4 เรื่องในช่วงโควิดรอบแรกและรอบสอง ที่หมุนวนชนกันและต่อมาก็มีนัยต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงโควิดรอบ 3 เวลานี้ด้วย เช่น การควบคุมการระบาดทำได้ขนาดไหน, การควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำรุนแรงขนาดไหน และปัจจัยสำคัญสุดคือการอัดฉีด ที่จะทำให้เศรษฐกิจมันกลับมาเร็ว

            เมื่อเราถามถึงมาตรการที่รัฐบาลชุดนี้ออกมา เช่น โครงการต่างๆ อย่าง  เราชนะ, คนละครึ่ง ก่อนโควิดระบาดรอบสามเป็นนโยบายที่ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก ดร. นณริฏ-นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ให้ทัศนะว่า เป็นนโยบายที่ช่วยได้ค่อนข้างมาก จากตัวเลขทางเศรษฐกิจ พบว่าประมาณ 1.4-1.6 เท่าโดยประมาณ คือหากภาครัฐ ลงเงินไปหนึ่งร้อยบาท มันช่วยขยายเศรษฐกิจได้ประมาณ  140-160 บาท ที่ภาครัฐอัดฉีดเงินเข้าไปประมาณ 750,000  ล้านบาท ก็คูณเข้าไปอีก 1.4-1.6 ก็จะได้ตัวเลขประมาณการว่าคือสิ่งที่ภาครัฐได้สร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจทั้งหมด

            สิ่งที่ผมชอบก็คือ มาตรการที่ออกมาไม่ใช่แค่การอัดฉีดเงินแบบทั่วไป ที่แจกเงินไปเสร็จก็จบ แต่ภาครัฐมีการกำหนดเงื่อนไขที่ดีหลายอย่าง เช่น การกำหนดโครงการในลักษณะแบบการร่วมจ่าย หรือ Co-pay ที่ไม่ใช่ภาครัฐให้มาร้อยบาท แล้วเราเอาไปใช้หมด แต่จะเป็นการที่ภาครัฐจะให้เมื่อเราจ่ายแล้วภาครัฐร่วมด้วยบางส่วน ครึ่งหนึ่ง เป็นต้น ก็ทำให้คนนำเงินที่ออมไว้มาใช้ด้วย ก็ทำให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าปกติ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขให้ลงไปที่ฐานรากด้วย คือไม่ใช่เอาไปใช้แค่กับห้างร้าน แล้วห้างร้าน ร้านสะดวกซื้อเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ต้องนำเงินไปใช้กับร้านที่เป็นเอสเอ็มอี ที่มีแอปคนละครึ่ง-เราชนะ ก็ทำให้เงินลงไปที่ฐานราก ก็ช่วยทั้งระบบเศรษฐกิจได้

...ก่อนหน้าจะมีโควิดรอบสาม สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี หลังผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่สองของปี 2563 แต่ต่อมาในไตรมาสที่สามและที่สี่ รวมถึงในช่วงต้นปี 2564 ก่อนจะมีโควิดรอบสอง ตัวเลขต่างๆ ทางเศรษฐกิจค่อยๆ ทยอยขึ้นมาเพราะควบคุมโควิดได้ โดยมีการคาดการณ์ก่อนที่จะมีโควิดรอบสามว่า เศรษฐกิจทั้งระบบของประเทศไทยอาจจะโตถึง 3-3.5 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ  ส่วนภาครัฐเขาตั้งไว้ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ หลังสัญญาณต่างๆ มีแนวโน้มที่ดี เพราะต่างประเทศเองมีการฉีดวัคซีนที่รวดเร็ว  สหรัฐฯ มีการอัดฉีดเงินมหาศาล 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ทำให้คนมีเงินมากขึ้น เขาก็นำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น ทำให้ภาคส่งออกแนวโน้มดีขึ้น ทั้งหมดคือสัญญาณที่ดี ส่วนโควิดรอบสาม ภาพรวมเศรษฐกิจหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่อง "การอัดฉีด" ตอนนี้คำถามสำคัญก็คือ ภาครัฐจะอัดฉีดเงินอย่างไร อัดฉีดเท่าไหร่ เพื่อทำให้เศรษฐกิจมันไปต่อได้ แล้วคนก็จะเอาตัวรอดได้

ดร.นณริฏ-นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ให้ทัศนะถึงเรื่องการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิดรอบสามว่า จุดสำคัญคือภาครัฐต้องแบ่งพื้นที่ออกมาเป็นสองส่วน คือหนึ่งพื้นที่สีแดง ที่มีการแพร่ระบาดอย่างแพร่หลาย ควบคุมยาก ตรงนี้ภาครัฐไม่ควรกำหนดเงื่อนไขมาก ควรจะแจกเงินให้เปล่าแจกฟรีไปเลย เช่น แจกแบบเดิมอย่างโครงการเราชนะ คือแจกทุกคนเลย แต่เฉพาะพื้นที่สีแดง เพื่อให้เขาเอาเงินไปจับจ่ายใช้สอยได้ เพราะอย่างรัฐบาลอยากให้เขาอยู่กับบ้านมากสุด  ก็ต้องมั่นใจว่าเขาทำแล้วจะต้องมีข้าวกินมีของใช้ในบ้านที่จำเป็น แบบนี้เขาก็ยินดีจะอยู่บ้านให้มากที่สุด เพราะหากเขายังมีภาระหนี้สิน เขาต้องหารายได้ แล้วจะไปโทษเขาได้อย่างไรที่เขาต้องออกมาทำงาน เสี่ยงจะติดเชื้อและเสี่ยงจะแพร่กระจายเชื้อโควิด ก็แจกเงินให้เขาฟรีไปเลยให้ได้กันทั่วทุกคน โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบอย่างพวก กลุ่มนอกระบบ  เพราะในระบบเขามีประกันสังคมคอยช่วยเหลือได้

            ส่วนพื้นที่กลุ่มจังหวัดไหนจำนวนผู้ติดเชื้อไม่สูงมาก  แล้วใช้มาตรการเช่นสนับสนุนให้ใส่หน้ากาก ก็ไปเน้นเรื่องการเยียวยาแบบ co-pay แบบเดียวกับคนละครึ่ง หรือสนับสนุนให้มีการทำโครงการเที่ยวด้วยกันในจังหวัดนั้นโดยกลุ่มจังหวัด แบบนี้ไม่ต้องแจกเงินให้ฟรี เพราะหากเขาดูแลตัวเองได้ก็ควรให้เขาทำ เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณจนเกินไป

            ...ทั้งนี้ การออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อ หากภาครัฐลากยาวการควบคุม ก็ต้องขึ้นอยู่ด้วยว่า ภาครัฐอัดฉีดเงินช่วยเหลือเข้ามาเยอะด้วยหรือไม่ โดยหากลากยาวแล้วภาครัฐไม่อัดฉีดก็จะเกิดปัญหาอย่างรุนแรง เช่นกลุ่มเสี่ยงที่ใกล้จะตกงานก็จะเกิดผล

            ...ตอนโควิดรอบแรกภาครัฐล็อกดาวน์โดยใช้เคอร์ฟิว  สิ่งที่เราพบคือตัวเลขประมาณเกือบ 3 ล้านคนที่เป็นคนกลุ่มเสี่ยงตกงาน คนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ดังนั้น ที่เกิดโควิดรอบ 3 หากภาครัฐไม่อัดฉีดเงินช่วยเหลือ เรื่องปัญหาแรงงานก็อาจจะกลับมาแบบโควิดรอบแรกอีก คือมีคนเสี่ยงตกงานสูง คนไม่มีรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบจะได้รับผลกระทบมาก เช่นเมื่อคน work  from home ก็ทำให้คนใช้บริการแท็กซี่น้อยลง แต่หากภาครัฐอัดฉีดเงินช่วยเหลือดีๆ โดยเฉพาะในบางโซนพื้นที่เช่นจังหวัดกลุ่มสีแดง โดยช่วยเหลือสัก 1-2 เดือน ก็อัดฉีดเงินช่วยไปเลยสัก 30 ล้านคนสำหรับ แรงงานนอกระบบ โดยให้เงินแบบให้ไปเลยคนละ 3,500 บาทต่อเดือน  ก็ให้ไปเลยสักสองเดือน ทำแบบโครงการเราชนะ ก็จะใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยต้องให้เงินแล้วให้เขาต้องใช้ได้กับเฉพาะพวกธุรกิจเอสเอ็มอี ไม่ให้นำไปใช้กับห้างร้านขนาดใหญ่ หลังจากนั้นพอผ่านไปสักสองเดือนค่อยมาดูว่าหลายอย่างดีขึ้นหรือไม่ หากดีขึ้นก็ค่อยปรับไปเป็นแบบโครงการคนละครึ่ง 

ยังกู้เงินสู้โควิดเพิ่มได้อีก

ไม่ติดเพดาน กม.วินัยการเงินการคลัง

-คิดว่ารัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมอีกหรือไม่?

            การกู้เงินลำดับแรกต้องดูก่อนว่าเรามีเงินเหลือเท่าใด  โดยพบว่าใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ออกมาตอนโควิดรอบแรก ตอนนี้ยังเหลือประมาณ 250,000 ล้านบาท  อันหมายถึงหากเราใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อเดือน ก็ยังได้อีกประมาณ 2 เดือนถึง 2 เดือนครึ่ง แบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องกู้ ทุกอย่างขึ้นกับว่ามันลากยาวไปขนาดไหน  หากลากไปถึง 3-4 เดือนแบบนี้ งบที่มีอยู่อาจไม่พอ นอกจากนี้ยังมีงบฉุกเฉิน แต่ก็มีความเสี่ยงเพราะเป็นงบที่ปกติใช้กับพวกภัยแล้ง น้ำท่วม หากเราผันงบมาใช้ในการอัดฉีดเพื่อช่วยช่วงโควิด ก็ทำให้ภาครัฐอาจไม่สามารถไปดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ภัยแล้ง ภัยธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งหากใช้งบส่วนนี้ก็อาจไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม แต่ต้องดูว่าภาครัฐจะทำอย่างไร หากอนาคตเกิดเหตุการณ์อื่นๆ เกิดขึ้นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโควิด

            ตอนนี้เท่าที่อ่านพบข้อมูลที่ว่า กลุ่มนักระบาดวิทยา เขาประเมินว่าโควิดรอบสามอาจอยู่อีกประมาณ 4-6 เดือนถึงจะจบ ที่หมายถึงว่าหากต้องใช้เงิน 1 แสนล้านบาทต่อเดือน 6 เดือนก็เท่ากับ 6 แสนล้านบาท ตอนนี้เรามีประมาณ 2 แสนล้านบาท ก็ขาดอีกประมาณ 4 แสนล้านบาท

             ผมเลยเสนอว่า ถ้าแบบนี้ก็กู้เงินเพิ่มเลยโดยกะไว้ประมาณ 6 เดือน โดยหากโควิดจบภายใน 6 เดือน การเยียวยาก็คงใช้งบประมาณที่เพียงพอ เพียงแต่ต้องมาดูกันว่าการเยียวยาที่บอกใช้เดือนละ 1 แสนล้านบาท จะทำในรูปแบบอย่างไร เช่นช่วงแรกอาจใช้วิธีการให้เปล่าในพื้นที่สีแดง แล้วจากนั้นหากจังหวัดไหนตัวเลขต่างๆ ดีขึ้นก็เปลี่ยนมาเป็นระบบ co-pay

            “ตอนนี้เรื่องหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยเราอยู่ที่ประมาณการคือ 57 เปอร์เซ็นต์ของปีนี้ ที่อยู่ใกล้กับเส้นตามกรอบวินัยการคลัง ที่ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กำหนดไว้ว่า หนี้สาธารณะต่อจีดีพีต้องอยู่ที่ประมาณร้อยละหกสิบ ก็คือเราเหลืออีกสามเปอร์เซ็นต์ ถ้าตีเป็นเงินแล้วเรากู้ได้อีกประมาณ 5 แสนล้านบาท ดังนั้นหากจะกู้เพิ่มอีก 4 แสนล้านบาทถือว่ายังอยู่ตามกรอบของกฎหมาย”

...เรื่องการช่วยเหลือประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ ต้องแยกเป็นสองส่วน หากเป็นเรื่องการเยียวยาฟื้นฟู ผมมองว่ามันขึ้นอยู่กับการระบาด หากมีการระบาด ภาครัฐ ต้องการควบคุม ภาครัฐก็ต้องฉีดยาแรง ซึ่งมีงานวิจัยบอกมาแล้วว่าการฉีดยาแรงผลดีมันเยอะ สามารถล้างผลเสียของการล็อกดาวน์ได้ หากภาครัฐฉีดยาแรงดีพอ ก็ไม่ต้องไปกังวลใจการล็อกดาวน์ ก็ทำได้เต็มที่ แล้วเมื่อใดที่สถานการณ์การระบาดชะลอตัวลงแล้วก็ค่อยผ่อนคลายมาตรการ ซึ่งผมมองว่าเงิน 4 แสนล้านบาทสำหรับการเยียวยาในช่วง 6 เดือนเป็นจุดตั้งต้นที่ดีว่า ภาครัฐควรกู้เพิ่มอีก 4 แสนล้านบาทเพื่อให้มีเงินประมาณ 6 แสนล้านบาทเพื่อจะช่วยเหลือเยียวยา

            ส่วนที่สองที่ภาครัฐควรต้องทำควบคู่กันหรือต้องทำภายในปีนี้ ก็คือเรื่องของ การมองไปที่อนาคต คือจริงอยู่หนี้สาธารณะของเราต่อจีดีพียังไม่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์  สถานการณ์หนี้ภาครัฐยังไม่วิกฤติขนาดนั้น แต่ถ้าเรามองว่าอนาคตของเราหลังจบจากโควิดหรือหลังประเทศไทยเปิดประเทศแล้ว เราต้องหาทางสร้างรายได้มาใช้หนี้ เรากู้มาตั้ง 1 ล้านล้านบาท เราจะไม่ใช้หนี้หรือ เราก็ต้องใช้หนี้ที่กู้มา ดังนั้นภาครัฐต้องเริ่มที่จะดันเรื่อง ฐานทางเศรษฐกิจ ของประเทศได้แล้ว ซึ่งการที่ออกมาตรการเยียวยาฟื้นฟูที่ผ่านมา มันมีข้อดีคือมันช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

แนะเทหน้าตักกู้เลย 2 ล้านล้าน

ขุดคลองไทย-ต่อยอดอีอีซี

            ดร.นณริฏ-นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า ที่ผมเสนอไปก็คือการกู้เพิ่ม 2 ล้านล้านบาท โดยความเห็นส่วนตัว เห็นว่าครึ่งหนึ่งของการกู้ดังกล่าวผมอยากให้มีการขุดคลองไทย ผมคิดว่าคลองไทยก็คือโครงการคลอง คอคอดกระ คือทำยังไงให้เราสามารถขนเรือผ่านจากฝั่งอ่าวไทยไปฝั่งอันดามันได้โดยไม่ต้องไปอ้อมที่ช่องแคบมะละกาที่สิงคโปร์ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามี potential สูง  ถ้าหากทำเลย ขุดเสร็จ จนเรือผ่านได้ มันสร้างเงินได้มหาศาล เป็นเซอร์วิสที่ดีมาก ซึ่งจริงๆ ย้อนกลับไปมันมีข้อเสนอนี้ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ด้วยซ้ำ เราควรทำได้แล้ว มันผ่านมากี่ร้อยปีแล้วไม่ทำสักที

            ส่วนอีก 1 ล้านล้านบาท ผมคิดว่ามีอีก 3 โปรเจ็กต์ที่ควรต้องทำ โปรเจ็กต์แรกก็คือ พัฒนาโครงการอีอีซี เพื่อตอบโจทย์ เพราะในอีอีซีเราพยายามที่จะสร้างธุรกิจด้านการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance,  Repair and Overhaul หรือ MRO) โดยเอาทางบริษัทการบินไทยมาทำ เช่นการซ่อมอากาศยานต่างๆ  ที่สนามบินอู่ตะเภา แต่ตอนนี้มันไม่เกิดแล้ว จากเหตุที่พอเกิดโควิดคนก็เลยไม่มา สายการบินจะเจ๊งกันหมดแล้ว คนก็ไม่เอาเครื่องบินมาซ่อมสร้างที่อีอีซี ก็ไม่มีรายได้จากตรงนี้ ทั้งที่เราเคยคิดกันว่าตรง MRO จะสร้างรายได้เยอะ  แต่มันไม่เกิด เราก็ต้องหาสิ่งใหม่เข้ามาแทน MRO

            อีกตัวหนึ่งคือเรื่อง connectivity รู้หรือไม่ว่าตอนนี้เราจะมีรถไฟวิ่งจากคุนหมิง ประเทศจีน วิ่งมาถึงเวียงจันทน์แล้ว ที่หมายถึงเมื่อวิ่งมาแล้ว ตอนวิ่งกลับไป จะไม่วิ่งตู้เปล่า ต้องขนสินค้ากลับไปด้วย เราก็ต้องทำยังไง ให้เอาสินค้าไทยเช่นสินค้าเกษตร ใส่รถไฟวิ่งกลับไปคุนหมิงเพื่อกลับไปขายที่จีนให้ได้ ตรงนี้เรียกว่า connectivity ที่เรายังไม่สามารถสร้างรายได้ตรงนี้เพียงพอ เราต้องตอบโจทย์ตรงนี้

            เรื่องสุดท้ายที่ผมคิดว่าสำคัญคือเรื่อง ดิจิทัล เพราะฐานเรื่องดิจิทัลจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ โดยจะต้องทำให้ดิจิทัลต่างๆ พวก 5G เข้ามาในเมืองไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจ ลดต้นทุนการดำเนินงานของภาครัฐ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงดิจิทัลได้ด้วย เพราะเมื่อประชาชนเข้าถึงดิจิทัลได้ ก็ทำให้ประชาชนมีความรู้มากขึ้น

                "3 เรื่องหลักคือ พัฒนาโครงการอีอีซี- connectivity และดิจิทัล คือการลงทุนที่สำคัญที่น่าจะใช้เงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยนำงบไปกระจายว่าแต่ละเรื่องต้องใช้งบเท่าใด แต่ว่าเรื่องแรก  การขุดคลองไทย  ใช้ 1 ล้านล้านบาทแน่ๆ โดยหากทำทั้ง 4 เรื่องนี้เราก็จะสามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอ ที่จะนำไปใช้หนี้ซึ่งเราได้กู้มาใช้ตอนเยียวยาโควิดได้ และทำให้ประเทศไทยกลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง"

                ...ข้อเสนอดังกล่าวเพื่อทำ 4 โครงการที่ต้องใช้เงินประมาณ 2 ล้านล้านบาท แต่ไม่จำเป็นต้องกู้ทั้งหมด บางเรื่องสามารถที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนได้ผ่านกลไก  Public Private Partnership หรือ PPP  (การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ) โดยภาครัฐออกเงินส่วนหนึ่งแล้วเอกชนก็ออกเงินอีกส่วนหนึ่ง โดยภาครัฐไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด หากนำเอกชนเข้ามาช่วยก็จะช่วยลดงบได้และทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น หรือบางอย่างอาจให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาทำดีหรือไม่ ก็เป็นโจทย์ของภาครัฐเองที่ต้องไปออกแบบ ว่าจะใช้รัฐวิสาหกิจหรือธนาคารของรัฐ หรือจะทำแบบ PPP หรือภาครัฐจะออกเงินทำเองทั้งหมด โดยหากทั้ง 4 โครงการที่บอกไปข้างต้น ใช้เงินของคนอื่น ภาครัฐก็ไม่จำเป็นต้องกู้มาถึง 2 ล้านล้านบาท

            "ในช่วงวิกฤติที่เสนอ 4 แสนล้านบาทให้กู้มา ก็จะสามารถเยียวยา ทำให้ภาครัฐสามารถล็อกดาวน์ได้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ก็อยู่ที่ว่าภาครัฐฉีดวัคซีนได้เร็วและทันหรือไม่ หากฉีดวัคซีนได้ทันภายใน 6 เดือน มันก็จบหมดทุกอย่างตามแผนที่ภาครัฐวางไว้ว่า ภายในสิ้นปีนี้จะฉีดวัคซีนได้จำนวนมาก หากทำเรื่องวัคซีนมันก็จะช่วยได้ ในส่วนของ 2 ล้านล้านบาท  ระยะยาวแน่นอนว่ามันจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาใหม่ ทำให้ประเทศเราเติบโตขึ้นมาอย่าง strong ถ้าทำได้หมด ทั้งขุดคลองไทย-การ connectivity กับจีน-อีอีซีและดิจิทัล หากทำแค่ 4 เรื่องนี้ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยเราจะโตขึ้นอีกเยอะ".

                                                โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

............................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"