1 พ.ค. 64 - นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่าตาม นโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ให้เจ้าหน้าที่ทส.ทำงานยกกำลัง2 บวก 4 โดยทำงานมากขึ้นเป็นสองเท่า ในการช่วยเหลือประชาชนทุกมติ ทุกด้าน และให้ปราบปรามการค้าสัตว์ป่า ที่ผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้ทำการล่อซื้อเนื้อกวางป่า สัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ 14 จากนางอารยา บุญมี ชาว ต.ท่าขาม อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี เจ้าของร้านค้าที่ริมถนนสาย 323 ไทรโยค –กาญจนบุรี หมู่ 3 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ปิดป้ายโฆษณาหน้าร้านว่า ขายเนื้อกวางป่าและสัตว์ป่า โดยในวันนั้นเจ้าหน้าที่ได้ล่อซื้อเนื้อ จำนวน 1 กิโลกรัม เป็นเงินจำนวน 300 บาทและในวันดังกล่าว นางอารยา ได้ปฏิเสธพร้อมกับให้การว่า เนื้อกวางป่าที่เจ้าหน้าที่ได้ล่อซื้อ และตรวจยึดไปนั้น เป็นกวางป่าเลี้ยง ที่มีผู้ขายนำมาส่งให้ที่บ้าน เจ้าหน้าที่จึงได้ขอให้นาง อารยา แสดงหลักฐานการได้รับอนุญาตให้ค้ากวางป่าเลี้ยง แต่นางอารยา ไม่มีเอกสารหลักฐานใด มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้
เจ้าหน้าที่จึงนำตัวนางอารยา ส่งพนักงานสอบสวน สภ.ไทรโยค ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.สงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 29 ในข้อหาค้าเนื้อกวางป่า สัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 14 โดยมิได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้าน บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเจ้าหน้าที่ สบอ.3(บ้านโป่ง)ได้ส่งชิ้นเนื้อของกลาง ไปพิสูจน์ที่ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อพิสูจน์ทราบว่าเนื้อชนิดดังกล่าวนั้นเป็นเนื้อของสัตว์ป่าชนิดใด
ต่อมาศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ ได้แจ้งผลพิสูจน์ออกมาปรากฏว่า ชิ้นเนื้อนั้นไม่ใช่กวางป่าตามที่นางอารยา โฆษณาเอาไว้ แต่ข้อเท็จจริงคือเป็นเนื้อหมูป่า เจ้าหน้าที่จึงมอบเอกสารหลักฐานการพิสูจน์ ให้กับพนักงานสอบสวน สภ.ไทรโยค เพื่อใช้ประกอบเป็นหลักฐาน ในสำนวนของคดีในการส่งฟ้อง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีคำพิพากษาออกมาว่า นางอารยา บุญมี (จำเลย)มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 ให้ลงโทษฐานขายของโดยหลอกลวง ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 พิพากษาให้ จำคุก 2 เดือน และปรับเป็นเงิน จำนวน 10,000 บาท
แต่จำเลยให้การยอมรับสารภาพ จึงเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก 1 เดือน ปรับ 5,000 บาท และจากประวัติไม่เคยทำผิดมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาเอาไว้เป็นเวลา 2 ปี
นายนิพนธ์ เปิดเผยต่อว่า คดีนี้ถือว่าเป็นคดีแรกของจังหวัดกาญจนบุรี และถือว่าเป็นคดีที่พ่อค้าแม่ค้า สามารถนำไปเป็นอุทาหรณ์ ที่จะคิดหลอกลวงการขาย เอาเนื้อหมูป่า มาย้อมสี มาหลอกขายว่าเป็นเนื้อกวาง เนื้อเก้ง ให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เพราะการกระทำดังกล่าว ถือได้ว่าผิดกฎหมาย ที่ทำความเสื่อมเสียชื่อเสียง ให้กับจังหวัดกาญจนบุรี ที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งค้าเนื้อสัตว์ป่า อย่างโจ๋งครึ่ม นับแต่นี้เชื่อว่าคงไม่มีพ่อค้าแม่ค้า โฆษณาหลอกลวงขายเนื้อสัตว์ป่าเก๊ ในจังหวัดกาญจนบุรีอีกแล้ว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |