1 พ.ค. 64 - นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนชื่อดัง นามปากกาว่า "นิ้วกลม" โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังนี้
หัวใจที่หายไป
---
เมื่อวานนี้เป็นวันที่ท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก แต่ความรู้สึกทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเรายังมีชีวิตอยู่ ยังมีหัวใจรับรู้ถึงความทุกข์ของเพื่อนร่วมโลกร่วมสังคม
นอกจากข่าวการจากไปของน้าค่อมแล้ว อีกหนึ่งข่าวที่สะเทือนใจอย่างมากคือข่าวคุณแม่ของเพนกวิน (คุณสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์) โกนหัวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยมีน้องสาวเพนกวินเป็นผู้ลงมือโกนศีรษะให้แม่เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้พี่ชาย ผมติดตามข่าวด้วยความสะเทือนใจ คิดถึงหัวใจคนเป็นแม่ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้ให้กับลูกชายที่ถูกคุมขัง ดูแล้วคิดถึงแม่ตัวเอง ผมเชื่อว่าหากผมได้รับความไม่เป็นธรรม แม่ก็จะต่อสู้ทุกวิถีทางเท่าที่แม่จะทำได้เช่นกัน--ในความเป็นแม่ ไม่มีอะไรต่างกัน สิ่งนี้คือหัวใจมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับมนุษย์อีกคน
ระหว่างเรียบเรียงความคิดเพื่อเขียน ผมได้อ่านโพสต์ของตุล-คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ซึ่งเขียนถึงเส้นผมของแม่ รับรู้ความเศร้าใจของเพื่อนและคิดว่าตุลเขียนครบถ้วนหมดจดจึงแชร์โพสต์ของตุลไป ใต้โพสต์มีคอมเมนต์ทำนองว่า "ทรงนี้เงินน่าจะเข้าบัญชีเยอะ" ชวนให้เศร้าและหดหู่ แต่ขณะเดียวกัน ผมรู้สึกมีความหวังเมื่อเห็นเพื่อนที่มีความคิดทางการเมืองฝั่งตรงข้ามกับเพนกวินแชร์สเตตัสของตุลต่อแล้วเขียนทำนองว่า "แม้จะไม่เห็นด้วยกับเพนกวิน แต่รับรู้ถึงหัวอกคนเป็นแม่ และอยากให้ทุกคนปลอดภัยและได้รับความยุติธรรม" ผมคิดว่าเราเริ่มต้นกันตรงนี้ได้--ตรงที่ 'ความเป็นมนุษย์'
...
เมื่อคืนนี้ ช่วงสองทุ่ม สถาบันวัชรสิทธาจัดกิจกรรมภาวนาเคียงข้างผู้ถูกกดขี่ นำโดยพี่อวยพร เขื่อนแก้ว หลังภาวนามีการเปิดให้สนทนาและถามคำถามกับพี่อวยพร เพื่อนร่วมวงเอ่ยถามพี่อวยพรทำนองว่า รู้สึกเป็นทุกข์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและทนไม่ไหวเวลาได้อ่านคอมเมนต์หรือได้ฟังจากคนใกล้ตัวซึ่งไม่มีความเห็นอกเห็นใจเพนกวินและแม่ หรือมองข้ามไม่รับรู้ ทั้งที่ก็เป็นคนมีการศึกษาดี หน้าที่การงานดี รับรู้ข่าวสารตลอด
คำตอบของพี่อวยพรเปี่ยมไปด้วยความกรุณา
พี่อวยพรตอบว่า "การศึกษาบางทีก็ทำให้หลายคนมองไม่เห็นความอยุติธรรม บางครั้งการศึกษานี่เองที่เป็นกรอบความคิดให้เราคิดในกรอบนั้น" ส่วนการรับมือกับความรู้สึกของตัวเองเวลาที่อ่านหรือฟังความเห็นจากคนที่เฉยชาต่อเรื่องราวกดขี่ทั้งหลาย พี่อวยพรชวนให้มองไปถึงโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้น คือโครงสร้างที่ก่อร่างสร้างความคิดของคนคนนั้นขึ้นมา "เขาไม่ได้เกิดมาเป็นแบบนี้ เขาไม่ได้เกิดมาเป็นคนละเลย ไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่น แต่เขาถูกปลูกฝังมา เติบโตมากับวัฒนธรรม ค่านิยม และระบบต่างๆ ที่สร้างเขาให้เป็นแบบนี้" พี่อวยพรบอกว่า ถ้าเรามองเห็น 'โครงสร้าง' ที่สร้างคนแต่ละคนขึ้นมาเราจะเข้าใจเขามากขึ้น มีเมตตากับเขาได้มากขึ้น ผมฟังคำตอบของพี่อวยพรแล้วรู้สึกว่า หากเราสามารถมองเห็นคนที่คิดแตกต่างไปถึงเบื้องหลังแบบนี้ได้ นอกจากเข้าใจ (ซึ่งไม่ได้แปลว่าเห็นด้วย) แล้วก็ยังทำให้ความเดือดดาลในใจลดลงได้บ้าง
...
กรณีที่เกิดขึ้นกับเพนกวินและเพื่อนๆ รวมถึงคุณแม่สุ จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเหตุใดจึงมีคนจำนวนหนึ่งรู้สึกรู้สาอย่างมาก และคนอีกจำนวนหนึ่งไม่รู้สึกร่วมหรือกระทั่งด่าทอหยามหมิ่น น่าตั้งคำถามว่า สังคมแบบไหนที่สร้างความแตกต่างเช่นนี้ขึ้นมา โครงสร้างความคิดแบบไหนที่ทำให้ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์หายไปจากหัวใจเรา ซึ่งในธรรมชาติความเป็นมนุษย์ เราล้วนมีความรู้สึกเห็นใจ เศร้า ทุกข์ กับคนที่คิดเห็นแตกต่างจากเราได้เป็นเรื่องปกติ ถ้าความรู้สึกเช่นนี้หายไปก็น่าทบทวนโครงสร้างที่ก่อร่างความคิดของเราขึ้นมาเช่นกัน
แน่นอนว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติของทุกสังคม แต่เรื่องที่น่าตระหนักและน่ากังวลก็คือ หากสังคมถูกผลักไปอยู่ในจุดที่อยากให้ใครสักคน 'ตายๆ ไปได้ก็ดี' หรือ 'ก็สมควรแล้วที่จะตาย' หรือเห็นการต่อสู้ของแม่เพื่อลูกเป็นละครแลกเงิน อันนี้ใจร้ายเกินไป ซึ่งมันย่อมส่งผลร้ายสำหรับตัวเจ้าของความคิดเองด้วย
คุณอาจทำหัวใจหล่นหายไปแล้ว
หัวใจ--ที่รู้สึกรู้สาต่อความทุกข์ความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยไม่นับว่าจะคิดเห็นแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร หัวใจ--ที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ที่รักลูกรักพี่รักน้อง ที่ต้องการมีชีวิตที่ดี ต้องการอิสระเสรี ต้องการความเป็นธรรม ในความเป็นมนุษย์ เราไม่ได้ต่างกันมากขนาดนั้น, นอกเสียจากใครบางคนโดนขโมยหัวใจของความเป็นมนุษย์ไปแล้ว
และมันน่าตั้งถามอย่างยิ่งว่า 'โครงสร้าง' แบบไหนที่ขโมยความเป็นมนุษย์จากผู้คนในสังคมไป ความรัก ความศรัทธา ความกลัว ความเกลียดชัง ผลประโยชน์ อะไรกันหรือที่อยู่เบื้องหลังความไม่รู้สึกรู้สาต่อทุกข์เข็ญของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ความรู้สึกทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเรายังมีชีวิตอยู่ ยังมีหัวใจรับรู้ถึงความทุกข์ของเพื่อนร่วมโลกร่วมสังคม
สังคมที่น่าอยู่อาศัยคือสังคมที่ผู้คนยังรู้สึกรู้สาต่อความทุกข์ของเพื่อนร่วมสังคม เสียงหัวเราะต่อความทุกข์ การเฉยเมยต่อความเจ็บปวด เหล่านี้ล้วนน่าสยดสยอง--ถามจริงๆ ว่าเราอยากอยู่ในสังคมแบบนั้นกันหรือ?
ขอแสดงความคารวะต่อการต่อสู้ของแม่สุ--คุณแม่ของเพนกวิน และขอให้พลังความรักของแม่เอาชนะความอยุติธรรมทั้งปวง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |