หามบิ๊กกวิ้นส่งรพ.รามา แม่ชี้ลางดีศาลนัดไต่สวน


เพิ่มเพื่อน    

  ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัว "เพนกวิน-รุ้ง" 6  พ.ค.นี้ แม่-ทนายเผยสัญญาณดี เพราะเป็นการไต่สวนกรณีเดียวกับ "สมยศ-ไผ่" ขณะที่ราชทัณฑ์ส่ง "กวิ้น" รักษาตัวที่ รพ.รามาฯ แล้ว อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาแจง กำลังตรวจสอบกลุ่มที่ป่วนศาล พบพฤติกรรมข่มขู่ศาลถึงหน้าศาล เป็นต่างประเทศโดนจับหมดแล้ว

    เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร พร้อมทนายความ เดินทางมายื่นขอประกันตัวบุตรชายที่ศาลอาญาอีกครั้ง โดยเปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าได้ไปเยี่ยมบุตรชายที่เรือนจำ และก็เห็นรถพยาบาลขับออกมา ทำให้กังวลเป็นอย่างมากว่าคนไข้ในรถจะเป็นเพนกวิน โชคดีที่ไม่ใช่ ดังนั้นตนจึงอยากยื่นขอประกันตัวบุตรชายโดยเร็วที่สุด เพราะเกรงว่าจะมีอันตรายถึงชีวิต ซึ่งทุกครั้งที่ยื่นประกันตนเองมีความหวังเสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน แต่หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ตนก็จะแสดงออกถึงความไม่ยุติธรรม เช่นเดียวกับเพนกวินที่อดอาหารอยู่ภายในเรือนจำ ตนก็พร้อมจะสละสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิง คือความสวย ด้วยการโกนศีรษะ เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นเช่นกัน
    ด้านนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า การอ้างเหตุผลยื่นขอประกันตัวเพนกวินในครั้งนี้ จะเทียบเคียบตามเหตุผลของไผ่ ดาวดิน กับนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ได้รับการปล่อยตัวไปก่อนหน้านี้ คือไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายใดๆ หลักประกันมีความน่าเชื่อถือ และการปล่อยตัวไม่กระทบกระเทือนกับการพิจารณาคดี จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว
    ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยโดยรอบศาลอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจอารักขาและควบคุมฝูงชนวางกำลัง 1 กองร้อยดูแลความปลอดภัย นำแผงเหล็กมากั้น และไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องผ่านเข้า-ออก พร้อมปิดประตูรั้วด้านหน้าศาลอาญา ซึ่งภายนอกมีมวลชนทยอยเดินทางมาชุมนุมตามนัดหมายรวมตัวในเย็นวันนี้ ขณะที่มารดาของเพนกวินได้ทำการโกนศีรษะประท้วง
    ขณะที่นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชี้แจงถึงหลักเกณฑ์การปล่อยชั่วคราว กรณียกคำร้องประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎรหลายครั้งว่า การปล่อยชั่วคราวตามสิทธิสามารถกระทำได้ตลอด แต่ต้องดู ป.วิ.อาญา เกี่ยวกับเรื่องการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวว่าก่อนหน้านี้ที่ศาลไม่ให้ประกันเป็นเพราะอะไร เพราะที่ศาลมีคำสั่งให้ประกันก่อนหน้านี้ เพราะว่าเราพิจารณาตามลักษณะภาพและการกระทำของจำเลยแต่ละคนในคดีที่ถูกฟ้องว่าได้กระทำอะไรบ้าง จึงไม่อนุญาต โดยอาศัยหลักตามมาตรา 108/1 ที่ว่าหากให้ประกันแล้วเกรงว่าจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น
    “ซึ่งเหตุนี้มีความหมายว่า เป็นเรื่องที่กระทำมาแล้ว แล้วจะกลับไปกระทำอีก ส่วนผิดหรือไม่ผิดเอาไว้อีกที ในเมื่อเขาฟ้องมาแล้วว่าคุณทำอย่างนี้ ปล่อยคุณไปก็ไปกระทำอีกอันนี้ ก็เป็นเหตุอันตรายประการอื่นก็ได้ หรือเป็นเหตุอันตรายประการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ คือไปก่อเรื่องอื่นที่ผิดกฎหมาย เรื่องอื่นอันนี้ก็อยู่ในของเขตคำนี้ ศาลก็พิจารณาถึงข้อนี้ จึงไม่อนุญาตไป”
    อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาระบุว่า การขอประกันครั้งต่อไป จึงต้องดูว่าสิ่งที่ศาลไม่อนุญาตเพราะเหตุใด และจำเลยหรือผู้ต้องหาจะสามารถแก้ไขเหตุนั้นหรือทำให้เหตุนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เหมือนกรณีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ที่ทั้ง 3 ได้แถลงต่อศาลเองว่าจะไม่กระทำแบบเดิม ศาลก็รับเงื่อนไข ซึ่งทั้ง 3 นั้น ในช่วงที่ถูกควบคุมตัวอาจจะไปนั่งคิดพิจารณาขึ้นมาได้ว่าสิ่งที่ทำลงไปมันไม่ควร จะทำและเข้าใจในคำสั่งศาล ว่าคำว่าไปก่อเหตุภยันตรายประกันอื่นซ้ำในสิ่งที่ถูกฟ้องมา จึงได้มาแถลงต่อศาลเองว่าจะไม่กระทำแบบเดิม มันจึงเป็นเหตุที่ถูกแก้ไข
เข้าข่ายผิดละเมิดอำนาจศาล
    เมื่อถามว่า ทนายความอ้างว่าได้ยื่นคำร้องประกันตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน กับพวก โดยใช้เงื่อนไขเดียวกับ 3 คนก่อนหน้านี้ นายสิทธิโชติตอบว่า ไม่ใช่ ในคำร้องที่ยื่นมาเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา มันแตกต่างกับ 3 คนที่ได้ประกันตัว ในหลายประเด็น ของ 3 คนนั้น ตัวจำเลยเองเป็นคนลงชื่อในคำร้อง ยืนยันต่อศาลขอให้ศาลทำการไต่สวน และแถลงต่อศาลด้วยตนเองว่าจะไม่กระทำลักษณะที่ถูกฟ้องและจะไม่ก่อเหตุร้ายประการอื่น ส่วนข้อกำหนดอื่นก็ให้ศาลสั่ง ซึ่งศาลเองก็ไม่สามารถสั่งอย่างอื่นได้ต้องสั่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 108/1 ที่ว่าจะไม่ก่อเหตุร้ายประการอื่น ศาลก็จะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เพราะจำเลยเป็นคนเสนอเงื่อนไขเอง และจำเลยก็เป็นคนแถลงเอง ไม่ใช่ทนายความเป็นคนแถลงแต่ฝ่ายเดียว มันแตกต่างกัน
    "ที่ต้องระบุเรื่องการยอมรับในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากในตอนหลังมีเหตุแทรกซ้อนในกระบวนการพิจารณา ซึ่งศาลได้กระทำตามขั้นตอนถูกต้องทุกอย่าง แต่อยู่ๆ มาบอกว่าไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรม และขอถอนกระบวนการพิจารณาถอนทนายพร้อมไม่ลงชื่อในรายงานพิจารณา พร้อมกับเอารายงานกระบวนพิจารณาไปเขียนเอง ภายหลังจากที่ศาลลงจากบัลลังก์ไปแล้ว ทั้งที่จริงเเล้วเรื่องนี้อาจจะต้องเข้าข่ายผิดละเมิดอำนาจศาลด้วย แต่ศาลเห็นว่าเราไม่ควรดำเนินคดีอะไรที่ฟุ่มเฟือยเกินไป จึงได้มองแต่เพียงว่าเขาไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณา และไม่ลงชื่อในการพิจารณาคดีต่อไป ตรงนี้มันทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในสิ่งที่จำเลยยืนยันว่ายินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้เสนอมา"
    ถามว่าในส่วนที่ข้อเท็จจริงไม่ตรงกันเรื่องความเจ็บป่วยของนายพริษฐ์ จำเลย กับทางราชทัณฑ์ จะมีทางพิสูจน์ได้หรือไม่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตอบว่า เห็นว่าตอนนี้ทางฝ่ายผู้ชุมนุม จะไปยื่นคำร้องต่อราชทัณฑ์ขอเข้าไปพบดูอาการและขอหมอมาตรวจอาการเจ็บป่วยจริงหรือไม่ ก็ต้องลองขออนุญาตดูว่าจะใช้หมอจากภายนอกได้หรือไม่ กรณีเราไม่เชื่อถือหมอข้างในของราชทัณฑ์ คิดว่าทางราชทัณฑ์ไม่น่าจะขัดข้อง เราขอพาหมอเข้าไปตรวจสุขภาพ สิ่งนี้มันจะเป็นหลักฐานที่ดีกว่าการกล่าวอ้างลอยๆ สร้างกระแสมากดดันศาล
    ส่วนการชุมนุมหน้าบันไดศาลอาญา ทางศาลอาญากำลังตรวจสอบข้อมูลจากกล้องวงจรปิดและรายละเอียดทั้งหมดอยู่ให้ละเอียดชัดเจน ถ้าหากมีการกระทำที่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ทางศาลอาญาก็จะดำเนินการเอง ในส่วนข้อหาอื่นในภาพรวม เช่น ความผิดฐานดูหมิ่นศาล หรือความผิดลักษณะนี้ ก็จะขอให้สำนักงานศาลยุติธรรมดูข้อมูลจากคลิป เพื่อดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อไป  
ประเทศอื่นเขาจับหมดแล้ว
    “พฤติการณ์ที่มากันเป็นม็อบและมาตะโกนด่า และแสดงออกตามที่เห็นในคลิป มันเป็นการข่มขู่ศาล ข่มขู่ผู้พิพากษา และไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายที่ควรจะเป็น ไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีการเข้ามาขู่ศาลถึงหน้าศาลแบบศาลอาญาประเทศไทย ถ้าเป็นประเทศอื่นเขาจับกันไปหมดแล้ว" นายสิทธิโชติระบุ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมภายในบริเวณรั้วศาล ได้นำป้ายข้อความที่เขียนว่า “ปล่อยนักศึกษากลับมหาลัย”, “ยกเลิก 112” และข้อความอื่นมาชูประกอบการชุมนุม ต่อมาในช่วงเวลา 17.00 น. ผู้ชุมนุมได้นำภาพผู้พิพากษาใส่ข้อความว่า “ฆาตกร” และภาพหน้าปกหนังสือประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาทำการเผาประท้วงเชิงสัญลักษณ์
    ต่อมามีรายงานว่า การยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนายพริษฐ์ จำเลยที่ 1 คดีหมายเลขดำ อ.287/2564 (คดีฟ้องร่วมแกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร รวม 22 คน) กับคดีหมายเลขดำ อ.286/2564 (คดีม็อบเฟส) และที่มารดาของ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว น.ส.ปนัสยา  โดยวางหลักทรัพย์ประกันจำเลยคนละ 200,000 บาทนั้น ศาลอาญากำหนดนัดไต่สวนคำร้องดังกล่าวในวันพฤหัสบดีที่ 6 พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. พร้อมมีคำสั่งให้เบิกตัวจำเลยที่ 1 และที่ 5 มาในวันไต่สวน และให้แจ้งอัยการโจทก์ทราบด้วย
    นางสุรีย์รัตน์เปิดเผยว่า การที่ศาลรับคำร้องเพื่อนัดไต่สวนถือเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลไม่เคยรับไว้พิจารณามาก่อน ส่วนประเด็นที่ราชทัณฑ์มีการส่งตัวบุตรชายไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีนั้น เบื้องต้นยังไม่ทราบ เนื่องจากขณะที่มีการยื่นคำร้องได้ปิดเครื่องมือสื่อสาร จึงไม่ได้ติดตามข่าว แต่หากมีการส่งตัวไปจริง ก็เป็นเรื่องยืนยันได้ว่าอาการของเพนกวินทรุดหนัก  
    ด้านนายนรเศรษฐ์กล่าวว่า เป็นแนวโน้มที่ดี เป็นการไต่สวนกรณีเดียวกับนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน (แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎรที่ได้ประกันตัว) ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีและทำให้แม่มีความหวังมากขึ้น
     ขณะที่นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดี ในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่นายพริษฐ์สมัครใจอดอาหารจนร่างกายไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ จึงมีความเห็นว่าควรส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ เพื่อรับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ จึงได้ส่งตัวนายพริษฐ์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมี รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.โรงพยาบาลรามาธิบดี รับมอบผู้ป่วยเข้าทำการรักษา ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อย่างเคร่งครัด หากนายพริษฐ์ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว จะดำเนินการส่งตัวกลับเข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"