ดีเดย์ “หมอพร้อม” เปิดลงทะเบียนจองวัคซีน เจาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีและผู้มีโรคประจำตัว 7 ชนิด “หมอทวีศิลป์” บอกไม่ต้องแห่ลงเดี๋ยวระบบป่วน “อนุชา” แจงเริ่มฉีดเข็มแรกล็อตนี้ 7 มิ.ย. และฉีดครบ 16 ล้านใน ก.ค. ส่วนวัยทำงานลงทะเบียน 1 ก.ค. ฉีด ส.ค. ข่าวดี “จีน” บริจาควัคซีนให้อีก 5 แสนโดส สั่งซื้อ “ ฟาวิพิราเวียร์” สำรองอีก 3 ล้านเม็ด กทม.จับมือหอการค้าฯ เปิด 14 จุดบริการฉีดวัคซีนคนกรุง
เมื่อวันศุกร์ที่ 30 เม.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามตามที่สื่อมวลชนได้ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าในเรื่องของการจัดหาวัคซีน รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีน แต่ภาคเอกชนชี้แจงว่า การจัดหาวัคซีนกับผู้ผลิตในต่างประเทศมีการติดต่อไปแล้วเกิดความล่าช้าในเรื่องของการส่งมอบ โดยจะส่งวัคซีนมาได้ในช่วงปลายปี และอาจทับซ้อนกับส่วนที่รัฐบาลหามาได้ จึงสรุปให้รัฐบาลเป็นหน่วยงานหลักจัดหาตามแผนเดิม คือในสิ้นปีจะมีวัคซีนเข้ามา 100 ล้านโดส ส่วนการจัดหาวัคซีนของโรงพยาบาลเอกชนนั้น ยังดำเนินตามการกลไกของคณะทำงานที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ซึ่งอาจเพิ่มเติมนำเข้าวัคซีนได้อีกทางเลือกหนึ่ง
นายอนุชากล่าวว่า การลงทะเบียนฉีดวัคซีนของประชาชนนั้น เบื้องต้นจะลงทะเบียนผ่านแอปฯ หมอพร้อม ซึ่งได้มีการวางแผนฉีดวัคซีนเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1.บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยทั้งภาครัฐและเอกชน 3 ล้านคน ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ซึ่งขณะนี้มีการฉีดครอบคลุมบุคลากรกลุ่มนี้ครบ 77 จังหวัดแล้ว สามารถฉีดไปได้แล้ว 1,200,000 โดส เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มแรก 1,000,000 คน และเป็นผู้ที่รับวัคซีนเข็มที่สอง 200,000 คน และจะฉีดให้ครบได้อย่างต่อเนื่อง ระยะที่ 2 ฉีดให้ประชาชนสองกลุ่มจำนวน 16 ล้านคน โดยกลุ่มแรกคือประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11,700,000 คน กลุ่มที่สองคือประชาชนที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ประกอบด้วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวานและโรคอ้วน 4,300,000 คน ซึ่งอยากให้ทั้งสองกลุ่มนี้ลงทะเบียนก่อนประชาชนทั่วไป เพื่อที่จะได้รับวัคซีนในช่วงเดือน มิ.ย.
“หากคนใดไม่มีสมาร์ทโฟน ให้ติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีประวัติการรักษา ส่วนต่างจังหวัดให้ไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือติดต่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยทั้งสองกลุ่มนี้จะเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นไป และคาดว่าฉีดครบ 16 ล้านคนภายในสิ้นเดือน ก.ค. หลังจากนั้นจะเป็นการฉีดในระยะที่ 3 คือประชาชนอายุ 18-59 ปี ในกลุ่มนี้ที่มีประมาณ 31 ล้านคน โดยให้ลงทะเบียนหมอพร้อมในวันที่ 1 ก.ค. และจะเริ่มมีการฉีดเดือน ส.ค.เป็นต้นไป”
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.กล่าวถึงการลงทะเบียนจองคิววัคซีนและแอปพลิเคชันหมอพร้อมที่จะมีการเปิดลงทะเบียนวันแรกในวันที่ 1 พ.ค. ว่าเป็นความท้าทายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการจัดการแอปพลิเคชันดังกล่าว ซึ่งการลงทะเบียนรับวัคซีนดำเนินได้ 3 ทางคือ ไปที่โรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิการรักษา หรือบอก อสม.ให้ลงทะเบียนให้ หรือลงทะเบียนที่แอปพลิเคชันหมอพร้อมสำหรับคนที่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งการเริ่มลงทะเบียนผ่านแอปฯ หมอพร้อม ถือเป็นระบบใหม่ ซึ่งทุกระบบถ้าทุกคนเข้าไปใช้พร้อมกันจะเป็นปัญหา ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องรีบลงทะเบียนทันที เพราะไม่ได้เปิดให้ลงทะเบียนวันเดียว สามารถทยอยลงทะเบียนได้
ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังหารือกับบริษัท ซิโนฟาร์ม เรื่องวัคซีนโควิด-19 ว่าเป็นการหารือเพื่อยืนยันว่า สธ.ยินดีสนับสนุนการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดทุกยี่ห้อ โดยขณะนี้ไทยมีวัคซีนโควิดเข้ามาหลากหลายมากขึ้น ซึ่งการฉีดวัคซีนจะจัดสรรตามกลุ่มอายุและจับคู่กับวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการวิชาการที่ดูแลด้านความปลอดภัยในการใช้วัคซีนพิจารณา เช่น เด็กอายุ 12 ปี ต้องได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ หรือคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรืออายุ 18-59 ปีได้รับวัคซีนซิโนแวค
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงการหารือทางไกลระหว่างนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย โดยประเด็นที่หารือกับจีนนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายหารือเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่จีนประสงค์จะมอบวัคซีนให้ไทยอีก 5 แสนโดส และจะมีพิธีส่งมอบในเดือน พ.ค.นี้
ขณะที่นายอนุทินได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องในเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ โดยนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยบริษัทญี่ปุ่นได้ยื่นจดสิทธิบัตรตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.64 แต่ยังไม่มีการอนุมัติ
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ในระหว่างรอกรมทรัพย์สินฯ พิจารณาเรื่องนี้ อภ.ก็เตรียมเดินหน้านำวัตถุดิบที่จะผลิตเป็นยาฟาวิพิราเวียร์มาผลิตเป็นเม็ดจำนวน 3 แบต โดย 1 แบตหรือการตอกเป็นเม็ดครั้งละ 360,000 เม็ด รวม 1,080,000 เม็ด เพื่อเตรียมขอขึ้นทะเบียนและศึกษาชีวสมมูล ดูความปลอดภัย ผลของยาว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ โดยในเดือน ส.ค. หากกรมทรัพย์สินฯ ปัดตกคำขอและไม่ติดปัญหาเรื่องสิทธิบัตร ก็เตรียมเดินหน้าการผลิตใช้ในประเทศทันที
นพ.วิฑูรย์ระบุอีกว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ 2 ล้านเม็ดที่เข้ามาถึงไทยเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ปัจจุบันได้แจกจ่ายไปตามภาคส่วนต่างๆ และเหลือในคงคลังกว่า 1.5 ล้านเม็ด และขณะนี้ อภ.ได้สั่งซื้อยาเพิ่มเติมอีก 3 ล้านเม็ด ซึ่งจะเข้ามาในเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้ยามีเพียงพอและเหลือใช้ไปอีก 2 เดือน และจะมีการสั่งซื้อยาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสามารถผลิตได้เอง ส่วนวัคซีนเราได้การคอนเฟิร์มจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนซิโนแวค ว่าในวันที่ 6 พ.ค.นี้จะมีวัคซีนเข้ามา 1 ล้านโดส และหลังวันที่ 14 พ.ค. จะมีวัคซีนที่รัฐบาลประเทศจีนบริจาคให้ไทยอีก 5 แสนโดส และช่วงสิ้นเดือน พ.ค.จะมีวัคซีนเข้ามาอีก 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นการสั่งซื้อโดย อภ.ทั้งสิ้น รวมทั้งเดือน พ.ค.จะมีวัคซีนจากจีนเข้ามา 3.5 ล้านโดส หลังจากนั้นเดือน มิ.ย. ก็จะมีวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทยเอง
“ก่อนหน้านี้ อภ.ซื้อวัคซีนของซิโนแวคล็อตแรก 2 ล้านโดส ซึ่งเข้ามาครบหมดแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่แล้วซื้อของซิโนแวคและเข้ามาในไทย 5 แสนโดส กำลังกระจายไปฉีด รวมกับของเดือน พ.ค.นี้อีก 3.5 ล้านโดส เท่ากับว่าเรามีวัคซีนแล้ว 6 ล้านโดส” นพ.วิฑูรย์ระบุ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เลขาธิการ สปสช.) กล่าวว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนทุกคน ทุกสิทธิการรักษาพยาบาลในการรับวัคซีนโควิด-19 บอร์ด สปสช.ที่มีนายอนุทินเป็นประธาน ได้มีมติให้ สปสช.กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ แนวทางการจ่าย เพื่อรองรับการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับประชาชนไทยทุกคนที่ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงความร่วมมือระหว่าง กทม., หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการจัดหน่วยบริการวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนในพื้นที่ กทม. ซึ่งจะจัดจุดบริการฉีดวัคซีนในสถานประกอบการและห้างสรรพสินค้า 14 แห่ง กระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย และสถาบันการศึกษา สาขาพยาบาลศาสตร์ของรัฐ ร่วมให้บริการวัคซีนแก่ประชาชน
ทั้งนี้ กทม.มีแผนให้บริการวัคซีนแก่ประชาชนในพื้นที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกใน รพ.ทุกสังกัดใน กทม.กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ส่วนที่สองเป็นหน่วยบริการวัคซีนกรุงเทพมหานคร 14 แห่ง สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18-59 ปีที่ได้จองคิวรับวัคซีนมาแล้ว
สำหรับหน่วยฉีดทั้ง 14 แห่งนั้น ประกอบด้วย กลุ่มเขตกรุงเทพฯ เหนือ 2 แห่ง ได้แก่ SCG บางซื่อ 2,000 คน/วัน และศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว 2,000 คน/วัน, กลุ่มเขตกรุงเทพฯ ใต้ 4 แห่ง ได้แก่ สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน 1,500 คน/วัน, ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค เขตสวนหลวง 1,000 คน/วัน, True Digital Park เขตพระโขนง 1,000 คน/วัน และเอเชียทีค เขตบางคอแหลม 2,000 คน/วัน, กลุ่มเขตกรุงเทพฯ ตะวันออก 3 แห่ง ได้แก่ เดอะมอลล์ บางกะปิ 2,000 คน/วัน, โรบินสัน ลาดกระบัง 1,000 คน/วัน และโลตัส มีนบุรี 1,000 คน/วัน, กลุ่มเขตกรุงธนบุรีเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย 1,000 คน/วัน และไอคอนสยาม เขตคลองสาน 1,000 คน/วัน, กลุ่มเขตกรุงธนบุรีใต้ 3 แห่ง ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. พระราม 2 เขตบางขุนเทียน 1,500 คน/วัน, เดอะมอลล์ บางแค 2,000 คน/วัน และบิ๊กซี บางบอน 1,500 คน/วัน รวมให้บริการได้ทั้งสิ้น 20,500 คนต่อวัน
สำหรับการให้บริการวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 14 แห่ง จะให้บริการแก่ประชาชนที่ผ่านการจองคิวรับวัคซีนมาก่อน โดยกระบวนการให้บริการวัคซีนที่หน่วยมี 5 ขั้นตอน คือ 1.การลงทะเบียน/ชั่งน้ำหนัก/วัดความดัน 2.คัดกรอง/ซักประวัติ 3.ฉีดวัคซีน 4.สังเกตอาการ และ 5.รับใบนัด/คำแนะนำ โดยใช้เวลาเฉลี่ยต่อรายประมาณ 45 นาที กทม.มีทั้งหน่วยบริการในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล ซึ่งจะเริ่มในเดือน มิ.ย.-ธ.ค.2564 โดยจะมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ที่จะรับวัคซีนทาง LINE Official Account V.2 “หมอพร้อม” หรือแอปฯ หมอพร้อมที่สามารถดาวน์โหลดได้ตั้งแต่ 1 พ.ค.64 เป็นต้นไป ซึ่งหลังจากลงทะเบียนแจ้งความประสงค์แล้ว ประชาชนสามารถจองรับวัคซีนได้ที่หน่วยบริการวัคซีนที่มีใน กทม. หรือหากไม่สะดวกลงทะเบียนทางไลน์ สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |