ไฉนภาครัฐปฏิเสธข้อเสนอ เอกชนจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม?


เพิ่มเพื่อน    

  “ประกาศ” ของหอการค้าไทยฉบับนี้ออกมาตอนค่ำของวันพุธที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา...ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ผู้นำภาคเอกชนเข้าพบนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา และออกแถลงการณ์ว่าได้มีการตั้ง Team Thailand เพื่อช่วยแก้ปัญหาวัคซีนโควิด

            หนึ่งใน 4 ทีมนั้นเอกชนจะช่วยหา “วัคซีนทางเลือก”  เพิ่มจากที่รัฐบาลจัดหามาได้เพื่อให้ได้ทั้งหมด 100 ล้านโดส ฉีดให้คนไทย 50 ล้านคน ซึ่งจะเท่ากับ 70% ของประชากรไทย

            แต่แล้วก็มีคำประกาศของหอการค้าไทยออกมาบอกว่า รัฐบาลได้แจ้งมาว่าเอกชนไม่ต้องไปจัดหาวัคซีนมาเพิ่ม  เพราะรัฐบาลจัดหาได้ครบตามที่ต้องการแล้ว

            สร้างความแปลกใจให้ผู้พบเห็นมากมายนัก

            ตอนหนึ่งของประกาศนั้นบอกว่า

            “....รัฐบาลได้แจ้งว่าปริมาณวัคซีนที่ภาครัฐหามานั้นมีจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกคน พร้อมเร่งดำเนินการในการนำเข้าวัคซีน ซึ่งกำลังทยอยเข้ามาเป็นลำดับ..."

            และเสริมต่อว่า

            “ดังนั้น ภาคเอกชนจึงไม่จำเป็นต้องมีการจัดหามาเพิ่มเติม และจะได้ไม่เป็นภาระในเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งภาคเอกชนต่างก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อยู่แล้ว”

            เกิดอะไรขึ้น?

            เป็นไปได้ไหมว่ารัฐบาลเกิดกลัวว่าหากเอกชนไปจัดหาวัคซีนมาได้อีก 30 ล้านโดสตามที่เสนอมา จะทำให้ภาครัฐเสียหน้า

            หรือภาครัฐเป็นห่วงว่าถ้ารัฐหามาได้ 100 ล้านโดส และเอกชนหามาเพิ่มมากกว่านั้น จะทำอย่างไรกับวัคซีนที่ “เกินความต้องการ”

            หรือเป็นวิธีคิดเก่าๆ ที่ภาครัฐมักจะมีความระแวง สงสัยบทบาทของภาคเอกชนอย่างที่เป็นมาตลอด

            หรือนักการเมืองกับข้าราชการไม่ต้องการให้เอกชนมา “ทำเกินหน้า”

            หรือมันเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนซ่อนเร้นที่ประชาชนอย่างเรามองไม่เห็น

            เพราะหากกลับไปอ่านข้อสรุปของการประชุมออนไลน์ของซีอีโอ 40 คนเมื่อวันที่ 19 เมษายนนั้น มีข้อสรุปชัดเจนในการตั้งทีม D (ทีมที่ 4) ในประเด็นดังกล่าวอย่างนี้

            TEAM D: Extra Vaccine procurement

            ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน โดยจะไปสำรวจความต้องการฉีดวัคซีน ทางเลือกเพิ่มเติมเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลและทำให้เศรษฐกิจพื้นตัวได้เร็วมากขึ้น

            ทีมงานนี้นำโดย คุณกลินท์ สารสิน ประธานอาวุโสหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพานิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน

            ในที่ประชุม ภาคเอกชนประเมินว่ายังต้องการวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดสเพื่อให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ จากที่ปัจจุบันภาครัฐจัดหามาได้  63 ล้านโดส

            วัคซีนทางเลือกที่จะหารือกันนั้น ได้แก่

            1.ประเทศสหรัฐอเมริกา วัคซีน Johnson&Johnson,  Moderna และ Pfizer

            2.ประเทศจีน วัคซีน Sinopharm และ CanSino  Biologics

            3.ประเทศอินเดีย วัคซีน COVAXIN จากบริษัท Bharat Biotech และ

            4.ประเทศรัสเซีย วัคซีน Sputnik V

            โดยจากการประชุม ภาคเอกชนยินดีที่จะจ่ายค่าวัคซีนให้กับพนักงานของบริษัท รวมแล้วเกือบ 1 ล้านราย (จากการสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนเมื่อเดือนมีนาคม 2564) เพื่อแบ่งเบาภาระให้รัฐบาล

            5.CEO ทุกท่านพร้อมที่จะช่วยภาครัฐทั้งการกระจายวัคซีนที่ภาครัฐจัดซื้อมาให้เกิดประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด และพร้อมสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการเจรจาซื้อวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม ซึ่งหอการค้าไทยพร้อมที่จะเป็นตัวกลางในการ Connect the dots เพื่อเศรษฐกิจไทย โดยที่คนไทยทุกคนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือกันและกัน จะทำให้ประเทศไทยฝ่าวิกฤติ COVID-19 ไปได้แน่นอน

            การที่รัฐบาลปฏิเสธบทบาทของภาคเอกชนในการช่วยจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากที่ภาครัฐติดต่ออยู่นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ

            เพราะหากเป็น Team Thailand ที่แท้จริง จะต้องเป็นการทำงานอย่างบูรณาการกันเป็นทีมเดียวกัน ไม่แยกภาครัฐหรือภาคเอกชน ใครสามารถหาแหล่งวัคซีนได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี

            เพราะนั่นคือการเพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศไทยในตลาดวัคซีนโลกที่กำลังเป็น "ตลาดผู้ขาย" เพราะการแก่งแย่งกันอย่างรุนแรง

            แม้ที่ภาครัฐอ้างว่าสามารถจัดหาได้ครบ 100 ล้านโดสแล้ว ก็เป็นเพียงการ “รับปาก” จากแหล่งผู้ผลิตเท่านั้น ยังไม่สามารถระบุว่าจะส่งมอบได้ตามวันเวลาที่เราต้องการหรือไม่

            การที่เอกชนเสนอตัวไปวิ่งหามาอีก 30 ล้านโดส ย่อมเป็นการ “เติมให้เต็ม” มิใช่เป็นการ “แข่งขัน” กับภาครัฐแต่อย่างใด

            การที่ภาคเอกชนมาเสริมทางด้าน supply ย่อมทำให้ภาครัฐมีอำนาจต่อรองเรื่องการส่งมอบและราคามากกว่าการที่มีปริมาณวัคซีนที่ "คาดว่าจะได้” ในระดับ “ปริ่มน้ำ” เท่านั้น

            การบริหารวิกฤติต้องมีวิธีคิดแบบนักบริหาร มิใช่คิดอย่างนักการเมืองหรือข้าราชการ

            ในการบริหารวิกฤติ “อำนาจสั่งการ” ไม่อาจจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้หากขาดเสียซึ่ง “ประสิทธิภาพ”

            สิ่งที่เรียกว่า Team Thailand จึงเป็นเพียงเรื่องบนกระดาษที่ฟังดูดีเท่านั้น แต่มิได้เป็น “ทีมประเทศไทย” ในความหมายที่แท้จริงแต่อย่างใดเลย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"