นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ธปท. ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 3% ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นยอมรับว่าการระบาดรอบนี้จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ และตัวเลขจีดีพีคาดการณ์ที่ 3% อย่างแน่นอน โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า ก็จะมีการประเมินภาพเศรษฐกิจทั้งหมด และจะมีการปรับประมาณการทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ในแง่ของการระบาดและการแพร่เชื้อของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ถือว่าค่อนข้างรุนแรงกว่าในระลอกแรกและระลอกที่ 2 โดยยังต้องติดตามผลกระทบที่ถูกถ่ายทอดสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปก่อน แต่จากการประเมินเบื้องต้น จากการสำรวจข้อมูลเร็ว จะเห็นได้ว่าช่วงนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อย ๆ ลดลงมาใกล้ ๆ ระดับของการระบาดระลอกที่ 2 แต่ยังไม่ลงลึกเท่าระลอกแรก ดังนั้นอาจจะยังต้องติดตามดูสถานการณ์ต่อว่าการระบาดจะยังคงยืดเยื้อแค่ไหน และจะมีผลในแง่เศรษฐกิจระยะต่อไปอย่างไร
โดยจากการหารือกับผู้ประกอบการในหลายภาคอุตสาหกรรมเพื่อประเมินผลกระทบเบื้องต้น พบว่า ในภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเข้ามาต่อเนื่อง ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ผลกระทบเพิ่มเติมอาจจะยังไม่เยอะ แต่ยังมีความกังวลเรื่องอุปสงค์ในประเทศจะฟื้นตัวช้า ขณะที่ภาคการค้ามีผลกระทบต่อยอดขายค่อนข้างเยอะ ด้านภาคบริการต้องยอมรับว่าได้ผลกระทบเยอะมาก โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลที่กระชับและเข้มข้นมากขึ้น ส่วนภาคการขนส่งผู้โดยสารจะได้รับผลกระทบจากการที่คนออกจากบ้านน้อยลง
“ขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ชัดเจน เพราะรอบนี้เพิ่งเริ่มระบาดเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาแต่ในระยะต่อไปจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2564 ยังต้องรอดูภาพรวมจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติมที่รัฐบาลเตรียมออกมา เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 แน่นอนว่ามาตรการรองรับมีเพียงพอ แต่ต้องดูก่อนว่าจะออกมาในรูปแบบไหนและมากน้อยแค่ไหน” นางสาวชญาวดี กล่าว
นางสาวชญาวดี กล่าวอีกว่า ปีนี้พระเอกของเศรษฐกิจไทย คือ ภาคการส่งออก ซึ่งเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 4/2563 ตามทิศทางของเศรษฐกิจต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ก็มีผลทำให้เศรษฐกิจขยายตัวดี และได้ส่งผ่านผลดีมายังภาคส่งออกของทั้งโลกให้ดีขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าภาคการส่งออกจะเป็นแรงส่งที่ดีให้กับเศรษฐกิจไทยในปีนี้
ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อเดือน มี.ค. 2564 จะพบว่าภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 1 และ 2 การลงทุนต่าง ๆ การใช้จ่ายภาครัฐเริ่มดีขึ้น แต่ผลกระทบจากการระบาดระลอกล่าสุดนี้อาจทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 1-2/2564 สะดุดได้ ตัวที่ถูกกระทบคือการบริโภคจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หายไป นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดิมคาดว่าจะเข้ามาในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่การส่งออกยังเคลื่อนได้ การใช้จ่ายภาครัฐหากกระตุ้นเพิ่มก็มีส่วนในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ
“การบริโภคที่หายไป คาดว่าคงจะไม่ทั้งหมด แต่จะฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี ก็จะช่วยซับพอร์ตให้เศรษฐกิจปลายปียังไปได้ แต่ยังมีบางตัวที่สะดุดบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าต่อไปนี้จะมีการระบาดรุนแรงแบบนี้อีกหรือไม่ ถ้าไม่มีการระบาดรุนแรงอีกการเติบโตของเศรษฐกิจก็พอจะกลับมาได้ แต่ที่เห็นแน่ ๆ ว่าเป็นแรงส่งที่ดีของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คงเป็นการส่งออก” นางสาวชญาวดี กล่าว
สำหรับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ของ ธปท. ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการนั้น ถือว่ามาทันการณ์ และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ ส่วนมาตรการเพื่อช่วยเหลือรายย่อยจะมีการพิจารณาและทบทวน โดยต้องประเมินภาพเศรษฐกิจและผลกระที่เกิดขึ้น รวมถึงต้องดูถึงความพอเพียง และต้องหารือกับภาครัฐเพื่อประสานนโยบายให้ออกมาครอบคลุม ดังนั้นอาจต้องรออีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ในส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. 2564 ทยอยปรับดีขึ้น หลังการแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ และผลของฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนจากการแพร่ระบาดรอบแรก โดยการส่งออกยายตัวสูงที่ 15.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวทำให้การส่งออกปรับดีขึ้นในหลายหมวด ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้การส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น และฐานที่ต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนจากการแพร่ระบาดรอบแรก