ผู้นำภาคเอกชนพบนายกฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมาออกข่าวว่าร่วมมือกันตั้ง 4 ทีมขึ้นมาช่วยให้คนไทยได้รับวัคซีนให้ครบ 70% ของประชากรก่อนสิ้นปีนี้
เอกชนมีวิธีคิดและทำงานแบบ “มืออาชีพ” วิเคราะห์สถานการณ์ตามความเป็นจริง, ตั้งเป้า, วางกรอบเวลา, กำหนดผู้รับผิดชอบ, แสวงหาทรัพยากร, แบ่งแยกหน้าที่ชัดเจนและปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงระหว่างทาง
แนวคิดที่ว่าของภาคเอกชนคือการอาสามา Connect the Dots หรือช่วยเชื่อมต่อจุดต่างๆ เพื่อจะได้ทำงานกันอย่างเป็นเอกภาพ
จะได้เป็น Team Thailand ที่แท้จริง
ลองอ่านข้อสรุปของการประชุมวันนั้นในการ “ผนึกกำลังเป็น ทีมประเทศไทย”
คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย บอกว่า หอการค้าไทยได้รายงานความคืบหน้าการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีน และการวางระบบการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะใช้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่นำร่อง
รวมทั้งความร่วมมือต่างๆ กับภาคธุรกิจเอกชน ที่มีความคืบหน้าไปมากพอสมควร ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้รับทราบ
โดยภาครัฐยินดีให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม โดยทำงานเป็นทีมประเทศไทยด้วยกัน ทำงานคู่ขนานไปด้วยกัน
คุณสนั่นบอกว่านายกฯ ได้สั่งการตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะ ทั้งภาครัฐและหอการค้าไทย ถึงแผนการกระจายวัคซีน และวัคซีนทางเลือกของหอการค้าไทย รวมถึงการปรับกฎหมายต่างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนได้รวดเร็ว โดยมีความคืบหน้าดังนี้
TEAM Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน
• ระยะแรก ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่นำร่องเสนอ กทม. 66 แห่ง โดยผ่านการคัดเลือก 14 แห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ เหนือ 2 จุด กรุงเทพฯ ใต้ 4 จุด กรุงเทพฯ ตะวันออก 3 จุด กรุงธนฯ เหนือ 2 จุด และกรุงธนฯ ใต้ 3 จุด
ซึ่งจะมีทั้งสถานที่ที่เป็นศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งสถานที่ทั้ง 14 แห่งดังกล่าวจะรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วสามารถให้บริการได้วันละ 20,500 คน ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมการให้บริการของกรุงเทพมหานคร
• ระยะถัดไป จะหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ ตามชุมชน และบริษัทต่างๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยมีภาคเอกชนสนใจให้การสนับสนุนหลายแห่ง
• จะนำต้นแบบ (Best Practice) ของพื้นที่เอกชนร่วมกับกรุงเทพฯ กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการช่วยบริหารจัดการสถานที่ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
โดยภาครัฐได้ยินดีและขอบคุณที่ภาคเอกชนเข้ามาเสริม เพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลที่ต้องรับผู้ป่วยปกติด้วย โดยจะทำแผนงานร่วมกันทั่วทั้งประเทศ
TEAM Communication ทีมการสื่อสาร
• สนับสนุนการทำงานด้านการสื่อสารของภาครัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเน้นความสำคัญของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และอัปเดตข้อมูลที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลทางการของภาครัฐ
• ตั้งทีมคณะทำงาน ประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ 20 บริษัท เพื่อระดมทรัพยากรและช่องทางการสื่อสาร อาทิ LINE, Google, Facebook, VGI, CP และบริษัทอื่นๆ ยินดีให้การสนับสนุนด้านการสื่อสารอย่างเต็มกำลังทั้ง Online และ Offline
TEAM IT Operation ทีมเทคโนโลยีและระบบ
• เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียนและลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ในศูนย์ปฏิบัติการของภาคเอกชน โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน ได้มีการหารือถึง solution ที่ควรจะเป็น เพื่อลดขั้นตอนระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพ
• หลังจากการสำรวจพื้นที่ ศึกษา “หมอพร้อม” เบื้องต้น และทำความเข้าใจขั้นตอนการฉีดวัคซีน ได้ทำหน้าที่เสนอแนวทางการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ ตลอดจนการนำเสนอ Best Practice ต่างๆ มาเป็นข้อมูล และให้การสนับสนุนทีมอื่นๆ หลายบริษัทที่เสนอตัวว่ามี Application ในลักษณะที่น่าจะนำมาประยุกต์ได้ เช่น กลุ่มปาร์คนายเลิศ เป็นลักษณะการลงทะเบียนและการจองคิว ซึ่งสามารถเปลี่ยนจาก Web Application เป็น mobile app ได้ รวมถึงการเสนอตัวของ QueQ, Line Application และ Grab
TEAM Extra Vaccine procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม
• ทีมสำรวจความต้องการภาคเอกชนโดยทำแบบสอบถาม โดยให้บริษัทเอกชนแสดงความประสงค์ในการได้วัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ปัจจุบันมีผู้แจ้งความต้องการ 2,629 บริษัท จำนวนพนักงาน 921,817 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28/4/2564) ซึ่งจะนำส่งให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรวัคซีนต่อไป
• ทีมเจรจาวัคซีนทางเลือกเสริมจากภาครัฐ ภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนภาครัฐในการเร่งจัดหาวัคซีนทางเลือกให้ทันเวลา และพร้อมสนับสนุนภาครัฐให้สามารถบริหารจัดการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
“นอกจากแผนการกระจายวัคซีนที่ภาคเอกชนจะไปสนับสนุนภาครัฐนั้น เรายังได้มีการหารือถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไปอีกด้วย ทั้งเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ” นายสนั่นกล่าว
ทางหอการค้าฯ ได้เสนอแผนที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ได้ทดลองทำ Sandbox ของกลุ่มค้าปลีกและทางธนาคารมาแล้ว เพื่อให้ SMEs เข้าถึง Soft Loan โดยพร้อมที่จะขยายผลต่อไป นอกจากนั้นจะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการ HUG THAIS ฮักไทย Love Thais, Help Thais “รวมใจ ไทยไม่ทิ้งกัน” โดยกระตุ้นภาคเอกชนและภาคประชาชนในการอุดหนุนสินค้าไทยและธุรกิจของผู้ประกอบการคนไทย รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทางภาครัฐได้ให้ความมั่นใจว่าภาครัฐได้มีการเตรียมการช่วยเหลือ SMEs ไว้ ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, การทำสินเชื่อ Factoring, Soft Loan, พักทรัพย์พักหนี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งโครงการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งคืน และอีกหลายโครงการที่สามารถเสริมกันได้อย่างแน่นอน และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอภาคเอกชนเพื่อปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้สะดวก เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศในลำดับถัดไป
(พรุ่งนี้: อาการสะดุดของ Team Thailand).
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |