ตามรอย 80 ปีหนังไทย ‘พระเจ้าช้างเผือก’ ที่ตำบลป่าแดง จ.แพร่ (1)


เพิ่มเพื่อน    

ฉากสงครามในภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก  ถ่ายทำที่ตำบลป่าแดง  อ.เมือง จ.แพร่ (ภาพจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

 

          ‘พระเจ้าช้างเผือกหรือ The King of the White Elephant’ เป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างเมื่อปี 2483 โดยปรีดี  พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ตำแหน่งในขณะนั้น) และนำออกฉายในเดือนเมษายน 2484 ในประเทศไทย  อเมริกา  และสิงคโปร์  มีเป้าหมายเพื่อสื่อสารให้โลกตระหนักถึงหนทางแห่งสันติภาพ  เนื่องจากในขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังเริ่มต้น  โดยเยอรมันส่งกำลังทหารเข้ายึดครองโปแลนด์ในปี 2482  จากนั้นสงครามได้ขยายไปทั่วยุโรป  และกำลังลุกลามไปทั่วโลก

          แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จในแง่ชื่อเสียงและรายได้  เพราะฉายได้ไม่นานก็ถูกถอดออกจากโปรแกรม แถมยังถูกนักวิจารณ์ภาพยนตร์ต่างชาติสวดเสียย่อยยับในทำนองว่าเป็นผลงานของนักทำหนังสมัครเล่น  แต่พยายามจะพูดถึงเรื่องราวระดับมนุษยชาติ  

          อย่างไรก็ตาม ในปี 2538 องค์การ UNESCO ได้จัดงานเทศกาลฉลองครบรอบ 100 ปีของวงการภาพยนตร์โลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีภาพยนตร์ที่ทรงคุณค่าจากทั่วโลกได้รับการคัดเลือกให้ไปฉายโชว์ และหนึ่งในนั้นมีภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือกจากประเทศไทยด้วย

          ในปี 2554 หอภาพยนต์ (องค์การมหาชนด้ประกาศขึ้นทะเบียนให้พระเจ้าช้างเผือกเป็น มรดกภาพยนตร์ของชาติ

          ขณะที่ชาวบ้านสันกลาง ตำบลป่าแดง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ และมีปัญหาเรื่องสิทธิการครอบครองที่ดิน ใช้หลักฐานจาก พระเจ้าช้างเผือกยืนยันสิทธิชุมชนว่าชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนจะเป็นที่ดินรัฐ !!

 

สงครามและสันติภาพ

          ในปี 2482 สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังเริ่มต้นในยุโรป  โดยเยอรมันส่งกำลังทหารเข้ายึดโปแลนด์  ส่วนในประเทศไทยมีรัฐบาลที่นำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ยึดแนวทางลัทธิชาตินิยมแบบทหาร  ขณะที่ ปรีดี  พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ยึดแนวทางสันติภาพต่างจากจอมพล ป.

          ในปี 2483 ปรีดีแต่งนวนิยายเรื่อง พระเจ้าช้างเผือกเพื่อเผยแพร่แนวคิดเรื่องสันติภาพ  และต่อมาในปีเดียวกันนิยายเรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน  ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The King of the White Elephant’ โดยปรีดีเป็นผู้อำนวยการสร้าง นักแสดงและทีมงานสร้างเป็นคนไทยทั้งหมด  มีบทพูดเป็นภาษาอังกฤษตลอดทั้งเรื่อง มีเป้าหมายเพื่อสื่อสารแนวทางสันติภาพไปยังนานาชาติขณะที่สงครามโลกเริ่มคุกรุ่น 

 

หนังสือเรื่องพระเจ้าช้างเผือก  / ภาพจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

 

          ส่วนรัฐบาลจอมพล ป. เริ่มปลุกกระแสชาตินิยม สนับสนุนนักศึกษาและประชาชนให้เดินขบวนเพื่อเรียกร้องดินแดนอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศส  เช่น พระตะบองและเสียมราฐในเขมร  จำปาสักในลาว ในช่วงปลายปี 2483 ไทยเริ่มรบกับฝรั่งเศสบริเวณชายแดนเขมรและลาว  ต่อมาในเดือนมกราคม 2484  การสู้รบระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขยายข้ามพรมแดน  มีการสู้รบทางบก  ทางอากาศ  ในน่านน้ำแม่น้ำโขง  และทางทะเลชายแดนด้านจังหวัดตราด-เกาะกงของเขมร  หรือที่รู้จักกันในชื่อ ยุทธนาวีเกาะช้าง’  เรือรบไทยจมทะเล 3 ลำ  ฝรั่งเศสเสียหายเล็กน้อย

          ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรของเยอรมันเริ่มเปิดสงครามในเอเซียเพื่อตีโต้อังกฤษและสัมพันธมิตร ได้ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส  จนประสบผลสำเร็จ ไทยและฝรั่งเศสเจรจาตกลงหยุดยิงกันในช่วงปลายเดือนมกราคม 2484 

          อย่างไรก็ดี  ในวันที่ 8 ธันวาคมปีเดียวกัน  กองทัพญี่ปุ่นได้ส่งกำลังยกพลขึ้นบกตามชายทะเลภาคใต้ของไทย รวมทั้งที่สมุทรปราการ  เพื่อจะบุกไปตีอังกฤษในพม่าและอินเดีย  มีการปะทะกันระหว่างทหารญี่ปุ่นกับไทย  แต่น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ  จนในเวลาต่อมา  รัฐบาลไทยจำยอมให้ญี่ปุ่นยกพลข้ามประเทศ  และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรสงครามกับญี่ปุ่น

          ในวันเดียวกับที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในไทยนั้น ผู้รักชาติหลายคนได้มาพบกับปรีดีเพื่อร่วมกันก่อตั้ง องค์การต่อต้านญี่ปุ่นโดยให้ปรีดีเป็นหัวหน้า ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ขบวนการเสรีไทย ร่วมเคลื่อนไหวทั้งในและนอกประเทศร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น  อังกฤษและสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น 

          การสู้รบขยายวงไปทั่วโลกนานหลายปี จนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงใน  2 เมืองใหญ่ของญี่ปุ่น  สร้างความเสียหายยับเยิน  จึงนำไปสู่การยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน 2488

          เมื่อญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้  จอมพล . ต้องตกเป็นอาชญากรสงครามด้วย  แต่ประเทศไทยรอดพ้นไม่ต้องตกเป็นประเทศที่แพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น  อันเนื่องมาจากขบวนการเสรีไทยที่ได้เข้าร่วมต่อต้านญี่ปุ่นกับสัมพันธมิตรนั่นเอง

 

‘80 ปี  พระเจ้าช้างเผือก

          ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกนำออกฉายเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2484 พร้อมกัน 3 ประเทศ คือ ที่นิวยอร์ค  สหรัฐอเมริกา  สิงคโปร์  และประเทศไทยที่ศาลาเฉลิมกรุง  เมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน 2564 ภาพยนตร์เรื่องนี้มีอายุครบ 80 ปีบริบูรณ์

 

ปรีดี  พนมยง (ยืนกลาง) ขณะถ่ายทำหนังในปี 2483 ที่บ้านสันกลาง  ตำบลป่าแดง จ.แพร่  /ภาพจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

 

          เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก  กล่าวถึงกษัตริย์ 2 พระองค์  คือ พระเจ้าจักรา’ กษัตริย์ผู้ครอบครองอโยธยาเมื่อ 400 ปีก่อน  พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงธรรมราชา ไม่โปรดสาวงามในราชสำนัก  พระองค์ทรงอุทิศตนเพื่อราษฎร  ทรงกล้าหาญชาญชัยในการศึก  ขณะเดียวกันทรงรักสันติภาพ  บนแผ่นดินที่อุดมไปด้วยช้างเผือก  ราษฎรจึงขนานนามพระองค์ผู้เก่งกล้าว่า  พระเจ้าช้างเผือก

          อีกพระองค์ คือ พระเจ้าหงสาซึ่งเป็นทรราช มีจิตใจโหดเหี้ยมทารุณ  มักมากในกาม ส่งกองทัพบุกอาณาจักรอโยธยา เพราะพระเจ้าจักราไม่ยอมให้ช้างเผือกตามที่พระเจ้าหงสาต้องการ

          พระเจ้าจักรายกกองทัพไปเผชิญทัพหงสาที่นอกพระนคร เพราะไม่ต้องการให้ราษฎรเดือดร้อน  และได้ท้าทายให้กษัตริย์หงสาไสช้างออกมาต่อสู้กันตัวต่อตัวเพื่อไม่ให้ทหารต้องบาดเจ็บล้มตาย  ผลปรากฏว่า  พระเจ้าจักราได้รับชัยชนะ  และแทนที่จะจับทหารศัตรูเป็นเชลย พระองค์ทรงประกาศสันติภาพว่าอโยธยามิได้เป็นศัตรูกับชาวหงสา แต่เป็นศัตรูกับกษัตริย์หงสาที่โหดเหี้ยม  และปล่อยทหารหงสากลับไป

          โดม  สุขวงศ์  จากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในฐานะผู้หนึ่งที่มีส่วนอนุรักษ์และเชิดชูเกียรติภาพยนต์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก เสนอความเห็นในงานเขียนเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก : ช้างเผือกของหนังไทย ในเว็บไซต์สถาบันปรีดี  พนมยงค์  มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า

ภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการสื่อสารกับสหประชาชาติ  โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา  ทำให้ท่านผู้สร้างภาพยนตร์ได้รับการยอมรับ  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง  ภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบเสมือนหนังสือรับรองความเป็นผู้นำเสรีไทยของนายปรีดี  พนมยงค์  ดูเหมือนว่า เครื่องหมายเสรีไทยในประเทศไทย ก็คือรูปช้างเผือกกำลังทะยานไปข้างหน้า

          วันที่ 16 สิงหาคม พ.. 2488 นายปรีดี พนมยงค์  ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินลงนามประกาศสันติภาพไทย  ให้ถือว่าการประกาศสงครามที่รัฐบาลเคยประกาศมาก่อนหน้านี้เป็นโมฆะ   ทำให้ชาติไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงครามแต่ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือกได้ทำหน้าที่ประกาศสันติภาพดังกล่าวให้ไทยไว้ล่วงหน้าไปแล้ว

          (ดูภาพยนตร์เรื่องนี้และรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์หอภาพยนต์ https://www.fapot.or.th)

 

ตามรอยกองถ่ายพระเจ้าช้างเผือกที่ตำบลป่าแดง  .เมือง  จ.แพร่

          การถ่ายทำภาพพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกในช่วงปี 2483 ก่อนจะนำออกฉายเมื่อต้นเดือนเมษายน 2484 นั้น การถ่ายทำฉากท้องพระโรงส่วนใหญ่จะถ่ายในโรงถ่าย ไทยฟิลม์ที่กรุงเทพฯ และบริเวณพระบรมมหาราชวัง

          ส่วนฉากสำคัญคือการต่อสู้ระหว่างไพร่พลและกองทัพช้างของพระเจ้าหงสากับพระเจ้าจักราที่ต้องใช้ช้างนับร้อยเชือกเข้าฉากนั้น  ถ่ายทำที่ตำบลป่าแดง  อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดแพร่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งในขณะนั้นเป็นแหล่งทำไม้และชักลากซุงแห่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศจึงมีช้างมากมายให้นำมาเข้าฉาก

          พิสิษฐ์  ตาจา อายุ 52 ปี แกนนำพัฒนาในตำบลป่าแดง  อ.เมือง  จ.แพร่  ในฐานะผู้ที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน  เล่าว่า  ตำบลป่าแดงเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือก  โดยเฉพาะฉากสู้รบถ่ายที่  บ้านสันกลาง ห่างจากพระธาตุช่อแฮ  ปูชนียสถานสำคัญของเมืองแพร่ไม่ถึง 1 กิโลเมตร

          จากข้อมูลของหมู่บ้านบอกว่า บ้านสันกลางตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย  คือ แม่ก๋อนและ แม่สายจึงเรียกหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสายนี้ว่า บ้านสันกลาง บริเวณโดยรอบของแม่น้ำทั้ง 2 สายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์  มีภูเขาสูงที่เห็นได้ชัดเหมือนกับเป็นแลนด์มาร์คของตำบล  คือ ดอยช้างผาด่าน

 

พิสิษฐ์  ตาจา ชี้ให้ดูบริเวณทุ่งนาที่ใช้เป็นฉากสู้รบ  มองเห็นดอยช้างผาด่านอยู่ลิบๆ

 

          สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยให้สัมปทานทำไม้สักในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ก๋อนและแม่สายแก่บริษัทอีสต์ เอเซียติค บริษัทเอกชนจากประเทศเดนมาร์ก บริษัทได้ว่าจ้างให้พ่อเลี้ยงเมืองแพร่ชื่อ เจ้าโว้ง’  หรือ เจ้าวงศ์  แสนศิริพันธุ์ที่มีช้างประมาณ 200 เชือก  นำช้างมาชักลากไม้ซุงในป่าที่โค่นแล้วออกมากองรวมกันที่ปางไม้ที่ตั้งอยู่ใกล้พระธาตุช่อแฮ (ปัจจุบันคือที่ทำการเทศบาลตำบลช่อแฮ)

          จากนั้นจะใช้รถรางลากซุงไปลงแม่น้ำยมที่ไหลผ่านเมืองแพร่  แล้วล่องซุงไปตามแม่น้ำยมจนถึงปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์  ซึ่งเป็นชุมทางค้าไม้  ไม้ซุงที่ส่งออกไปต่างประเทศจะล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่กรุงเทพฯ และนำซุงขึ้นที่โกดัง-โรงเลื่อยของบริษัทอีสต์เอเซียติคริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านเจริญกรุง

          พิสิษฐ์ เล่าต่อว่า เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน  ตนได้ไปสอบถามข้อมูลเรื่องปัญหาที่ดินในตำบลป่าแดง  รวมทั้งถามคนเฒ่าคนแก่ในตำบลว่ามีใครเกิดทันหรือพอจะรู้เรื่องการถ่ายหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือกบ้าง  พบว่า ส่วนใหญ่คนที่อยู่ในสมัยนั้นเสียชีวิตไปหมดแล้ว  โดยเฉพาะคนที่เคยเข้าฉากเป็นทหาร  เป็นตัวประกอบ  เพราะหนังเข้ามาถ่ายที่ตำบลช่อแฮในปี 2483 นั้น  คนที่เข้าฉากหรือเล่นเป็นตัวประกอบส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ทำงานชักลากไม้ซุงกับเจ้าโว้งนั่นเอง และมีชาวบ้านในตำบลช่อแฮและใกล้เคียงประมาณ 100 คนเข้าฉากด้วย  แสดงเป็นลูกหาบและทหาร  และหากคนเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่ (ช่วงเก็บข้อมูลปี 2551) จะมีอายุไม่ต่ำกว่า 90 ปี  แต่ก็ไม่มีใครเหลือแล้ว

          “แต่ยังเหลือแม่เฒ่าปิ๋ว  ปลาลาส  ตอนที่เก็บข้อมูลช่วงนั้นประมาณปี 2551 แกอายุประมาณ 83 ปี (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วแกบอกว่า  ตอนนั้นแกไม่ได้เข้าฉากอะไรกับเขาหรอก เพราะเป็นเด็กเพิ่งจะโตเป็นสาว  อายุประมาณ 15 ปี แต่ได้ฟังจากผู้ใหญ่บอกว่า  คนที่ได้เล่นหนัง  ถ้าเป็นผู้ชายจะได้รับค่าจ้างวันละ 5 สตางค์  ถ้าเป็นผู้หญิงได้ 3 สตางค์ วินัยบอกความที่ได้จากการเก็บข้อมูลเมื่อ  10 ปีก่อน

 

แม่เฒ่าปิ๋ว  ปลาลาส  

 

          พิสิษฐ์ บอกด้วยว่า  คนรุ่นหลังๆ ในตำบลป่าแดงและช่อแฮ (เมื่อก่อนเป็นตำบลป่าแดง  แยกเป็นตำบลช่อแฮในปี 2535) ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือกนั้น  ส่วนใหญ่ไม่รู้ประวัติศาสตร์และความสำคัญของหนังเรื่องนี้หรอก  ตนก็เพิ่งจะได้ดูหนังเรื่องนี้ทาง Youtube  เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง  และรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นฉากการสู้รบ  และกองทัพช้างที่ถ่ายทำที่ตำบลป่าแดงก่อนที่ตนจะเกิด 

          “ที่จำแม่นก็คือ ฉากที่กองทัพหงสายกไพร่พลเข้ามาจะตีเมืองอโยธยานั้น ถ่ายทำในทุ่งนาบ้านกลาง จะเห็นดอยช้างผาด่านเป็นฉากหลังได้ชัดเจน (ประมาณนาทีที่ 43-44) และฉากที่ช้างลงเดินในลำน้ำก็คือน้ำแม่สาย ผมคิดว่าคนป่าแดงและช่อแฮควรจะภูมิใจว่าบ้านเราเป็นสถานที่ถ่ายทำหนังประวัติศาสตร์ของประเทศพิสิษฐ์ บอก  และว่า  ปัจจุบันดอยช้างผาด่านก็ยังดูโดดเด่นเหมือนเดิม  แต่ผืนนาที่เห็นในฉากการสู้รบนั้น  ปัจจุบันกลายเป็นบ้านเรือน  ร้านค้า  และเป็นร้านอาหารไปหมดแล้ว

 

ฉากการสู้รบในหนัง  ทัพหงสากำลังจะเข้าตีเมืองอโยธยา  เห็นคันนาบ้านสันกลาง  และดอยช้างผาด่านมุมบนซ้าย 

 

ดอยช้างผาด่านปัจจุบัน

 

เจ้าโว้งผู้กำกับโขลงช้าง

          ส่วนประวัติของ เจ้าวงศ์  แสนศิริพันธุ์หรือ เจ้าโว้งตามสำเนียงคนแพร่  เจ้าของช้างประมาณ 200 เชือกที่นำมาเข้าฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้  ได้รับเกียรติให้ขึ้นชื่อในไตเติ้ลร่วมกับนักแสดงและผู้กำกับคนอื่นๆ ว่าเป็น ผู้กำกับโขลงช้าง (Master of The Elephants) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดแพร่ในปี 2476 (การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475)  มีความสนิทสนมรู้จักกับปรีดี พนมยงค์มาก่อนที่จะมีการสร้างหนังพระเจ้าช้างเผือก

 

‘เจ้าโว้ง’ ภาพจาก https://th.wikipedia.org/

 

          เจ้าโว้งมีเชื้อสายเป็นทายาทของเจ้าผู้ครองนครเมืองแพร่  เรียนจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญ  กรุงเทพฯ  เคยทำงานกับบริษัทอีสต์เอเซียติคที่ได้รับสัมปทานทำไม้สักในภาคเหนือ ก่อนจะลาออกมาทำไม้สักเอง มีช้างมากมาย ต่อมาจึงได้รับการว่าจ้าง จากบริษัทอีสต์เอเซียติคให้มาชักลากไม้ที่ป่าแดง-ช่อแฮ  เมื่อปรีดีสร้างหนังพระเจ้าช้างเผือกในปี 2483 จึงนำช้างมาร่วมแสดง 

          ช่วงญี่ปุ่นบุกไทยในปี 2484  นั้น  เจ้าโว้งเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยสายปรีดี  พนมยงค์ด้วย โดยเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยจังหวัดแพร่  มีเรื่องเล่าว่า  ทหารอเมริกัน 3 คนที่กระโดดร่มลงมาเพื่อเป็นครูฝึกให้เสรีไทยที่ค่ายลับในเมืองแพร่นั้นกินอาหารเหนือไม่คล่องคอ  เจ้าโว้งจึงต้องจ้าง กุ๊กฝีมือดีมาทำอาหารฝรั่งให้ทหารอเมริกันกินจนอิ่มแปล้...

          ในปี 2513 เจ้าโว้งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  รวมอายุได้ 72 ปี......!!

 

(ติดตามตอนต่อไป...ปัญหาที่ดินบ้านสันกลาง  ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินมาช้านาน  แต่ถูกเพิกถอน ส..ใช้หลักฐานจากหนังเรื่องพระเจ้าช้างเผือกต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"