"ในหลวง-พระราชินี" พระราชทานเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่พร้อมระบบเอไอให้ 19 โรงพยาบาลสนาม ลดการเสียชีวิตจากโควิด "ศบค." เผยป่วยใหม่ยังพุ่ง 2,012 ราย เสียชีวิต 15 ราย "สธ." เปิดเแผนนำเข้าวัคซีน 37 ล้านโดส ฉีดคลุมคนไทย 70% "ผู้สูงอายุ-ป่วย 7 โรคเรื้อรัง" จองฉีด 1 พ.ค. "ศบค.ชุดเล็ก" นัดสรุปปรับโซนสีเพิ่มพื้นที่แดงเข้มข้น 29 เม.ย.นี้ ก่อนชงชุดใหญ่เคาะวันศุกร์ "วิษณุ" พร้อมแจงโอนอำนาจ กม. 31 ฉบับให้ "บิ๊กตู่" แก้โควิด "จุรินทร์" ชี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แค่ให้นายกฯ สั่งการครอบคลุม "ตร." ระบุจับไม่สวมแมสก์แล้ว 13 ราย พร้อมใช้ 191 ช่วยรับแจ้งป่วยโควิด
เมื่อวันที่ 28 เม.ย. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ (Portable X ray Digital) พร้อมระบบ Ai ที่พร้อมปฏิบัติงานภาคสนามให้แก่โรงพยาบาลสนาม จำนวน 19 แห่ง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นวงกว้างในขณะนี้ ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น และพบภาวะปอดอักเสบเป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจภาพรังสีปอดให้ทันท่วงที เพื่อคัดแยกผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาพยาบาลเร็วขึ้น ลดระยะเวลาในการรักษาพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19
ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ลดลง จะนำเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่พระราชทานนี้ไปใช้ และอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลแม่ข่าย และนำออกมาใช้งานในภาคสนามเมื่อมีภารกิจใหม่ต่อไป
โรงพยาบาลสนามจำนวน 19 แห่ง ที่ได้รับพระราชทานเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่พร้อมระบบ Ai ได้แก่ 1.โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ (โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ) 2.โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน (ส่วนโรงพยาบาลบางขุนเทียน) 3.โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน (ส่วนโรงพยาบาลลาดกระบัง)
4.โรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์ 5.โรงพยาบาลสนามเอราวัณ 1 บางบอน (โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์) 6.โรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 บางกอกอารีน่า หนองจอก (โรงพยาบาลเวชการุณรัศมิ์) 7.โรงพยาบาลสนามโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 8.โรงพยาบาลสนามสนามกีฬาจันทรุเบกษาดอนเมือง (โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช) 9.โรงพยาบาลสนามโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า
10.โรงพยาบาลสนามโรงพยาบาลชลบุรี (โรงพยาบาลชลบุรี) 11.โรงพยาบาลสนามศูนย์ห่วงใยคนสาคร (โรงพยาบาลสมุทรสาคร) 12.โรงพยาบาลสนามสนามกีฬา 700 ปี เชียงใหม่ (โรงพยาบาลนครพิงค์) 13.โรงพยาบาลสนามสนามกีฬาบางมด (โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์) 14.โรงพยาบาลสนามอาคารชาติชายฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา) 15.โรงพยาบาลสนามระยอง (โรงพยาบาลระยอง) 16.โรงพยาบาลสนาม ทอ. รร.การบินกำแพงแสน (โรงพยาบาลจันทรุเบกษา) 17.โรงพยาบาลสนามปากเกร็ด (โรงพยาบาลปากเกร็ด นนทบุรี) 18.โรงพยาบาลสนามขอนแก่น (โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น) และ 19.โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี)
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,012 ราย เป็นผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ 2,001 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,893 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 108 ราย นอกจากนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 61,699 ราย หายป่วยสะสม 34,402 ราย อยู่ระหว่างรักษา 27,119 ราย อาการหนัก 695 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 199 ราย
นอกจากนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 15 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 4 ราย ในจำนวนนี้อยู่ใน กทม.ถึง 9 ราย สาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อในครอบครัว 10 ราย รวมถึงมี 1 ราย เป็นการเสียชีวิตระหว่างรอคิวตรวจ 3 วัน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 178 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 149,328,858 ราย เสียชีวิตสะสม 3,148,781 ราย สำหรับ 5 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในวันที่ 28 เม.ย. ได้แก่ กทม. 830 ราย, สมุทรปราการ 161 ราย, ชลบุรี 108 ราย, นนทบุรี 71 ราย และสมุทรสาคร 59 ราย
ป่วยไม่หนักขออยู่ รพ.สนาม
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. หลังจากมีการออกมาตรการปิดสถานบันเทิง พบว่าแม้ตัวเลขลดลงบ้าง แต่ยังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ ซึ่งข้อมูลวันนี้มี 9 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ ขณะเดียวกันมีจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 1-10 ราย 35 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 11-50 ราย 25 จังหวัด, จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 51-100 ราย 5 จังหวัด และจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 100 รายขึ้นไป 3 จังหวัด ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ในรอบเดือน เม.ย. ข้อมูลถึงวันที่ 25 เม.ย. อันดับแรกคือ การสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า จำนวน 9,177 ราย หรือร้อยละ 44.3 ซึ่งเกิดจากความไม่ระมัดระวังตัว แยกกักตัวอย่างทันท่วงที เราจึงมีมาตรการออกมาเข้มข้น รองลงมาคือ สถานบันเทิง จำนวน 5,226 ราย อันดับสาม การค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,025 ราย
"การระบาดระลอกนี้แตกต่างจากคลัสเตอร์ จ.สมุทรสาคร ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ โดย 90% ต้องอยู่โรงพยาบาลสนาม แต่การระบาดระลอกนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มจำนวนแบบก้าวกระโดด ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้โรงพยาบาลสนามสามารถเปิดเพิ่มได้ แต่บางกรณี เช่น กทม.ไม่ตอบโจทย์ เพราะผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มมีอาการรุนแรงปานกลางไปจนถึงอาการหนัก บางส่วนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จึงต้องบริหารจัดการเตียงให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงขอความร่วมมือว่าหากไม่มีอาการรุนแรงขอร้องไปให้ใช้โรงพยาบาลหรือฮอสพิเทล เพื่อรักษาเตียงให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นจริงๆ" พญ.อภิสมัยกล่าว
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.?สาธารณสุข แถลงข่าวการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนว่า ในเดือน มิ.ย.นี้ จะมีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเข้ามา 6 ล้านโดส และเดือน ก.ค.อีก 10 ล้านโดส โดยกระทรวงจะเปิดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 16 ล้านคนลงทะเบียนฉีดวัคซีน จองผ่านไลน์ OA หมอพร้อม โดยตัวเลขทั้ง 16 ล้านคน กำลังทยอยเข้าสู่ระบบอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง คาดว่าประมาณ 5% เช่น บางส่วนข้อมูลตกหล่นในคลินิกเอกชนข้อมูลจึงยังไม่มีตรงนี้ หรือบางส่วนอาจจะยังไม่มีข้อมูลใน รพ. แต่ 5% นี้จะถูกแก้ไขให้นําเข้าข้อมูลอย่างครบถ้วน ส่วนประชาชนที่ไม่ได้อยู่ใน 16 ล้านโดส จะได้รับการจัดสรรในเดือนถัดๆ ไปจนครบการรับวัคซีนในเดือน ธ.ค.2564
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันว่าคนไทยทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างแน่นอนตามความสมัครใจ ซึ่งการจัดกลุ่มเป้าหมายจะมีการบริหารจัดการทั้งหมดแบ่งเป็น 5 กลุ่มด้วยกัน 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 1.2 ล้านคน 2.บุคลากรด่านหน้า 1.8 ล้านคน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะได้รับครบถ้วนภายในเดือน พ.ค.นี้ 3.บุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จำนวน 4.3 ล้านคนคือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง มะเร็งทุกชนิด เบาหวาน และโรคอ้วน 4.ผู้สูงอายุจำนวน 11.7 ล้านคน โดย 2 กลุ่มนี้รวม 16 ล้านคนที่จะได้รับวัคซีนในเดือน มิ.ย.-?ก.ค.นี้ และ 5.คนอายุ 18-59 ปี จำนวน 31 ล้านคนจะได้ฉีดในเดือน ส.ค.เป็นต้นไป โดยเปิดจองในวันที่ 1 ก.ค.นี้
ต่อมา นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค แถลงถึงแผนการจัดหาวัคซีนของประเทศไทยว่า แผนเดิมที่ได้จัดหาไว้แล้วรวม 63 ล้านโดส แต่หากจะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่จึงจำเป็นต้องฉีดให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร ซึ่งคนไทยมี 70 ล้านคน จึงต้องฉีดในจำนวน 50 ล้านคน โดยต้องใช้วัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนดำเนินการร่วมกันกับภาคเอกชน เพื่อช่วยกันหาวัคซีนเพิ่มอีก 37 ล้านโดส แบ่งเป็นการจัดหาของภาครัฐ 30 ล้านโดส โดยดูเทคโนโลยีวัคซีนอื่น ทั้งจากบริษัทไฟเซอร์ ชนิด mRNA วัคซีนสปุตนิก และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จะเป็นแพลตฟอร์มเดียวกันกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า อย่างไรก็ตาม จะต้องหาเพิ่มเติมเข้ามา เพื่อให้เรามีทางเลือกมากขึ้น ส่วนวัคซีนซิโนแวคก็จะมีการจัดหาเพิ่มเติมด้วย
จุรินทร์เข้าใจรวบอำนาจ
"ในส่วนการจัดหาวัคซีนของภาคเอกชนอีก 7 ล้านโดส ที่เอกชนยินดีสนับสนุนทั้งงบประมาณและการจัดหาเข้ามาเอง เพื่อฉีดให้กับบุคลากรของตน ได้แก่ วัคซีนโมเดอร์นา ชนิด mRNA วัคซีนซิโนฟาร์ม และอื่นๆ จะมีการนำมาขึ้นทะเบียนประเทศไทยในอนาคต ซึ่งตามแผนหากเราจัดหาเพิ่มได้ 37 ล้านโดส หาได้ตามที่กำหนดประมาณเดือน ต.ค. และขณะเดียวกันที่มีการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ในเดือน มิ.ย. เราก็จะสามารถฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรได้เลย" นพ.ทวีทรัพย์กล่าว
วันเดียวกัน มีรายงานจากที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.ชุดเล็ก แจ้งว่าในการประชุม ศบค.ชุดเล็ก ที่ประชุมได้หารือถึงข้อเสนอของ สธ.ที่ต้องการยกระดับมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น ได้แก่ การเพิ่มโซนสีจังหวัดคือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มข้น หรือสีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือสีแดง พื้นที่ควบคุมหรือสีส้ม เพราะเมื่อเพิ่มโซนสีแล้วจะทำให้การออกมาตรการเข้มข้นทำได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
"ที่ประชุมได้ให้แต่ละฝ่ายกลับไปพูดคุยรายละเอียดให้ครบถ้วนมากกว่านี้ เพื่อที่จะได้ออกคำสั่งและมาตรการที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ โดยในวันที่ 29 เม.ย. เวลา 09.00 น. จะมีการประชุมศบค.ชุดเล็ก เพื่อหาข้อสรุปนำเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในเวลา 14.00 น. ที่มีนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อสรุปผลการออกมาตรการและข้อกำหนดในกิจการกิจกรรมต่างๆ ต่อไป" แหล่งข่าวระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ศปก.สธ.) มีมติให้ยกระดับพื้นที่จังหวัดเป็น 3 ระดับนั้น ในส่วนของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สีแดงเข้ม มี 6 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, เชียงใหม่ และชลบุรี ส่วนพื้นที่ควบคุมสีส้ม มี 16 จังหวัด คือ แพร่, พะเยา, นครพนม, ตราด, สิงห์บุรี, อ่างทอง, ชัยนาท, อุทัยธานี, แม่ฮ่องสอน, พังงา, สตูล, น่าน, ยโสธร, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และบึงกาฬ พื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดง มี 55 จังหวัดที่เหลือ โดยจะมีการเสนอ ศบค.ต่อไป
สำหรับประกาศเรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ที่โอนอำนาจในกฎหมาย 31 ฉบับมาให้นายกฯ เพื่อแก้ไขปัญหาแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะชี้แจงรายละเอียดต่อที่ประชุม ศบค. วันที่ 29 เม.ย.นี้ เพื่อความเข้าใจในการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว
ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการโอนอำนาจให้นายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวสั่งการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงฟื้นฟู ช่วยเหลือ พ่วงกฎหมาย 31 ฉบับว่า เป็นเรื่องที่ได้มีการดำเนินการมาต่อเนื่องตั้งแต่เกิดปัญหาโควิด และวันนี้ก็ถือว่าเป็นคำสั่งที่ปรับปรุงแก้ไขคำสั่งเดิมที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มไปอีก 2 ฉบับในส่วนของกฎหมายเพื่อให้นายกฯ ดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเกณฑ์ทหารเพื่อให้ใช้อำนาจโดยสะดวก และเรื่องของวัคซีน จึงไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ และเห็นว่าหลักการทำงานร่วมกันในที่ประชุม ครม.ก็ถือว่าทำงานร่วมกันและเป็นรัฐบาลเดียวกัน
"ในฐานะที่ผมเป็นประธานมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ลงนามอนุมัติให้มีการจัดซื้อหน้ากากอนามัยจำนวน 1 ล้านชิ้น เพื่อให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มที่มีความจำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนบางส่วน โดยจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 1-2 วัน" นายจุรินทร์กล่าว
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. กล่าวถึงความคืบหน้าการบังคับใช้กฎหมายผู้ฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัยว่า 1-2 วันแรกมีการเอาผิดทั้งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุราษฎร์ธานี ตรัง ฯลฯ ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นการประชาสัมพันธ์ควบคู่กันไปด้วย
จับไม่สวมแมสก์แล้ว 13 ราย
ทั้งนี้ สำหรับผลการจับกุมผู้ฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัย ตามประกาศผู้ว่าฯ รวมจำนวน 13 ราย ประกอบด้วย บช.น. 1 ราย ในพื้นที่ สน.ดุสิต เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ดำเนินคดีนายกรัฐมนตรี ปรับ 6,000 บาท, ภ.1 จำนวน 2 ราย เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ส่งฟ้องศาลแขวงอยุธยา ปรับคนละ 2,000 บาท, ภ.2 จำนวน 2 ราย สภ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ปรับคนละ 6,000 บาท, ภ.4 จำนวน 6 ราย สภ.ธาตุพนม วันที่ 27 เม.ย. ปรับคนละ 6,000 บาท จำนวน 5 คน ส่วนอีก 1 คน อยู่ระหว่างฟ้องศาล, ภ.8 จำนวน 1 ราย สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี วันที่ 21 เม.ย. ส่งศาลแขวงสุราษฎร์ธานี ปรับ 2,000 บาท และ ภ.9 จำนวน 1 ราย สภ.เมืองปัตตานี วันที่ 26 เม.ย. ส่งศาลแขวงปัตตานี ปรับ 1,000 บาท
จากนั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. แถลงข่าวเปิดศูนย์ 191 เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด-19 ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานทางการแพทย์ โดยตำรวจเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ช่วยรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อแบ่งเบาภาระสายด่วน 1168, 1669, 1330 ของหน่วยงานทางการแพทย์ ซึ่งจะมี 1,200 คู่สาย มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ศาลยุติธรรมได้เริ่มรวบรวมสถิติคดีลักษณะดังกล่าวแล้ว นอกจากที่มีการฟ้องคดีและมีคำพิพากษาไปแล้วในส่วนของศาลแขวงสุราษฎร์ธานีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 1 คดี จำเลย 1 คน ล่าสุดตั้งแต่วันจันทร์ที่ 26 เม.ย. มีรายงานคดีเข้ามาอีกในศาลเขตพื้นที่ต่างๆ รวม 4 ศาล จำนวน 8 คดีด้วยกัน โดยมีศาลจังหวัดเวียงสระรายงานว่ามีฟ้องเข้ามา 1 คดี จำเลย 2 คน ศาลลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษ ให้กึ่งหนึ่งคงปรับ 1,000 บาท ต่อมาที่ศาลจังหวัดเวียงสระ มีฟ้องเข้ามาอีก 1 คดี จำเลย 1 คน ศาลลงโทษเท่ากันกับครั้งก่อน
นอกจากนี้ยังมีที่ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา ฟ้อง 2 คดี จำเลยคดีละ 1 คน รวม 2 คน ศาลลงโทษปรับจำเลยคนละ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 2,000 บาท ศาลจังหวัดยะลาฟ้อง 2 คดี จำเลยคดีละ 1 คน รวม 2 คน ศาลลงโทษปรับจำเลยคนละ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 2,000 บาท และศาลจังหวัดเบตงฟ้อง 2 คดี จำเลยคดีละ 1 คน รวม 2 คน ศาลลงโทษปรับจำเลยคนละ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 1,000 บาท
"การลงโทษที่มีข้อแตกต่างกันนั้น เนื่องจากผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งคดีของแต่ละคดี ซึ่งอาจมีรายละเอียดและความหนักเบาแห่งการกระทำความผิดที่แตกต่างกัน การลงโทษจึงเป็นไปได้ที่จะไม่เท่ากัน" โฆษกศาลยุติธรรมกล่าว
ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจราชการติดตามผลการดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุกให้แก่แรงงานกลุ่มเสี่ยง มีนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน นำเสนอข้อมูลการดำเนินงานของกระทรวงตามมาตรการป้องกันเชิงรุก เพื่อช่วยเหลือแรงงานและสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ได้ให้นโยบายเร่งด่วนมาตรการการคัดกรองและป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 เชิงรุกใน 5 จังหวัด ที่มีกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก ได้แก่ กทม., ปทุมธานี, นนทบุรี, ชลบุรี และเชียงใหม่ ให้เป็นไปตามมาตรการที่ สธ.กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้ประสานกับโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมในการเตรียมแผนรองรับผู้ประกันตนที่อาจติดโรคโควิด-19 นอกจากนั้นยังขอให้กระทรวงแรงงานเร่งช่วยเหลือคนทำงานและแรงงานนอกระบบที่อาจว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น พนักงาน Grab เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาทักษะฝีมือในรูปแบบที่เหมาะสม พร้อมทั้งได้กำชับให้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เร่งสร้างโรงพยาบาลรองรับเด็กที่ติดโควิด-19 เพิ่มเติมด้วย
ภายหลังการประชุม พล.อ.ประวิตรได้เป็นผู้แทนรัฐบาลมอบเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มเติม ให้แก่ตัวแทนลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนท์ จำกัด จ.สมุทรปราการ ที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 1,161 คน เป็นเงิน 21,465,350 บาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้างต่อไป
ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้วุฒิสภาได้จัดทำโครงการกองทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชน กรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อรับบริจาคเงินจากสมาชิกวุฒิสภา คนละ 10,000 บาท หรือตามจำนวนที่เห็นสมควร เพื่อนำไปให้ความช่วยเหลือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |