มาบตาพุดฮับอาเซียน


เพิ่มเพื่อน    

 

       แม้จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งโลก รวมถึงประเทศไทย หลายภาคอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก แต่สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออีอีซี ยังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง รัฐบาลยังเดินหน้า 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักของพื้นที่อีอีซีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน, โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา

            เพราะการลงทุนนี้คือความหวังว่าจะเป็นเครื่องกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตขึ้นมาได้ ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบต่างๆ และขณะนี้โครงการต่างๆ กำลังเร่งเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง มั่นใจทุกโครงการสามารถเปิดให้บริการตามแผน โดยเฉพาะโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมทุนกับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด นั้นมีความคืบหน้าอย่างมาก หลังได้รับใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำจากสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยองแล้ว ซึ่ง กนอ.จะเร่งเดินหน้าก่อสร้างโดยการจ้างบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด ผู้ร่วมทุนดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นลำดับแรก

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมานั้นจะเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายการบริหารงานของ กนอ. หลังจากที่ สมจิณณ์  พิลึก ได้เกษียณอายุไป จนล่าสุดได้ตัวผู้ว่าฯ คนใหม่คือ วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. ก็ไม่รอช้า เดินหน้าสานงานต่อทันที โดยเฉพาะ "โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3" ซึ่งท่านผู้ว่าฯ คนใหม่เห็นว่าโครงการนี้ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอีอีซี เป็นท่าเรืออุตสาหกรรมขนส่งก๊าซ และพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง

            ซึ่งมีพื้นที่โครงการรวม 1,000 ไร่ มูลค่าโครงการรวม 55,400 ล้านบาท กนอ.คาดว่าผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้จะทำให้ท่าเรือฯ มาบตาพุดเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำของอาเซียนสู่เศรษฐกิจนานาชาติ เป็นประตูการค้า (Gateway) เชื่อมโยงกับภูมิภาค และสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ทั้งอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve

            อีกทั้งยังมีความสามารถในการรองรับการนำเข้าก๊าซ LNG เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ นับว่าเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนอีอีซี รวมถึงยังคงเดินหน้าสนับสนุนนโยบาย LNG Hub ในภูมิภาคอาเซียน โดยรองรับสินค้าผ่านท่า (ปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติ) ได้เพิ่ม 15 ล้านตันต่อปี และยังเป็นพื้นที่ลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีติดอันดับ 1 ใน 5 ของภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมคอมเพล็กซ์มีจำนวน 5 นิคม ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ปัจจุบันมีโรงงาน 151 โรง จำนวนแรงงาน 30,000 คน มูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท

            แม้โครงการมาบตาพุดเฟส 3 จะเดินหน้าตามเป้าหมาย แต่ก็ต้องยอมรับถึงการอยู่ร่วมกับชุมชนรอบข้าง ซึ่งล่าสุดนั้น กนอ.ยอมรับโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ขณะนี้ได้ติดปัญหากับชุมชนในบางด้าน ซึ่งทำให้ล่าช้ากว่าแผนประมาณครึ่งเดือน โดย กนอ.จะเร่งเข้าไปเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีกับทุกฝ่าย และเร่งรัดงานให้เดินหน้าได้ตามที่กำหนด แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ เพราะต้องแก้ไขแบบโครงการเล็กน้อย และตามกฎหมายเมื่อมีการแก้ไขจะต้องแจ้งชุมชนในพื้นที่เพื่อให้รับทราบก่อน แต่ไม่ต้องถึงขั้นจัดการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใหม่

            ซึ่งขณะนี้ กนอ.กำลังศึกษาการตั้งกองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน แบ่งเป็น 2 กองทุน คือ 1.กองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉิน เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายในการเยียวยาความเสียหาย 2.กองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ผู้แทน กนอ. ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ดำเนินการถมทะเล และผู้แทนภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุน

            อย่างไรก็ตาม การสร้างโครงการขนาดใหญ่ย่อมมีผลกระทบและเสียงคัดค้านจากประชาชน แต่สิ่งสำคัญคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชนรอบๆ ข้างด้วยข้อมูลจริงและต้องจริงใจ.

 

บุญช่วย ค้ายาดี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"