28 เม.ย.2564 - ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์, พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย, พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น., พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รองผบช.สตม. และ พล.ต.ท.โสภณรัช สิงหจารุ แพทย์ใหญ่ (สบ. 8) แถลงข่าวเปิดศูนย์ 191 เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด-19 ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานทางการแพทย์
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า หลังรับคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ตำรวจเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ช่วยรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อแบ่งเบาภาระสายด่วน 1168, 1669, 1330 ของหน่วยงานทางการแพทย์ จึงได้มีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ศูนย์เอราวัณ จนได้ข้อสรุป พร้อมเปิดศูนย์ 191 วันนี้ทั่วประเทศ ให้สามารถรับแจ้งข้อมูลป่วยโควิด-19 ซึ่งจะมี 1,200 คู่สาย มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะใช้ระบบ Government Big Data institute (GDBi) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลฯ พัฒนาร่วมกันเพื่อเป็นตัวกลางในการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 อีกทั้งในนามของเหล่าทัพสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังจัดรถที่ดัดแปลงจากรถควบคุมผู้ต้องหา เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการประสานส่งตัวผู้ป่วยไปยังหน่วยงานทางการแพทย์ต่อไป
ด้าน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า หากในกรุงเทพฯมีผู้ป่วยโควิด-19 โทรมายังศูนย์ 191 (ศูนย์ผ่านฟ้า บช.น.) เจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลผู้แจ้งจากชุดคำถามที่กำหนดโดยกรมควบคุมโรค บันทึกข้อมูลลงระบบ GBDi จากนั้นระบบจะแจ้งไปยังศูนย์ 1668 และ 1669 ทันที ซึ่งเราได้มีการทดสอบระบบแล้ว สามารถเชื่อมข้อมูลกันได้อย่างดี หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ศูนย์ 191 จะวิทยุสื่อสารไปยังศูนย์เอราวัณ 1669 เพื่อจัดรถฉุกเฉินมารับตัวผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด หลังจากรับแจ้งเหตุ 30 นาที จะมีการ Call Back ไปยังผู้แจ้ง สอบถามสถานะรับตัวผู้ป่วยอีกครั้งว่าได้รับการบริการหรือยัง หากยังก็จะช่วยประสานอย่างใกล้ชิด สำหรับจังหวัดอื่น เจ้าหน้าที่ศูนย์ 191 จะประสานโดยตรงไปยังสาธารณสุขจังหวัดหรือหัวหน้าศูนย์ 1669 เพื่อส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย
สำหรับวิทยุสื่อสารนั้น จะใช้ระบบดิจิทัล หรือ PS-LTE เนื่องจากมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ซึ่งจะเป็นการรักษาความลับของผู้ป่วยและคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของผู้ป่วย อีกทั้งยังทราบพิกัดของผู้ใช้งาน และเปิดกล้องวีดีโอเหมือนโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อีกด้วย โดย ตร. ได้สนับสนุนเครื่องวิทยุ PS-LTE ให้กับ สพฉ.จำนวน 100 เครื่อง เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ระหว่างรถรับส่งผู้ป่วย และ ศูนย์ทั้ง 3 ศูนย์ (1668, 1669 และ 191) นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนรถยนต์จำนวน 5 คันพร้อมพลขับ เพื่อปฏิบัติภารกิจในการรับส่งผู้ป่วย
นอกจากนี้กรณีผู้ป่วยไม่ยินยอมเข้ารับการรักษาหรือกักตัวตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ จะมีตำรวจร่วมกับเจ้าพนักงานควบคุมโรค ไปชี้แจ้งทำความเข้าใจและเชิญตัวผู้ป่วย หรือผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ไปดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคต่อไป หรือหากผู้ป่วยเจตนาหลบเลี่ยงการติดต่อจากเจ้าพนักงานควบคุมโรค เช่น ปิดโทรศัพท์ หรือจงใจไม่รับโทรศัพท์ ตำรวจจะช่วยสนับสนุนในการสืบสวนหาตัวผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษา ตรงนี้อยากร้องขอให้ประชาชนเข้าใจว่า เมื่อท่านเป็นผู้ป่วย จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบายไปยังผู้อื่นต่อไป หากฝ่าฝืนอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34(1) มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
ด้าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 60 คู่สาย มีเจ้าหน้าที่ทำงาน 3 ผลัด ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับเมื่อวานนี้ (27 เมษายน) ได้ทดลองใช้เป็นวันแรก รับแจ้งเหตุ 10 เคส เป็นผู้ป่วยเป็นผู้หญิงหมด ซึ่งได้ประสานส่งต่อเพื่อไปรักษาทังหมดแล้ว
ขณะที่ พล.ต.อ.ปิยะ กล่าวว่า โรงพยาบาลตำรวจจัดเกณฑ์คัดกรองผู้ป่วยผู้ติดเชื้อ ไว้ 3 กลุ่มสี คือผู้ติดเชื้อรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษา ไอซียู จัดอยู่ในกลุ่มเป็นสีแดง ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการแต่ไม่รุนแรง จัดอยู่ในกลุ่มสีเหลือง และกลุ่มสุดท้ายเป็น ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการรุนแรง แต่มีผลตรวจเป็นบวก จัดเป็นกลุ่มสีเขียว โดยให้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนาม ส่วนการแบ่งกลุ่มตำรวจที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง ให้พิจารณาในการแยกกักตัวเพื่อสังเกตอาการ โดยให้แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดสถานที่ไว้รองรับการกักตัวของตำรวจแล้ว
พล.ต.ท.โสภณรัช กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลตำรวจรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในความดูแลจำนวนกว่า 500 คน อยู่ในโรงพยาบาลสนามชั่วคราว และหอพักผู้ป่วยในโรงพยาบาลตำรวจ โดยยังต้องรับดูแลในเรื่องของสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันยอมรับว่าบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจขาดแคลน เนื่องจากมีบางส่วนติดเชื้อไม่สามารถปฏิบัติงานได้ นอกจากนี้ ผบ.ตร.ยังอนุมัติให้จัดหาสถานที่เพื่อเปิดห้องไอซียูสนามเพิ่มเติมแล้ว
ด้าน พล.ต.ต.อาชยน กล่าวว่า ในเรื่องของการรับผิดชอบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยเฉพาะการเดินทางเข้ามาผ่านเข้าออกทางท่าอากาศยานฯ โดยบุคคลต่างชาติ ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการต่างประเทศ และผ่านการตรวจเชื้อไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง มีการทำประกันสุขภาพตามข้อกำหนดของกระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อเดินทางเข้ามาต้องกักตัว 14 วัน ตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกันนี้ยังเพิ่มความเข้มงวดป้องกันการลักลอบผ่านเข้าเมืองตามด่านฯ และช่องทางธรรมชาติรอบแนวชายแดนประเทศไทย โดยข้อมูลล่าสุดจนถึงวันนี้ จับผู้ลักลอบเข้าเมืองไปแล้วกว่า 3,000 กว่าคน ส่วนภาพรวมโรงพยาบาลสนามชั่วคราวของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ยังรับตัวผู้ต้องกักต่างด้าวที่ติดเชื้อ พักรักษาตัวจำนวน 318 คน และในอนาคตเตรียมเปิดรองรับให้ผู้ติดเชื้อคนไทยเข้ารับการรักษาได้ โดยสามารถรองรับได้ประมาณ 150 เตียง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |