'แก้วสรร' เปรียบเทียบการต่อสู้โควิด 'ไทย-อเมริกา' ในสถานการณ์กัปตันเรือไร้สมรรถภาพ


เพิ่มเพื่อน    

28 เม.ย.64 - นายแก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง "เปรียบเทียบการต่อสู้โควิด:ไทย-อเมริกา" ผ่าน www.thaipost.net โดยมีเนื้อหาดังนี้

คุณ NUUNEOI เป็นคนไทยในอเมริกา ได้เขียน “บันทึกการต่อสู้โควิดของสหรัฐอเมริกาตลอด ๑ ปี ฝากมาถึงรัฐและคนไทย”  ใน https://nuuneoi.com ผมได้อ่านแล้ว พบว่ามีสาระ ข้อสังเกต และข้อเสนอที่ดี ชี้ถึงวิธีคิดวิธีทำของอเมริกันในการจัดการโควิดได้ชัดเจน ควรแก่การพิจารณานำมาปรับใช้กับบ้านเราได้หลายจุด ดังจะขอนำเสนอข้อพิจารณาไปโดยลำดับดังนี้

๑.“การดูแลตัวเองได้” ของประชาชน

บันทึกนี้ชี้บ่งว่า การเข้าถึงการตรวจเชื้อโควิดได้ด้วยตนเองของประชาชน เป็นกุญแจสำคัญมากในระบบจัดการโควิด ที่ระบบอเมริกันเปิดการเข้าถึงไว้อย่างทั่วถึงและเพียงพอเป็นที่สุด เปิดเป็นบริการแบบจอดรถตรวจแล้วจรอยู่ทั่วไปราวกับร้านกาแฟสมัยใหม่ก็มี หรือตรวจที่คลินิคหมอหน้าปากซอยก็ได้ ซื้อชุดตรวจไปเก็บตัวอย่างแล้วส่งแล๊ปตรวจรอฟังผลก็ได้ ค่าใช้จ่ายก็มีคูปองของรัฐให้ไปตรวจฟรีได้ ๒ ครั้ง เกินกว่านั้นก็จ่ายเอง ไม่มีจำนวนจำกัดและต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลเท่านั้นเหมือนบ้านเรา

พอตรวจตัวเองได้สะดวกแล้ว ก็ตามด้วยการเปิดให้ผู้ติดเชื้อกักตัวอยู่กับบ้านได้ในกรณีที่ไม่แสดงอาการหรืออาการเล็กน้อยได้ โดยมีการประสานและรายงานข้อมูลกับหมอตลอดเวลา ต่อเมื่อวัดข้อมูลร่างกายแล้วพบว่าแย่ลงเมื่อใด( ต้องวัดปรอทเป็นระยะ หรือที่ญี่ปุ่นจะมีเครื่องมือหลักราคา ๓๐๐ บาทเพื่อตรวจออกซิเจนในเลือดด้วย ) ก็เรียกรถพยาบาลได้เลย ด้วยมาตรการอย่างนี้ เตียงในโรงพยาบาลอเมริกันจึงถูกสงวนไว้ใช้กับคนป่วยแสดงอาการจริงๆเท่านั้น คนติดเชื้อที่ไม่มีอาการก็ไม่ถูกต้อนไปนอนในโรงพยาบาลสนาม ไปนอนหรือรอคิวห้องน้ำไปวันๆ ไม่รู้จะทำอะไร เป็นพันเป็นหมื่นคนเหมือนบ้านเรา

ระบบดูแลตัวเองได้อย่างนี้ ทำให้คนอเมริกันเห็นโควิดเป็นโรคที่เจ็บป่วยกันได้ รักษาตัวเองได้เหมือนโรคทั่วไป ไม่แตกตื่นหวาดกลัว ไม่มีคนติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ที่รู้หรือไม่รู้ตัวหรือซุ่มซ่อนอยู่ในสังคม ขณะเดียวกันในแง่สถิติก็จะทำให้มียอดผู้ติดเชื้อ ที่แม้บางช่วงเวลาจะพุ่งทะยานน่ากลัว แต่ก็เป็นยอดที่ตรงกับความเป็นจริง และที่สำคัญเห็นกันแล้วก็ไม่ลุ้นหรือแตกตื่นอะไรกันมากมาย

๒.“เราชนะ”: ใครชนะ? ชนะใคร?

บันทึกจากอเมริกาฉบับนี้ชี้ข้อแตกต่างสำคัญอีกประการหนึ่งว่า ที่อเมริกาเขาไม่ตั้งเป้าว่า จะต้องกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เหลือเป็นเลขศูนย์ให้ได้เหมือนบ้านเรา ตัวเลขหลักของบ้านเขาอยู่ที่การควบคุมดูแล มิให้คนไข้ล้นเกินศักยภาพสถานพยาบาลเท่านั้น การตรวจหาไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อแล้วไล่ล่าหากลุ่มเสี่ยงมาจัดการเหมือนบ้านเรา แล้วยืดอกว่า “เราชนะ” จึงไม่มีอยู่ในบ้านเขา

ด้วยการตรวจและดูแลตัวเองได้ จนหมดเชื้อได้ บวกกับไม่มีการไล่ล่าหาเชื้อเช่นที่กล่าวมา ทำให้คนอเมริกันไม่มีทัศนะกล่าวโทษหรือสร้างผู้ติดเชื้อให้กลายเป็นคนบาป การซุกซ่อนหลบหนีจึงไม่มี ระบบข้อมูลและการดูแลก็เลยครอบคลุมคนติดเชื้อทั้งที่แสดงอาการเจ็บป่วยหรือไม่มีอาการได้อย่างกว้างขวาง เชื่อถือได้ ใช้เป็นฐานจัดการชุมชนได้ต่อไปจริงๆ

๓.มาตรการควบคุมป้องกันการติดเชื้อ

เมื่อพ้นยุคทรัมป์ไปแล้ว สังคมอเมริกันสามารถเข้าใจ ยอมรับ และวางมาตรการรักษาระยะห่างในสังคมได้ไม่ต่างจากประเทศอื่น ข้อกำหนดให้ทำงานอยู่ที่บ้านมีอยู่ทั่วไป เข้มข้นมากน้อยตามตัวเลขการระบาด แต่ก็ต่างจากบ้านเราตรงที่ทุกมาตรการที่เสนอขึ้นมานั้นจะยืดหยุ่นปรับตัวเป็นระยะ โดยการเข้มงวดหรือผ่อนปรนในแต่ละช่วง จะต้องแสดงตัวเลขทั้งผลได้เสียทางระบาดวิทยาเทียบกับผลได้เสียทางเศรษฐกิจ(เช่นอัตราการตกงานหรือว่างงาน) ให้ชัดเจนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจและอธิบายได้ทุกครั้งไป โดยมีการเฝ้าระวังดูแลปรับความได้สมดุลย์ของสองข้อมูลนี้ตลอดเวลา ทำให้มาตรการควบคุมป้องกันของเขา มีความเข้มงวดขึ้นๆลงๆ เป็นระยะไปตลอด

๔.วัคซีนคือเป้าหมาย

ท่ามกลางการเลี้ยงตัวเลขคนไข้โควิดในโรงพยาบาลและกดตัวเลขคนว่างงาน ให้อยู่ในระดับที่วัดได้ พออยู่กันได้นั้น เป้าหมายหรือชัยชนะระยะยาวที่ยอมรับและมุ่งมั่นกันจริงๆ ในอเมริกา คือวัคซีนป้องกันโควิด ที่ทุกฝ่ายในอเมริกาได้ทุ่มเทวางแผนมาแต่ต้นแล้ว ทั้งการพัฒนา การทดสอบ การจัดหา และการกระจายวัคซีน ครั้นพอมีความสำเร็จเกิดขึ้นก็ทุ่มเทจัดการอย่างเต็มที่ได้ในทันที

การไม่หลงใหลวางใจติดอยู่กับตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน แล้วประคองทั้งเศรษฐกิจและการควบคุมป้องกันโรคไปพลางๆ โดยผู้คนไม่แตกตื่นไล่ล่าใคร แล้วร่วมกันวางเป้าระยะยาวไปที่วัคซีน เพื่อเอาชนะไวรัสร้ายให้ได้เช่นนี้นี่เอง คือหัวใจของระบบควบคุมจัดการโควิดของอเมริกัน

สำหรับการเข้าถึงวัคซีนของคนอเมริกันนั้น ก็เปิดกว้างทั่วถึงเช่นเดียวกับการตรวจโควิด ผู้คนสามารถนัดหมายและไปลงมือฉีดได้โดยสะดวก มีสถานีฉีดได้ทั่วไปที่ซุปเปอร์มาร์เก้ตก็ได้ คลินิกก็ได้ ร้านขายยาก็ได้ ส่วนเจ้าภาพก็มีได้ทั้งรัฐบาล เทศบาล และเป็นบริการที่ขายโดยโรงพยาบาลเอกชน จนขณะนี้อเมริกาสามารถทำยอดฉีดวัคซีนโดยรวมได้ถึงวันละสามล้านโดสแล้ว ( ฝรั่งเศสทำได้สามแสนห้า/วัน ไทยพึ่งจะตั้งเป้าว้าที่ สามแสน/วัน )

๕.ข้อน่าสนใจจากระบบอเมริกัน

ท้ายบันทึกจากอเมริกาของคุณNUUNEOI มีข้อเสนอจากระบบอเมริกันที่ตรงกับทางตันของไทยในปัจจุบันอย่างสำคัญ ที่ผมขอสังเคราะห์หยิบยกมาให้พิจารณา เพียงสองข้อก่อนเท่านั้น คือ

ข้อแรก.ไทยเราควรจะเลิกเป้าหมายผู้ติดเชื้อเป็น“เลข0” แล้วปรับเป้าหมายมาให้ตรงกับความเป็นจริงที่จัดการได้หรือไม่ ทั้งการเปิดให้ประชาชนดูแลตัวเองได้เพื่อให้โรงพยาบาลทำงานได้ ถ้าใช่ มาตรการเปิดให้ผู้ติดเชื้อกักตัวอยู่กับบ้านหรือชุมชน ก็จะปรากฏตัวเป็นทางออกให้พิจารณา และตัดสินใจวางระบบจัดการโดยเร็วที่สุด ก่อนที่โรงพยาบาลไทยจะล้มครืนไปทั้งระบบในไม่ช้านี้

ข้อสอง. ไทยควรต้องปฏิวัติการเข้าถึงการตรวจโควิด และเข้าถึงวัคซีน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ด้วยตนเองโดยเจ้าภาพที่หลากหลายทั้ง รัฐบาล เทศบาล และภาคเอกชน หรือไม่ ถ้าใช่ รัฐบาลต้องเร่งคลายมือที่เฝ้าแต่กีดขวางหวงกันเสียแต่บัดนี้ ทั้งการตรวจและการจัดหาวัคซีน

๖. บทส่งท้าย

ผมเห็นว่าปัญหารากฐานจริงๆของบ้านเราในขณะนี้นั้น เป็นปัญหาทางความคิดว่า เรายังจะยอมเป็น “ลูก” ที่อ่อนแอ หวาดกลัว ฝากความหวังความเชื่ออนาคตทั้งมวลไว้กับฝ่ายรัฐ จนเป็นเสมือน “พ่อ” ของเราอยู่ต่อไปหรือไม่ คนอเมริกันตอบมานานแล้วว่าไม่ยอม วิธีคิดวิธีจัดการโควิดของเขาจึงไปอีกทางหนึ่ง

โควิด ๑๙ ระลอก ๓ คือจุดตายที่เราจะปฏิเสธหรือหลีกหนีคำถามนี้ไม่ได้อีกแล้วว่า เราจะลุกขึ้นมาดูแลตัวเองกันหรือไม่ การจมอยู่ในความหวั่นกลัวแล้วพร่ำแต่น้ำตาไหลสงสารคุณหมอและพยาบาลผู้เสียสละเช่นทุกวันนี้นั้น มันมีค่าไม่ต่างจากน้ำตาของเหยื่อที่ตัวสั่นเทาบนเรือไตตานิค แต่อย่างใดเลย

เส้นทางใหม่ เข็มทิศใหม่ ให้หลีกพ้นไม่ชนภูเขาน้ำแข็งจนอัปปาง นั่นต่างหากคือสิ่งที่เราต้องการ ส่วนกัปตันเรือจะไร้สมรรถภาพ ปากร้าย แสดงอำนาจ ใช้วาจาบลัฟฟ์คนอื่นอยู่ตลอดเวลาราวกับเม่นเดินพองขนทั้งวันนั้น ก็อย่าไปโจมตีติเตียน คิดจะถีบแกให้ตกทะเลเลยครับ

เรื่องมันต้องเปลี่ยนที่วิธีคิดวิธีทำให้ได้ก่อน แล้วการเปลี่ยนตัวกัปตันก็จะต้องตามมาเองในที่สุด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"