วันที่ 28 เม.ย. 2564 - ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะอาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มหาวิทยาลัยรามคำแหง โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมาย ถึงมาตรการบังคับให้ใส่หน้ากากเมื่อออกจากบ้านกับหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ หลายจังหวัดออกมาตรการบังคับให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากที่พักอาศัยหรือเคหสถาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ผมเชื่อว่า ประชาชนทุกคนเห็นด้วย และเข้าใจในเจตนารมณ์ของการออกมาตรการบังคับเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากยังคงมีประเด็นข้อสงสัยตามมาหลายอย่างจากมาตรการบังคับให้ต้องสวมหน้ากากอนามัย ที่ยังขาดความชัดเจน คือ
1.หากอยู่ในสถานที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นของเอกชน และของหน่วยงานรัฐ ที่เป็นพื้นที่ปิดที่ไม่ต้องให้บริการบุคคลหรือประชาชน และไม่มีบุคคลหรือประชาชนเดินทางมาติดต่อหรือขอรับบริการเป็นปกติธุระ บุคคลที่ทำงานในสถานที่ดังกล่าวนี้จะถูกบังคับตามมาตรการดังกล่าวให้ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ในสถานที่ทำงานหรือไม่
2.หากนั่งรถยนต์ส่วนบุคคลไปกับบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งปกติเวลาอยู่ในที่พักอาศัยด้วยกันก็ไม่ได้สวมหน้ากาก จะต้องสวมหน้ากากขณะนั่งอยู่ในรถที่ปิดกระจกมิดชิดทุกบานตลอดเวลาหรือไม่ และหากถูกบังคับให้ต้องสวมหน้ากาก จะขัดกับสภาพตามความเป็นจริงที่ปกติแล้วก็ไม่ได้ใส่หน้ากากขณะอยู่ด้วยกันหรือไม่ เช่น พ่อ แม่ ลูก เมื่ออยู่ที่บ้านก็ไม่ได้สวมหน้ากาก แต่พอจะนั่งรถออกจากบ้านไปด้วยกันต้องถูกบังคับให้สวมหน้ากากขณะอยู่ในรถ
ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ มีความเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจึงควรออกประกาศกำหนดให้ชัดเจนว่า หากประชาชนออกมานอกเคหสถานหรือที่พักอาศัยแล้ว จะต้องสวมหน้ากากในสถานที่ใดบ้าง ซึ่งน่าจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมายมีความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายด้วย และทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ลักลั่นแตกต่างกัน ลำพังเพียงการออกมาชี้แจงให้ข่าวของหน่วยงานรัฐนั้น ๆ อาจจะยังไม่ได้ทำให้มาตรการบังคับสวมหน้ากากและการบังคับใช้กฎหมายมีความชัดเจนเพียงพอได้
ตัวอย่างเช่น ในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีการออกมาตรการบังคับให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากเมื่อออกจากที่พักอาศัย ได้ประกาศกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อประชาชนออกจากที่พักอาศัยจะต้องสวมหน้ากากในสถานที่ใดบ้าง โดยกำหนดให้ประชาชนจะต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาในสถานที่ทำงานทั้งของรัฐและเอกชน และขณะอยู่ในระบบขนส่งสาธารณะหรือที่สาธารณะที่เป็นอาคาร หรือเป็นสถานที่ปิด หากฝ่าฝืนมีโทษปรับตามกฎหมาย เป็นต้น แต่ไม่ได้กำหนดให้บุคคลที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันต้องสวมหน้ากากขณะนั่งอยู่ในรถยนต์ส่วนบุคคลด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบัญญัติกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ก้าวล่วงเข้าไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน ต้องมีความชัดเจนแน่นอนเพียงพอที่จะทำให้ผู้ถูกบังคับใช้สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า การกระทำใดที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายและมีโทษทางอาญา เพื่อที่ตนจะได้ไม่กระทำการนั้น
ปัญหาคือมาตรการทางกฎหมายที่บังคับให้สวมหน้ากากดังกล่าวมีความชัดเจนแน่นอนแล้วหรือไหมเพียงใด?
นอกจากนี้ การที่หน่วยงานของรัฐประกาศมาตรการบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าขณะออกจากเคหสถานหรือที่พักอาศัย ควรต้องพิจารณาถึงแนวความคิดพื้นฐานของหลักนิติธรรม ที่นอกจากจะจำกัดการใช้อำนาจของรัฐที่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามอำเภอใจ และกฎหมายที่บังคับใช้จะต้องมีเนื้อหาสาระที่เป็นธรรมแล้ว ยังมุ่งให้ความสำคัญว่า กฎหมายที่บังคับใช้ต้องมีความแน่นอนชัดเจน และสามารถปฏิบัติตามได้ตามความเป็นจริง เพื่อให้มีความสอดคล้องและสัมพันธ์ระหว่างการบังคับใช้กฎหมายกับชีวิตประจำวันของประชาชน และเพื่อให้ประชาชนอยู่ในวิสัยที่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ด้วย
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม และรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ
ดังนั้น หากหน่วยงานของรัฐประสงค์จะบังคับหรือออกมาตรการบังคับให้บุคคลในครอบครัวเดียวกันเมื่อนั่งอยู่ในรถยนต์ส่วนบุคคลที่ปิดกระจกมิดชิดทุกบานจะต้องสวมหน้ากากด้วย ควรพิจารณาด้วยว่ามาตรการดังกล่าวสามารถปฏิบัติได้ตามความเป็นจริง และมีความสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนหรือไม่ อีกทั้งต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งคงจะพิจารณาจากความสะดวกของเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวขัดกับหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |