ไวรัสโควิด-19 ยังแรง ดับรายวันทำสถิติใหม่ 15 ราย ติดเชื้อ 2,179 ราย สะสมใกล้ 6 หมื่นรายแล้ว ระบุผู้ป่วยใน กทม.น่าห่วง อาจกลบสถานการณ์ทั้งประเทศ “บิ๊กตู่” ลั่นรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจแก้ปัญหา ทั้งเรื่องเยียวยา-วัคซีน ชี้เวลานี้ไม่ควรใช้ความเกลียดชังมาทำร้ายกัน แต่ควรเป็นเวลาแห่งความรัก-ความสามัคคี สถาบันวัคซีนฯ ตั้งโต๊ะแจง ปัดข่าวไฟเซอร์มั่วนิ่มตั้งแต่เสนอขาย 13 ล้านโดส-ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง แจงกรณีสาว 23 ปีฉีดซิโนแวคดับยังต้องรอผลชันสูตรให้ชัดเจนอีกครั้ง “ทำเนียบฯ-กองทัพ” ผวาหนักห้ามสื่อเข้าพื้นที่ยาว
เมื่อวันอังคารที่ 27 เมษายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของไทยว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,179 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,174 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,149 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 25 ราย และเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 59,687 ราย หายป่วยสะสม 33,551 ราย อยู่ระหว่างรักษา 25,973 ราย อาการหนัก 628 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 169 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 15 ราย เป็นผู้ชาย 9 ราย ผู้หญิง 6 ราย ช่วงอายุระหว่าง 24-88 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน และไปสถานที่เสี่ยง ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 163 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อ 5 อันดับแรกของวันที่ 27 เม.ย. ได้แก่ กทม. 993 ราย, นนทบุรี 149 ราย, สมุทรปราการ 93 ราย, ปทุมธานี 93 ราย และชลบุรี 80 ราย ซึ่งที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (อีโอซี) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปลัด สธ.ได้ชี้แจงภาพรวมการติดเชื้อว่า การติดเชื้อใน กทม.อาจกลบสถานการณ์ติดเชื้อของทั้งประเทศ เพราะจากข้อมูลแล้วมีจังหวัดที่มีตัวเลขการติดเชื้อเกิน 2 หลักเพียง 25 จังหวัด และมีเพียง 7 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 50 ราย ขณะที่อีกกว่า 50 จังหวัดมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพียง 1 หลักเท่านั้น จึงขอขอบคุณประชาชนที่ร่วมมือกัน
“ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนในไทย ขณะนี้มีผู้ฉีดเข็มแรกแล้ว 1,012,388 ราย ฉีดเข็มที่สองแล้ว 214,644 เฉพาะวันที่ 26 เม.ย. มีผู้ฉีดวัคซีนกว่า 7 หมื่นโดส” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
เมื่อถามถึงการแก้ปัญหาเรื่องการจัดหาเตียงที่สายด่วนต่างๆ ประชาชนติดต่อได้ยาก นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ข้อมูลวันที่ 25 เม.ย. มีการจัดหาเตียงให้ผู้ที่โทรศัพท์เข้ามายังสายด่วนต่างๆ ทุกระบบเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ทั้งสิ้น 1,182 ราย และอยู่ระหว่างรอเตียง 201 ราย วันเดียวสามารถหาเตียงได้เป็นหลักพัน ซึ่งมาจากการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยใครที่ยังไม่ได้เตียงขอให้ประสานมา เราจะดูแลให้ดีที่สุด
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงเรื่องวัคซีนว่า จากการทำงานเร่งรัดของ สธ.และรัฐบาล ซึ่งได้ติดต่อระหว่างรัฐบาลต่างประเทศ และขณะเดียวกันก็รับการติดต่อในการขอซื้อวัคซีนจากบริษัทด้วย ดังนั้นเมื่อบริษัทสามารถจัดส่งได้ตามที่เราต้องการ ก็ต้องไปขออนุญาตรัฐบาลประเทศตนเอง เพราะเป็นการควบคุมของรัฐบาลแต่ละประเทศในการนำเข้าหรือส่งออกเช่นเดียวกัน เราไม่ได้ปิดกั้นใคร แต่ต้องหาช่องทางที่ดำเนินการร่วมกันได้ ในหลักการสำคัญคือรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่างในเรื่องผลกระทบข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน
ลั่นไม่เคยนิ่งนอนใจ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ประเด็นการฉีดวัคซีนก็เช่นเดียวกัน วันนี้พยายามติดต่อ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศติดต่อกับรัฐบาล ฝ่ายภาคธุรกิจเอกชนก็ติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตทั้งหมดเป็นมาตรการสำคัญ ถ้าทำได้ก็จะได้วัคซีนเพิ่มขึ้น ขณะที่วันนี้เราก็ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสไปแล้วเกือบ 2 แสนคน ที่เหลือก็ฉีดไปมากกว่า 1 ล้านโดส และจะรีบดำเนินการต่อไปให้เร็วที่สุดตามปริมาณวัคซีนที่มีอยู่ และถ้าได้มากขึ้นจะกระจายวัคซีนของรัฐไปยังสถานพยาบาลเอกชนให้ช่วยฉีดด้วย เราตั้งเป้าเรื่องนี้ว่าจะหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส เพื่อฉีดคนไทย 50 ล้านคนภายในปี 2564 และในวันที่ 28 เม.ย. จะรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชนต่างๆ
“ไม่ใช่เรานิ่งนอนใจ เราทำงานเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ปัญหาสำคัญประเทศของเขา รัฐของเขา บริษัทของเขา วันนี้วัคซีนก็เป็นสินค้าที่ถูกแย่งกันในทุกภูมิภาค การติดต่อบางประเทศที่เขามีเหลืออยู่จะทำอย่างไร เราจะขอความร่วมมือได้หรือไม่ ก็ต้องประสานรัฐบาล ผมคิดว่าทุกคนทำงานเต็มขีดความสามารถแล้ว บูรณาการทางการแพทย์ทั้งหมด ผมได้เน้นย้ำไปแล้ว ให้ติดตามเรื่องเหล่านี้ และกำชับให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งผมได้หารือกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุขแล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า ในการประชุม ครม.มีการออกมาตรการป้องกันบรรเทาความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงด้านเศรษฐกิจเพิ่มเติม 2 อย่างคู่ขนานกันไป โดย ครม.อนุมัติร่างประกาศขยายเวลาและยกเว้นภาษีขาเข้า สำหรับของที่นำมาใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคโควิด-19 ออกไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 1 มี.ค.2565 และอีกเรื่องคือประชาชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลจากการติดเชื้อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น การฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการข้างเคียง การดูแลค่ายานพาหนะส่งต่อผู้ป่วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณียอดผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มสูงขึ้นถึง 15 ราย ซึ่งประชาชนกังวลว่าจะยังมีผู้ป่วยตกค้าง ไม่ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้ก็เป็นห่วง ซึ่งประชาชนอาจมีความกังวลว่าคนเหล่านี้ได้รับการติดเชื้อจะได้รับการรักษาตัวหรือไม่ ถึงมือแพทย์หรือไม่ และวันนี้รัฐบาลมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร โดยได้สั่งการให้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้โดยผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่นอกโรงพยาบาลประมาณ 1,400 คน วันนี้ได้รับการแอดมิตแล้ว ซึ่งใช้เวลาเพียง 3 วัน
“ผมต้องขอความร่วมมือกลุ่มแพทย์ต่างๆ ให้เข้าใจว่าเราบริหารราชการกันอย่างไร เราน่าจะส่งเสริมกันมากกว่าที่จะมาขัดแย้งกัน ผมเคารพทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นหมอจากที่ไหนก็ตาม ไม่เช่นนั้นจะทำให้เราถูกมองว่าเราบริหารไม่ได้หรืออย่างไร ผมยืนยันว่าบริหารได้ทุกอย่าง เวลานี้ไม่มีปัญหาอะไรในกระทรวงสาธารณสุขทั้งสิ้น”
เมื่อถามว่า กรณีผู้ป่วยที่เป็นสีเขียวจำนวนมากไม่ได้ถูกส่งตัวไปที่ รพ.สนาม ทั้งที่มีเตียงว่างอยู่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ขอให้ติดต่อมา เพราะต้องคัดกรองให้แน่ใจว่าอยู่ในเกณฑ์สีเขียว และจะนำเข้า รพ.สนาม บางครั้งก็ขอให้ติดต่อสอบถามทางออนไลน์ เนื่องจากการติดต่อทางโทรศัพท์อาจยังไม่ทั่วถึง ส่วนกรณีรถที่รับ-ส่งผู้ป่วยไม่พอนั้น ก็ได้สั่งการเพิ่มเติมไปแล้ว ก็ต้องขอขอบคุณภาคธุรกิจ ภาคขนส่ง ที่ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องสายด่วนไม่พอ รถไม่พอ
"ทุกปัญหานำสู่การแก้ไข ทุกปัญหานำสู่การพิจารณาหารือ ทุกปัญหารับพิจารณาดำเนินการ ทำแบบนี้ ส่วนเรื่องของความผิดต่างๆ ที่เกิดในช่วงที่ผ่านมา ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการสอบสวนทั้งสิ้น การประกอบการธุรกิจอะไรก็แล้วแต่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
อย่าใช้ความเกลียดในช่วงนี้
เมื่อถามว่า กรณีการระบาดโควิด-19 ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งมีการกลายพันธุ์รุนแรงจะมีมาตรการป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอให้กำลังใจเขา ทุกประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวัน เราต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เรารังเกียจรังงอนไม่ได้ เพราะทุกคนอยู่ในโลกใบเดียวกัน ภูมิภาคเดียวกัน แต่เราต้องมีมาตรการเฉพาะ ขอยืนยันว่าเรามีมาตรการรับความเสี่ยงตรงนี้อยู่แล้ว เราระงับเป็นการชั่วคราว และเกณฑ์การกักตัวเราก็ต้องระมัดระวังอย่างที่สุด การบริหารสถานการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เพราะต้องเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ไม่อยากให้ใครบนโลกใบนี้ป่วย ก็อยู่ที่พวกเราทุกคนต้องเข้าใจกัน อย่าใช้ความเกลียด ความไม่ชอบเป็นการส่วนตัวออกมาทำร้ายซึ่งกันและกัน วันนี้ไม่ใช่เวลา เป็นเวลาแห่งความรัก ความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ เราจะชนะไปด้วยกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าว ระหว่างที่นายกฯเดินกลับไปห้องทำงานที่ตึกไทยคู่ฟ้า ผู้สื่อข่าวถามว่าได้พูดคุยและให้กำลังใจนายอนุทินภายหลังถูกกดดันอย่างหนักอย่างไรบ้าง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบคำถามเพียงแต่พยักหน้า เมื่อถามอีกว่า ส่วนตัวนายกฯ เองรู้สึกกดดันหรือไม่ เพราะสังคมก็กดดันนายกฯเช่นกัน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบคำถามดังกล่าว ได้แต่ทำหน้านิ่ง
ขณะที่นายอนุชา? บูรพชัยศรี? โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุม ครม.ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศเรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) โดยให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯ เป็นการชั่วคราวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31 ฉบับ เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.ยา, พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, พ.ร.บ.จราจรทางบก, พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
เมื่อถามว่า ประกาศฉบับนี้รัฐมนตรีไม่สามารถอนุมัติหรืออนุญาตได้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้ง 31 ฉบับในประกาศใช่หรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า สามารถดำเนินการได้? เพียงแต่ว่านายกฯ อาจมีคำสั่งเฉพาะเรื่องที่สามารถสั่งการได้โดยตรง จากเดิมที่ต้องสั่งการไปยังรัฐมนตรีก่อน? ขอยืนยันว่าไม่ได้ไปยึดอำนาจรัฐมนตรี แต่เป็นเหมือนให้อำนาจนายกฯ สั่งการได้ด้วย
นายอนุชายังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน 321,604,000 บาท ในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มเติม 5 แสนโดส จากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัดด้วย
ส่วน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ฉบับที่ 3) โดยมีสาระสำคัญการเพิ่มค่าพาหนะส่งต่อผู้ป่วยกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 เช่น ค่ารถยนต์ส่งต่อผู้ป่วยระยะทางไม่เกิน 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยตามจริงไม่เกิน 500 บาท ระยะทางไปกลับมากกว่า 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยเริ่มต้น 500 บาท และจ่ายชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท รวมทั้งค่าชดเชยทั้งทางเรือและทางอากาศ รวมถึงค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาท
แจงยิบวัคซีนไฟเซอร์
ส่วนนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ได้สั่งการไปยัง พศ.ให้ประสานและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งขอความร่วมมือวัดทั่วประเทศอย่าปฏิเสธการประกอบพิธีฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แต่ขอให้ใช้ความระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ หลังมีกระแสข่าวอย่างมากว่าวัดปฏิเสธ
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงกรณีมีข่าวลือเกี่ยวกับการเจรจาจองซื้อวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ โดยระบุว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลกับบริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย แล้วพบว่า 1.กรณีที่ระบุว่าไฟเซอร์เคยเสนอขายวัคซีนให้ไทย 13 ล้านโดสนั้นไม่เป็นความจริง ตัวเลข 13 ล้านโดสเป็นตัวเลขที่ไฟเซอร์ประเทศไทยใช้นำเสนอบริษัทแม่เพื่อเตรียมหารือกับ สธ. ไม่ใช่จำนวนที่เสนอขายให้กับไทย ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเกิดจากการประมาณการของบริษัท โดยอ้างอิงจำนวนจากแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เดิมในปี 2563 ที่เคยตั้งไว้ว่าจะจัดซื้อวัคซีนแบบทวิภาคีคิดเป็น 10% ของจำนวนประชากร หรือประมาณ 6.5 ล้านคน ฉีดคนละ 2 โดส จึงรวมประมาณ 13 ล้านโดส
นพ.นครกล่าวว่า 2.กรณีระบุว่าการซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์ไม่ต้องใช้เงินซื้อมีวัคซีนให้ใช้ก่อนค่อยจ่ายทีหลังนั้น ไม่เป็นความจริง ซึ่งการจัดซื้อวัคซีนของไฟเซอร์ต้องจ่ายเงินจองตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา และไม่มีข้อเสนอส่งวัคซีนให้ใช้ก่อนแต่อย่างใด และ 3.กรณีระบุว่าไฟเซอร์เสนอขายวัคซีนให้รัฐบาลถึง 4 รอบ แต่ถูกปฏิเสธนั้น ก็ไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมาไฟเซอร์ได้เข้ามานำเสนอข้อมูลผลการวิจัยในระยะต่างๆ รวมถึงผลการใช้จริงในต่างประเทศ ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรคเป็นระยะ โดยยืนยันว่าไม่เคยมีการปฏิเสธการเข้าพบ
"การจองซื้อวัคซีนไฟเซอร์ของไทย เพื่อนำมาใช้ปิดช่องว่างฉีดให้กับเด็กกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีแนวโน้มระบาดเป็นกลุ่ม เนื่องจากขณะนี้เป็นวัคซีนตัวเดียวที่มีผลการศึกษาในกลุ่มอายุดังกล่าว ขณะที่ตัวอื่นมีข้อจำกัดให้ใช้ในอายุ 18 ปีขึ้นไป จึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศทำให้มีการจองซื้อ และหากได้จำนวนมาก ก็จะฉีดให้กลุ่มประชากรอื่นด้วย" นพ.นครกล่าว
ด้าน นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีผู้เสียชีวิตหญิงอายุ 23 ปี มีภูมิลำเนา จ.อ่างทอง แต่อาศัยอยู่ จ.ปทุมธานี ซึ่งเสียชีวิตภายหลังมีประวัติการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่าผู้เสียชีวิตประกอบอาชีพในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จึงรับบริการฉีดวัคซีนใน รพ.แห่งหนึ่งในสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 21 เม.ย. โดยหลังฉีดวัคซีนไม่มีอาการใดๆ แต่วัดถัดมา เวลาประมาณ 09.30 น. ได้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ทราบชนิด หลังจากนั้นมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน จึงเข้ารักษาใน รพ. ต่อมามีอาการทางระบบประสาทตามลำดับ และเสียชีวิตในวันถัดมา
รอชันสูตรฉีดวัคซีนดับ
นพ.ทวีทรัพย์กล่าวต่อว่า ผลสอบสวนเบื้องต้นมีความเห็นสำคัญว่าอาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับระบบประสาท คือมีอาการปวดศีรษะรุนแรง จากนั้นผู้ป่วยแสดงท่าทางแปลกๆ ทำมือคล้ายรำ มีสัญญาณผิดปกติ โดยเกิดขึ้นหลังจากทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 30 นาที ซึ่งหากเกิดจากวัคซีนควรใช้เวลามากกว่า 4 วันในกรณีที่จะสัมพันธ์กับอาการดังกล่าว แต่รายนี้เกิดหลังฉีดวัคซีน 1 วัน ข้อมูลเบื้องต้นการเสียชีวิตไม่น่าเกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมโดยบังเอิญ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตอาจเพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่เพื่อความชัดเจนและมั่นใจ จึงขอให้ชันสูตรผู้เสียชีวิตอีกครั้ง เมื่อได้ผลจะนำเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิดว่า ได้เปิดอาคารนิมิบุตรเป็นศูนย์แรกรับ ก่อนส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลตามระดับอาการ ทั้งนี้ หากมีอาการหนักมีโรคประจำตัว หรือมีภาวะแทรกซ้อน จะส่งต่อไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือและแพทย์ที่เชี่ยวชาญ โดยได้แบ่งพื้นที่ กทม. เป็น 6 โซนตามพื้นที่ติดต่อกัน ได้แก่ โซนที่ 1 รพ.ทั้งหมดในส่วนกลาง มี รพ.พระมงกุฎเกล้าและ รพ.ราชวิถี เป็นหัวหน้าโซน 2.โซนใต้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 3.โซนเหนือ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์และโรงพยาบาลภูมิพล 4.โซนตะวันออก โรงพยาบาลรามาธิบดี 5.โซนโรงพยาบาลศิริราช 6.โซนวชิรพยาบาล โดยโรงพยาบาลหัวหน้าโซน ช่วยดูแลโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน และรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
ด้านนายอนุทินได้โพสต์เฟซบุ๊กย้ำในหัวข้อ หยุดกล่าวหาเท็จ หยุดให้ร้ายกระทรวงสาธารณสุข โดยเนื้อหาเป็นรูปแบบถาม-ตอบ 3 ข้อสังสัย เหมือนกับที่ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้แถลง
สำหรับความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ 3 รายนั้น ยังคงคุมเข้มมาตรการด้านสาธารณสุข และมีการสั่งปิดโรงอาหาร ตึกสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และโรงอาหาร ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ที่พบว่าครอบครัวของแม่ค้าติดเชื้อโควิด-19
น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกฯ และรักษาการที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ ด้านประสานกิจการภายในประเทศ ระบุว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง ขณะที่ในทำเนียบฯ ได้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 ราย ทั้งตำรวจ ผู้ติดตามผู้บริหาร และแม่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงต่อสื่อมวลชนที่เข้ามาปฏิบัติงาน จึงขอความร่วมมือออกมาตรการให้สื่อมวลชนงดเข้ามาปฏิบัติภายในทำเนียบฯ นับตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย.จนถึงวันที่ 7 พ.ค. และจะกลับเข้ามาปฏิบัติงานในทำเนียบฯ ได้อีกครั้งในวันที่ 10 พ.ค. ส่วนเรื่องข่าวปฏิบัติการของนายกฯ รองนายกฯ และรัฐมนตรี สำนักโฆษกฯ จะทำหน้าที่แทนสื่อมวลชน จะถ่ายทอดสดผ่านเพจไทยคู่ฟ้า รวมถึงการส่งเอกสารข่าวในกลุ่มไลน์สื่อมวลชนทำเนียบฯ ซึ่งนายกฯ ก็เห็นชอบกับมาตรการนี้แล้ว
เช่นเดียวกัน ทางเลขานุการกองทัพบกได้ประสานขอความร่วมมือสื่อมวลชนงดเข้ามาทำข่าว และงดใช้ห้องสื่อมวลชน ภายในกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน ตั้งแต่บัดนี้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายแล้วจะแจ้งให้ทราบ โดยเบื้องต้นประมาณไว้ที่ 2 สัปดาห์
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. ได้มีหนังสือถึง ผบช.สกพ.สงป. และ พตร. (สบ 1) ผบก.สก. ระบุว่า ให้ สกพ.จัดเตรียมสถานพักฟื้นและตากอากาศบางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เป็นสถานที่ให้ดูแลข้าราชการตำรวจกลุ่มเสี่ยงจำนวน 15 วัน ระหว่างวันที่ 27 เม.ย.-11 พ.ค.64 และให้ยกเว้นตราค่าบริการห้องพักและค่าใช้จ่ายอื่น โดยจัดอาหารจำนวน 3 มื้อ ตั้งแต่วันเริ่มปฏิบัติเป็นต้นไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |