สถานการณ์โควิดรอบสามในประเทศไทยยังวิกฤติน่าเป็นห่วง เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อยังแตะระดับ 2,000 คนขึ้นไปมาหลายวันแล้ว
โดยเมื่อวันอังคารที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ตัวเลขอย่างเป็นทางการตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงไว้ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,179 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,174 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,149 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 25 ราย นอกจากนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย
ทำให้ถึงปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อสะสมภายในประเทศไทย 59,687 ราย หายป่วยสะสม 33,551 ราย อยู่ระหว่างรักษา 25,973 ราย อาการหนัก 628 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 169 ราย
ศบค.แถลงไว้อีกว่า มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 15 ราย เป็นผู้ชาย 9 ราย ผู้หญิง 6 ราย ช่วงอายุระหว่าง 24-88 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน และไปสถานที่เสี่ยง ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 163 ราย ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ขณะนี้มีผู้ฉีดเข็มแรกแล้ว 1,012,388 ราย ฉีดเข็มที่สองแล้ว 214,644 เฉพาะวันที่ 26 เม.ย.มีผู้ฉีดวัคซีนกว่า 7 หมื่นโดส
สำหรับการแก้ปัญหาโควิดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงตอนนี้พบว่า พลเอกประยุทธ์ พยายามใช้ทุกช่องทางเพื่อ "กระชับอำนาจ" ให้อยู่ในมือมากขึ้น ผ่านช่องทางตามกฎหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดความเบ็ดเสร็จรวดเร็วในการแก้ปัญหา แม้ปัจจุบันจะเป็นทั้งนายกฯ-ผอ.ศบค. ที่สำคัญกุมอำนาจเต็มตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ใช้คุม-รบกับโควิดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนพลเอกประยุทธ์ที่มาจากระบบทหาร-อดีตผู้นำรัฐประหาร คงอยากให้การแก้ปัญหา "รวดเร็ว-ทะลุทะลวง" มากขึ้น เลยเป็นที่มาของการกระชับอำนาจอีกครั้งหนึ่งที่น่าสนใจ
ตามคำแถลงของ "อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี" ที่แถลงหลังประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมาย โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31 ฉบับ เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ กฎหมาย 31 ฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 2.พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 3.พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 4.พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 5.พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 6.พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560 7.พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 8.พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 9.พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 10.พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522
11.พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 12.พ.ร.บ.ควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ.2495 13.พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 14.พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 15.พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 16.พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 17.พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2558 18.พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 19.พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 20.พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522
21.พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 22.พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 23.พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 24.พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 25.พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 26.พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 27.พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 28.พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 29.พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 30.พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 และ 31.พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522
การออกประกาศ “กระชับอำนาจ” ดังกล่าว ในทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินมันก็เห็นชัด คือการที่พลเอกประยุทธ์เข้ามาดึงอำนาจจากรัฐมนตรีหลายกระทรวงที่ใช้อำนาจตามกฎหมายข้างต้นมาไว้ในมือพลเอกประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข-กระทรวงมหาดไทย-กระทรวงดิจิทัลฯ-กระทรวงเกษตรฯ-กระทรวงแรงงาน เป็นต้น
มีข่าวว่าต้นเรื่องของประกาศดังกล่าวถูกชงมาจาก "สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ" ภายใต้การนำของ "พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการ สมช." ในฐานะที่ สมช.คือหน่วยงานสำคัญในศูนย์ปฏิบัติการในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศปก.ศบค.
โดยหลัง บิ๊กตู่ เตรียมกระชับอำนาจผ่านประกาศดังกล่าวในทางการเมือง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทันควันถึงการขันนอตการแก้ปัญหาโควิดที่บิ๊กตู่งัดไม้นี้มาใช้ หลังที่ผ่านมามีข่าวออกมาตลอดว่า การแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาล บางกระทรวงก็ไม่แอคทีฟเท่าที่ควรจะเป็น ยิ่งช่วงหลังมีข่าวปัญหาเรื่องลิ้นกับฟัน การกระทบกระทั่งกันบ้างทางการเมืองระหว่างสามพรรคร่วมรัฐบาล "พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์" ที่คนของสามพรรคนี้กระฟัดกระเฟียดกันเองมาหลายรอบแล้ว เมื่อพลเอกประยุทธ์มากระชับอำนาจการแก้ปัญหาโควิดผ่านประกาศดังกล่าว เลยยิ่งทำให้แวดวงการเมืองแม้จะเข้าใจดีว่าเพราะนายกฯ คงต้องการบูรณาการให้การแก้ปัญหาโควิดรวดเร็ว ทะลุทะลวงมากขึ้น แต่ก็ไม่มั่นใจว่ารัฐมนตรีหลายกระทรวงลึกๆ แล้วโอเคด้วยหรือไม่ แม้ในทางกฎหมาย ประกาศดังกล่าวรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงยังมีอำนาจอยู่ แต่การที่ พลเอกประยุทธ์ จะมาขออำนาจสั่งการเองโดยตรงจากเดิมที่จะต้องผ่านรัฐมนตรี ซึ่งรัฐมนตรีบางกระทรวง โดยเฉพาะจากพรรคร่วมรัฐบาล อาจเคืองเล็กๆ เพราะมองว่าปัจจุบันนายกฯ ก็มีอำนาจเต็มตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว จะต้องมากระชับอำนาจให้มากขึ้นเพื่อเหตุใด
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่ารัฐบาล-พลเอกประยุทธ์-ศบค. จะใช้มาตรการ-กลไกการแก้ปัญหาโควิดอย่างไร หากสุดท้ายสิ่งที่นำมาใช้ปฏิบัติ ทำแล้วได้ผล เชื่อเถอะประชาชนเอาด้วยและสนับสนุนทั้งสิ้น เพราะศึกโควิดรอบสามตอนนี้มันหนักหนาสาหัสเกินกว่าจะคิดเล็กคิดน้อยทางการเมืองกันแล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |