27 เมษายน 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่ายอมรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้หนักหน่วงไม่แพ้ครั้งแรกและมีความกังวลค่อนข้างมาก เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง โดยเบื้องต้นประเมินผลกระทบครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวไปอย่างน้อย 1 เดือน และหากยังไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้จะเกิดความเสียหายลุกลามต่อไปเดือนละ 1 แสนล้านบาทแน่นอน ดังนั้น ภาคเอกชนเห็นว่ามีความจำเป็นต้องล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดสูงในบางพื้นที่ บางธุรกิจหรือบางอาชีพอย่างน้อย 15 วัน ซึ่งภาคเอกชนรับได้ และถ้าประเมินสถานการณ์แล้วหมดความสุ่มเสี่ยง ก็ค่อยผ่อนคลายเป็นมาตรการป้องกันแทนล็อกดาวน์ หากไม่ล็อกดาวน์เลยจะยิ่งสร้างเสียหายเพิ่มขึ้นทุกวัน
ส่วนภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ได้รับมีความเสียหายเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่อิงธุรกิจภาคบริการ และอุตสาหกรรมบางส่วนที่อิงตลาดในประเทศ ดังนั้นหากรัฐบาลบริหารจัดการเรื่องการกระจายวัคซีนได้เร็วขึ้นให้ประชาชนได้รับวัคซีนภายในเดือนมิ.ย.2565 ประมาณ 20-30 ล้านโดส ก็เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจและสามารถกลับฟื้นคืนมาได้แน่นอน ขณะที่ อุตสาหกรรมที่อิงการส่งออกส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นหมด เพราะเศรษฐกิจโลกดีขึ้น เช่น สหรัฐโตเกือบ 6% จีนมากกว่า 8% หรืออาจโตเป็นตัวเลขสองหลัก ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น
นายสุพันธุ์ กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมี.ค. 64 ว่า อยู่ที่ระดับ 87.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนก.พ. 64 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาคการผลิต รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ขณะเดียวกันด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป นอกจากนี้ ความคืบหน้าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ จีนและยุโรป ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,351 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนมี.ค. 64 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน 51.2% และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 46.1% ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 63.2% , อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 52% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 33.5% ตามลำดับ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 94.0 จากระดับ 92.0 ในเดือนก.พ. 64 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่าความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ตลอดจนมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจการค้าโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. ได้รวบรวมข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ที่ภาคเอกชนต้องการให้ 1.ขอภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ระลอกใหม่ให้ได้โดยเร็ว โดยใช้มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดสูง 2. เร่งรัดการฉีดวัคซีน โควิด-19 ให้กับประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน 3. สนับสนุนให้เอกชนนำเข้าวัคซีนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว เพื่อช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น
4. ขอให้ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 5. เร่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และ 6. เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |