ผู้นำอาเซียนจะเชื่อ มิน อ่อง หล่าย ได้แค่ไหน?


เพิ่มเพื่อน    

        ผลการประชุมผู้นำอาเซียนที่จาการ์ตาเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว มีข้อสรุปว่าด้วยวิกฤติเมียนมาที่ออกมาในรูปของ  “ฉันทามติ 5 ข้อ” ที่น่าสนใจ

            แต่เกิดคำถามใหญ่ขึ้นทันทีว่า อาเซียนจะเชื่อพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ว่าเขาจะทำตาม “ความเห็นพ้อง” ทั้งห้าข้อได้จริงหรือ

            และถ้าหัวหน้ารัฐประหารคนนี้เกิด “เบี้ยว” ข้อตกลงขึ้นมา อาเซียนจะมีวิธีอย่างไรที่จะบังคับหรือกดดันให้เขาต้องทำตาม

            อีกทั้งถ้าหากมิน อ่อง หล่ายไม่ให้ความร่วมมือกับ “ทูตพิเศษอาเซียน” ที่ได้รับมอบหมายให้เป็น "ผู้อำนวยความสะดวก” ในกระบวนการ “พูดจาหารือ” ตามมตินี้ อาเซียนจะมีทางออกอย่างไร

            ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่เกิดจากผลการประชุมผู้นำอาเซียน ที่ต้องถือว่ามีความคืบหน้าในระดับที่จับต้องได้พอสมควร

            อาจเรียกได้ว่าสามารถลบคำปรามาสของบางสำนักที่ตั้งคำถามตั้งแต่ต้นว่า อาเซียนจะมี “น้ำยา” แค่ไหนในการทำให้ผู้นำทหารผู้นี้ยอมถอยสู่การเจรจากับอองซาน ซูจี

            ข้อตกลงนั้นเรียกว่า ASEAN leaders’ 5-point  Consensus หรือฉันทามติ 5 ข้อว่าด้วยสถานการณ์เมียนมาของผู้นำอาเซียน

            1.ต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาทันที และทุกฝ่ายต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่

            2.ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเจรจาหารืออย่างสร้างสรรค์เพื่อแสวงหาทางออกที่สันติเพื่อประโยชน์ของประชาชน

            3.ตัวแทนพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกในการไกล่เกลี่ยกระบวนการเจรจาหารือ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเลขาธิการอาเซียน

            4.อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ผ่านศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน  AHA Centre (ASEAN Coordinating Center for Humanitarian Assistance)

            5.ทูตพิเศษและผู้แทนอาเซียนจะเดินทางไปเมียนมาเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

            ที่ต้องวิเคราะห์ลงลึกคือ ทั้ง 5 ข้อนี้ไม่ระบุชัดเจนเรื่องให้ปล่อยผู้ถูกกักขังทางการเมือง

            ระบุเพียงใน Chairman’s Statement ว่า “We also  heard calls for the release of all political prisoners  including foreigners.”

            (“เราได้ยินเสียงเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองและชาวต่างชาติที่ถูกกักขังทั้งหมด”)

            คำถามสำคัญก็คือว่า มิน อ่อง หล่ายเห็นพ้องตามนี้ด้วยหรือไม่ และรับปากจะทำตาม 5 ข้อนี้หรือไม่

            คำว่า Consensus ย่อมหมายถึงฉันทามติที่ทุกคนที่เข้าร่วมประชุมเห็นด้วยและทำตาม

            ถ้ามิน อ่อง หล่ายไม่ทำตามนี้ อาเซียนจะทำอย่างไร?

            เพราะวันนี้กองทัพและตำรวจเมียนมายังไม่ได้หยุดยั้งการปราบปรามประชาชนผู้ประท้วงต่อเนื่อง

            แม้ในฉันทามติจะไม่ได้ระบุถึงข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง แต่ในการประชุมก็มีท่าทีจากผู้นำสิงคโปร์, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ต้องการให้ปล่อยผู้ถูกกักขังทางการเมืองเป็นเงื่อนไขหลักข้อหนึ่งด้วย

            ก่อนเริ่มการประชุมสุดยอด นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เรียกร้องในที่ประชุมให้เมียนมายุติใช้ความรุนแรงในการเข่นฆ่าสังหารประชาชน และหวังว่าเมียนมาจะรับข้อเสนอที่ขอให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมไปทั้งหมดในทันที โดยปราศจากการเงื่อนไข

            ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย เสนอให้มีการตั้งทูตพิเศษอาเซียนประจำเมียนมาเพื่อร่วมทำงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมา และเรียกร้องให้เมียนมาเปิดช่องทางช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงการให้ปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดในเมียนมา

            อีกด้านหนึ่งที่ประชุมผู้นำอาเซียนก็เสนอให้เมียนมาเปิดทางให้นางคริสตีน สกราเนอร์ บูร์เกเนอร์ (Christine  Schraner Burgener) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติกิจการเมียนมา ได้มีโอกาสพบนางอองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐที่กำลังถูกกักขังอยู่

            ต้องบันทึกเอาไว้ด้วยว่า ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้นวันนั้น ทีมจากประเทศไทยที่นำโดยรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ได้เสนอสูตร D4D เข้าที่ประชุมเช่นกัน

            นั่นคือ

            1.De-escalating violence (หยุดยั้งความรุนแรง)

            2.Delivering humanitarian and medical assistance  (ส่งมอบยาและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม)

            3.Discharge of political detainees (ปล่อยผู้ถูกกักขังด้วยข้อหาการเมือง)

            4.Dialogue participation (ร่วมเจรจาหารือ)

            ท้ายที่สุด ความศักดิ์สิทธิ์ของ “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของผู้นำอาเซียนครั้งนี้จะวัดด้วยความจริงบทภาคสนามที่เมียนมาวันนี้

            นั่นคือ มิน อ่อง หล่ายได้สั่งให้ทหารและตำรวจหยุดการปราบปรามประชาชนผู้ต่อต้านรัฐประหารแล้วหรือยัง?

            ถ้ายังก็เป็นอันว่าการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน “นัดพิเศษ” ครั้งนี้เปล่าประโยชน์

            แต่ถ้ามีอาการที่พอจะเห็นร่องรอยของการผ่อนคลายการคุกคามชีวิตประชาชน ก็ต้องถามต่อว่า

            จะปล่อยอองซาน ซูจี เพื่อเปิดทางให้ทูตพิเศษอาเซียนริเริ่มกระบวนการเจรจาหารือหรือไม่

            เป็นสองคำถามใหญ่ที่รอคำตอบอยู่.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"