ตั้งเป้าฉีดวัคซีนวันละ 3 แสนคน ผุด 'ซิงเกิลคอมมานด์' บริหารร่วมเอกชน


เพิ่มเพื่อน    

26 เม.ย.64 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภายหลังร่วมหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมด้วยทีมเศรษฐกิจ คณะที่ปรึกษานายกฯ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ว่า เรื่องที่หารือหลักๆ 2-3 เรื่องคือ 1.เกี่ยวกับสถานการณ์ในขณะนี้ที่การระบาดโควิด-19 ขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับสูง ซึ่งได้หารือกันว่าการจัดการขณะนี้จะมีการดำเนินการอย่างไร และจะต้องเตรียมประเด็นที่จะหารือกับภาคเอกชนในวันพุธที่ 28 เม.ย.ช่วงบ่ายด้วย ซึ่งการจัดการสถานการณ์ในขณะนี้นายกฯได้สั่งการแล้วว่าในส่วนของการนำผู้ป่วยเข้ามาสถานพยาบาล จากช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา นายกฯให้กองทัพจัดรถไปรับด้วย ดังนั้นขณะนี้ผู้ป่วยที่ตกค้างประมาณพันกว่าคนได้เริ่มเข้าไปที่สถานพยาบาลแล้วประมาณ 800 กว่าคนและยังคงมีการดำเนินการอยู่เรื่อยๆ 

นายดนุชา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามนายกฯสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานรับผิดชอบในส่วนของการคัดกรอง โดยกลุ่มที่เป็นผู้ประกันตนขอให้กระทรวงแรงงานตรวจคัดกรอง ซึ่งเขาก็ดำเนินการอยู่แล้ว แต่กรณีที่มีการพบผู้ป่วย สายด่วนที่มีอยู่เมื่อโทรเข้าไปแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ไปรับมาจากที่บ้านและไปเข้าที่จุดคัดกรอง ซึ่งทราบว่ามีการจัดสถานที่ไว้ เช่นที่อินดอร์ สเตเดี้ยม เป็นจุดที่จะนำผู้ป่วยเข้ามาและคัดกรอง ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการเข้าสู่โรงพยาบาลสนามที่เตรียมไว้หลายแห่ง ซึ่งตัวเลขทั้งหมดจะมีการประสานให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เพราะสถานการณ์มีการปรับทุกวัน ส่วนคนที่มีอาการคัดกรองแล้วเป็นระดับสีเหลือง ก็ต้องเข้าสถานที่พยาบาล แต่จะเป็นที่ไหนก็คงจะดูจุดว่าง สำหรับผู้ที่มีอาการหนักหรืออยู่ในกลุ่มสีแดงต้องเข้าโรงพยาบาลแน่นอน ดังนั้นทุกอย่างนายกฯได้มีการสั่งการไปหมดแล้ว

นายดนุชา กล่าวว่า เรื่องที่ 2 มีการพิจารณาการจัดหาวัคซีน ซึ่งต้องมีการคุยกับภาคเอกชนด้วยว่าจะช่วยได้อย่างไร ขอย้ำว่าวัคซีนที่จะเข้ามาในช่วง 3 เดือนข้างหน้า 26 ล้านโดส ก็จะเพียงพอสำหรับการฉีดเข็มแรกให้กับประชาชนจำนวน 26 ล้านคน และจะมีเพิ่มเข้ามาจากซิโนแวคอีก 1 ล้านโดส ฉะนั้นขอให้มั่นใจว่าในช่วง 3 เดือนข้างหน้าเราตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อยๆประมาณ 30 ล้านคน เพราะจะมีวัคซีนทางเลือกที่มีการหาเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งขณะนี้วัคซีนที่มีเพิ่มเติมเข้ามา นอกจากซิโนแวคและแอสตราเซเนกา จะมีจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ส่วนไฟเซอร์และยี่ห้ออื่นๆ ก็จะมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่จะขึ้นทะเบียนและนำเข้ามา

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะมีการพูดคุยกับภาคเอกชนในวันพุธนี้ คือขอความร่วมมือดูว่าจะจัดสถานที่ในการฉีดอย่างไร เพราะเราตั้งเป้าว่าในช่วง 3 เดือนข้างหน้า จะต้องมีการฉีดให้ได้อย่างน้อยๆวันละประมาณ 3 แสนคนทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นสถานที่ในการฉีดวัคซีนคงจะไม่ใช่ที่โรงพยาบาลอย่างเดียว คงจะมีสถานที่อื่นที่จัดหาเพิ่มเติมด้วย ส่วนรายละเอียดการแบ่งกลุ่มว่าใครจะรับผิดชอบอย่างไรจะมีความชัดเจนในวันประชุมวันที่ 28 เม.ย. ว่าภาคเอกชนจะช่วยเรื่องสถานที่หรือจะรับวัคซีนบางส่วนไปฉีดให้กับภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญเช่นกัน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากจะบอกเพิ่มเติมคือ เรื่องวัคซีนนายกฯได้พูดในที่ประชุมและสั่งการแล้วว่าเราต้องจัดหาวัคซีนให้ได้เพิ่มเติมประมาณ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ เพราะฉะนั้น 3 เดือนข้างหน้าจะพยายามฉีดให้ได้ 30 ล้านคนก่อน จากประชากรเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนแรก 50 ล้านคนและสิ้นปีก็จะฉีดให้ได้ 50 ล้านคน ซึ่งใน 50 ล้านคนอาจจะมีเข็มแรกหรือเข็มที่สอง ดังนั้นจะมีการจัดหาวัคซีนต่อเนื่องเรื่อยๆ 

เลขาธิการสภาพัฒน์  กล่าวว่าอีกเรื่องที่มีการหารือคือ เกี่ยวกับศูนย์ซิงเกิลคอมมานด์ ซึ่งเรื่องนี้จะให้มีการบริหารจัดการในลักษณะซิงเกิลคอมมานด์ การบริหารจะได้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้รายละเอียดต้องรอผลการหารือกับเอกชนในวันที่ 28 เม.ย. 

ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นมีข่าวจะให้กรุงไทยเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการด้วย นายดนุชากล่าวว่า ก็มีการคุยกัน ซึ่งคงจะมีการแบ่งส่วนกัน โดยกรุงไทยน่าจะเป็นลักษณะให้ไปสำรวจทั้งหมดว่าประชาชนที่มีความต้องการจะฉีดวัคซีนจำนวนเท่าไหร่ อย่างไร เพราะในระบบของหมอพร้อมส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่มีข้อมูลในสถานพยาบาล แต่กรุงไทยจะเป็นตัวที่มาเสริมในการทำงานของภาพรวมในการบริหารจัดการวัคซีนทั้งหมด ซึ่งในส่วนของกรุงไทยจะมีระบบของเขาอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องมีแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ในส่วนของกรุงไทยและหมอพร้อมคงต้องมาประสานกันเพราะข้อมูลที่เข้ามาสุดท้ายแล้วจะต้องถูกส่งไปเก็บไว้ในที่เดียวกันเพื่อบริหารจัดการทั้งหมด 

เมื่อถามว่า หมอและพยาบาลที่จะมาช่วยฉีด 3 แสนคนทั่วประเทศ จะมีความเสี่ยงด้วยหรือไม่ นายดนุชากล่าวว่า ก่อนที่จะมีการฉีดก็คงต้องมีการฉีดให้กลุ่มหมอและพยาบาลที่จะมาฉีดก่อน ตอนนี้ก็มีการคุยกันว่าจะนำแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนต่างๆที่มีศักยภาพมาช่วยกันฉีดได้อย่างไร รวมถึงกลุ่มแพทย์และพยาบาลที่เกษียณไปแล้วจะเอาเข้ามาช่วยกันฉีดได้อย่างไร คงต้องระดมกันเข้ามาช่วยฉีดในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งวัคซันจะทยอยเข้ามาเรื่อยๆโดยล็อตใหญ่คือ เดือนมิ.ย. 

เมื่อถามว่าในส่วนของซิงเกิลคอมมานด์ยังเป็นของศบค.หรือจะตั้งเป็นชุดใหม่ขึ้นมา นายดนุชา กล่าวว่า ตรงนี้ต้องแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกตัวที่เป็นบริหารจัดการสถานการณ์ก็คงเป็นทางศบค. ส่วนเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนจะมีการเซ็ตอัพกลไกขึ้นมา เพื่อร่วมกับภาคเอกชนและก็คงจะอยู่ในส่วนของศบค.ด้วย คงจะเป็นในลักษณะของคณะกรรมการที่จะเข้ามาช่วยดูแลตรงนี้

เมื่อถามว่าคณะที่ปรึกษานายกฯวันนี้ได้มีการเสนอแนะแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ นายดนุชา กล่าวว่า ยังไม่มี ตอนนี้เราคุยกันในแง่การบริหารสถานการณ์การระบาดก่อน 

ถามอีกว่า การหารือวันนี้เพื่อเตรียมพร้อมที่จะหารือวันที่ 28 เมษายนนี้หรือไม่ นายดนุชา กล่าวว่า เป็นการเตรียมบริหารจัดการสถานการณ์ในช่วงต่อไป และอีกส่วนหนึ่งภาคเอกชนที่มีข้อเสนอเข้ามาเราจะดึงเข้ามาช่วยกันได้อย่างไร 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"