ภาพชนะเลิศ "ยองเส้น ไทเลย" สื่อหมอนวดดำรงอาชีพต่อสู้ภายใต้สถานการณ์โควิด
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้ง 3 ระลอกที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งเศรษฐกิจ สังคม และระบบสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดโครงการรวบรวมภาพถ่ายหลากหลายแง่มุมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงแรก ในชื่อโครงการ "ศิลปินร่วมสมัยสู้ภัยโควิดด้วยจิตสำนึก" หัวข้อ "บันทึกคนไทยน้ำใจไม่มีหมด" ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี ภาพจากโครงการมีหน่วยงานประสานขอภาพที่ได้รับเลือกไปจัดแสดง และเผยแพร่ให้คนไทยและคนทั่วโลกได้เห็นน้ำใจของคนไทยที่หลั่งไหลไม่ขาดสายในยามวิกฤติ
จากโปรเจ็กต์แรกทำให้เกิดโครงการครั้งที่ 2 ขึ้น ในชื่อ "ศิลปินร่วมสมัยสู้ภัยโควิดด้วยจิตสำนึก#2" หัวข้อ "บันทึกคนไทย หัวใจไม่เคยท้อ" เฟ้นหาภาพถ่ายที่ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้ ฟันฝ่า ปรับตัว และยืนหยัดฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการที่เกิดขึ้นช่วงแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งการท่องเที่ยว ชุมชน บุคลากรทางการแพทย์ ครอบคลุมหลากหลายอาชีพ ครั้งนี้เพิ่มจำนวนภาพที่ถูกคัดเลือกและมีเงินรางวัลสนับสนุนเพิ่มเป็น 2,019,000 บาท และโล่รางวัลเกียรติยศจากนายกรัฐมนตรี รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ภาพ "หาปลาในอ่าวพังงา" รองชนะเลิศอันดับ 1
สำหรับโครงการครั้งที่ 2 ผลตอบรับจากประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศ ไม่เฉพาะช่างภาพมืออาชีพและมือสมัครเล่น มีภาพจากทุกจังหวัดส่งเข้ามาให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนถึง 8,012 ภาพ ซึ่งเป็นภาพจากกล้องทั่วไปและอุปกรณ์สมาร์ทโฟนที่คู่กายคนยุคนี้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้กลั่นกรองภาพที่ตรงโจทย์จนเหลือภาพที่ได้รางวัลและร่วมแสดง
ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า การจัดประกวดภาพถ่ายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นระลอกใหม่ ช่วงต้นปี 2564 สะท้อนมุมมองความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเชิงบวก ทั้งความร่วมมือฝ่าฟันอุปสรรคในการดำรงชีวิต การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การรวมพลังด้านสาธารณสุข การปรับตัวด้านท่องเที่ยว ตลอดจนการดำเนินธุรกิจที่มีการปรับเปลี่ยนหรือรอวันฟื้นฟูอย่างยั่งยืน
"โครงการครั้งที่ 2 มีผู้สนใจสมัครส่งภาพเข้าประกวดโครงการมากถึง 1,829 คน มีจำนวนภาพถ่ายทั้งสิ้น 8,012 ภาพ ประเภทบุคคลทั่วไปมีผู้ส่งภาพเข้าประกวด จำนวน 1,056 คน รวม 5,612 ภาพ และประเภทนักเรียน/นักศึกษาส่งภาพ จำนวน 773 คน รวม 2,400 ภาพ ขณะนี้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาคัดเลือกภาพที่ได้รับรางวัลเรียบร้อยแล้ว ทุกภาพน่าประทับใจและเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกแห่งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และภาพความทรงจำสำหรับคนไทย ตลอดจนส่งต่อให้คนทั่วโลกได้เห็นหัวใจนักสู้ของคนไทยในภาวะวิกฤติ" ผอ.สศร.กล่าว
ภาพ "ป้องกัน Covid-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย" โดยนายเบนซิน จองสี
ภาพรางวัลบันทึกคนไทย หัวใจไม่เคยท้อ ประเภทบุคคลทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ภาพ ยองเส้น ไทเลย ผลงานของนายประสบชัย จันดก เป็นภาพที่สะท้อนแนวคิดยองเส้น เป็นการนวดที่มีความแปลกตา หนึ่งเดียวในเชียงคานและอาจจะเป็นหนึ่งเดียวในประเทศ โดยผูกผ้าขาวม้าจำนวนมากห้อยลงมาเอาไว้จับยึดเวลาใช้เท้านวดให้ลูกค้า เป็นเอกลักษณ์ดึงดูดเชิญชวนนักท่องเที่ยว และเป็นการดำรงอาชีพในการต่อสู้ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ต้องปรับเปลี่ยนรอวันฟื้นฟู ในภาพทั้งผู้นวดและลูกค้าสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ภาพ "หาปลาในอ่าวพังงา" โดยนายอรรจน์ ยอมใหญ่ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ภาพ "ป้องกัน Covid-19 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย" โดยนายเบนซิน จองสี และรางวัลชมเชย 40 รางวัล
ภาพ "รถเมล์ที่วุ่นวาย" คว้าชนะเลิศประเภท นร./นศ.
ส่วนประเภทนักเรียน/นักศึกษา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ภาพ รถเมล์ที่วุ่นวาย ผลงานของนายดลธรรม จงสอนสุข เป็นภาพผู้คนบนรถเมล์ที่แน่นขนัดและผู้คนที่อยู่บนท้องถนน แต่ทุกคนต่างสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ภาพ Music in the rain ของนายจารุวิทย์ ผ่องผุด รองชนะเลิศอันดับ 2 ภาพเดินออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ของนางสาวชมพูนุช มีรัตน์ และรางวัลชมเชย 20 รางวัล
โควิดระบาดไป 77 จังหวัดทั่วไทย โครงการจึงมีรางวัลภาพถ่ายดีเด่นประจำภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ 11 รางวัล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 22 รางวัล ภาคกลาง 23 รางวัล ภาคใต้ 16 รางวัล ภาคตะวันตก 7 รางวัล ภาคตะวันออก 9 รางวัล กรุงเทพมหานคร 8 รางวัล รวมทั้งมีภาพสร้างสรรค์คัดเลือกให้ร่วมแสดงอีก 959 ภาพ
ภาพ "Music in the rain" ของนายจารุวิทย์ ผ่องผุด
ทั้งนี้ สศร.จะนำภาพที่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าวจัดแสดงนิทรรศการที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน พร้อมนำเสนอบนโลกโซเชียลผ่านเฟซบุ๊ก : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อเผยแพร่เรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นขึ้นจริงในบ้านเมืองของเราสู่สายตาชาวโลก
หนึ่งในภาพรางวัล บันทึกด้วยฝีมือนักเรียน อย่างภาพ "รถเมล์ที่วุ่นวาย" น้องปอน หรือนายดลธรรม จงสอนสุข นร.ชั้น ม.5 Music Program โรงเรียนราชวินิต บางแก้ว ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก ภาพนี้ถือเป็นรางวัลแรกในการประกวดภาพถ่ายของตัวเอง ซึ่งถ่ายด้วยกล้อง FUJI X-T30 Mirrorless เลนส์ 18-55 mm.
"มุมมองที่ได้ขณะรอขึ้นรถเมล์กลับบ้านบริเวณป้ายรถเมล์ตรงข้ามเซ็นทรัลบางนา ผมออกมาจากร้านสะดวกซื้อก็หามุมเพื่อจะถ่ายภาพ พอดีรถเมล์สาย 365 วิ่งเข้ามาจอดที่ป้าย ซึ่งภาพคนกำลังขึ้นลงรถเมล์ให้ความรู้สึกถึงการแย่งกันขึ้นรถเมล์เพื่อไปยังจุดหมายของตนเอง สื่อไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผู้คนในสถานะที่แตกต่างกันยังต้องดำเนินชีวิตต่อไป ต่างต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไม่เพียงต่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจ ยังต้องต่อสู้เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้" นายดลธรรมบอก
ในฐานะเยาวชนรุ่นใหม่ น้องปอนบอกด้วยว่า การถ่ายภาพเป็นหนึ่งในงานอดิเรก นอกเหนือจากการซ้อมดนตรีกับวงโยธวาทิตของโรงเรียน ในสถานการณ์แบบนี้ ตนขอส่งกำลังใจให้กับเพื่อนๆ และทุกคน อดทน อย่าท้อถอย ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคโควิดเพื่อป้องกันตนเองและครอบครัว เราจะผ่านพ้นโควิดนี้ไปด้วยกัน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |