ถึงเวลาคนไทย‘ล็อกดาวน์ตัวเอง’ ก่อนระบบสาธารณสุขล่มสลาย


เพิ่มเพื่อน    

     ตัวเลขคนไทยติดเชื้อและเสียชีวิตเมื่อวานนี้บอกให้เรารู้ว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยจะต้อง “ล็อกดาวน์ตัวเอง” เพื่อช่วยไม่ให้การแพร่กระจายของโควิด-19 พุ่งขึ้นจนระบบสาธารณสุขของประเทศมีอันต้องพังพินาศ

            เพราะผมติดตามจำนวนเตียงทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน, โรงพยาบาลสนาม, Hospitel, ห้องไอซียู,  อุปกรณ์ทางการแพทย์, เครื่องช่วยหายใจและยาแล้ว สรุปได้ว่าหากตัวเลขคนติดเชื้อใหม่ประจำวันยังไต่ขึ้นอย่างนี้ก็จะ “ล้นเกิน” ไปอย่างแน่นอน...และในเร็วๆ นี้ด้วย

            ที่สำคัญกว่านั้นคือ แม้เราจะเพิ่มเตียงและอุปกรณ์ได้  แต่เราไม่สามารถเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ให้ทันกับการขยายตัวของคนป่วยได้

            วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาคือ “หยุดยั้งที่ต้นตอ” นั่นคือการสกัดไม่ให้คนติดเชื้อเพิ่มในระดับที่ "ควบคุมไม่อยู่" แทนที่จะแก้ปลายเหตุ คือการพยายามจะบริหารเตียง พยาบาล และอุปกรณ์ที่มีขีดจำกัด (ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดในโลกก็เอาไม่อยู่หากตัวเลขคนติดเชื้อพุ่งต่อเนื่องไม่หยุด)

            มีคำเตือนจากคุณหมอหลายท่านแล้วว่า หากเราไม่กดตัวเลขคนติดเชื้อลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาอันใกล้  อันตรายที่จะตามมาอาจทำให้เกิดโควิด "สายพันธุ์ไทย"  เหมือนสายพันธุ์อังกฤษ, บราซิล และอินเดีย

            ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์เสื่อมทรุดลงอย่างน่ากลัวกว่านี้

            นายแพทย์ที่ดูแลคนไข้ออกมาเตือนเช่นกันว่า เมื่อจำนวนเตียงมีจำนวนจำกัดแต่ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งพรวดพราด  ก็จะเกิดการ “ล้น” จนทำให้ต้องมีการปรับแผนเพื่อรองรับวิกฤติด้วยการปฏิเสธคนป่วยรุ่นใหม่ๆ

            หรือไม่ก็อาจจะหมายถึง การที่คนป่วยแม้จะมีอาการชัดเจนหรือหนักก็ต้องรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน เพราะหมอไม่พอ พยาบาลขาดแคลนและหาอุปกรณ์ไม่ได้

            นั่นคือการเข้าสู่การรักษาตัวเองอยู่ที่บ้านหรือ  Home Isolation ที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์หนักหน่วงรุนแรงขึ้น

            วันนี้ก็เริ่มมีการวาด “ฉากทัศน์” ให้เห็นแล้วว่า เราอาจจะใกล้ถึงจุดที่ต้องปฏิเสธคนป่วยอาการหนักและอาการปานกลาง และแม้เตียงโรงพยาบาลสนามก็ไม่อาจจะรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ๆ ได้อีก

            เป็นที่มาของข้อเสนอจาก รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล  นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ที่ได้ออกหนังสือขอให้ทุกคน “เตรียมตัวป้องกันตัวเอง”

            และใครต้องทำอะไรบ้างในยามที่เราเข้าสู่ภาวะวิกฤติทางสาธารณสุขอย่างแท้จริงแล้ว

            คุณหมอนิธิพัฒน์บอกว่า ด้วยสถานการณ์ที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ศักยภาพของภาคการแพทย์ที่ได้ขยายเพิ่ม (Surge  Capacity) สำหรับเตรียมการรองรับทั้งในโรงพยาบาลหลัก, โรงพยาบาลเฉพาะกิจ (Hospitel) และโรงพยาบาลสนามกำลังจะหมดลงในเวลาอันสั้น

            การเร่งขยายศักยภาพเพิ่มเติมบนภาระที่หนักเกินตัวของบุคลากรทางการแพทย์ เท่ากับเร่งให้เกิดการล่มสลายของระบบการดูแลทั้งผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงการควบคุมโรคในระยะยาวและการเตรียมการฟื้นฟูประเทศ

            คุณหมอตอกย้ำว่าในยามนี้สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือและเร่งมือดำเนินการ คือ

            1.ฝ่ายรัฐบาล ต้องมีมาตรการเด็ดขาดในการระงับการเคลื่อนย้ายของประชาชนให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อทำการคัดแยกผู้ติดเชื้อที่มีอยู่เดิมและผู้ที่เสี่ยงสูงเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษา และลดการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยรัฐบาลต้องให้น้ำหนักกับข้อมูลและข้อเสนอแนะจากภาคการแพทย์ มากกว่าจากภาคการเมืองที่ไม่สามารถบริหารจัดการวิกฤติสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            2.ฝ่ายประชาชน ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคโดยเคร่งครัด ให้ความร่วมมือตามคำแนะนำของภาคการแพทย์

            3.ภาคการแพทย์ วางระบบการใช้ศักยภาพในปัจจุบันของแต่ละพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดขั้นตอนที่ทำให้ผู้ป่วยตกค้างอยู่ในโรงพยาบาลและในชุมชนโดยไม่จำเป็น  และอดทนอดกลั้นต่อความคาดหวังของสังคมต่อนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ทันการณ์ และต่อคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ของภาคการเมือง

            สรุปว่าคนไทยทุกคนต้องถือว่าเป็น “นักรบ” ในสงครามสู้โควิดครั้งนี้

            เริ่มด้วยการ “ล็อกดาวน์ตัวเอง” เพื่อหยุดวงจรของการแพร่ระบาด และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

            หาไม่แล้วเราจะพากันแพ้สงครามโควิด-19 ทั้งประเทศและจะฟื้นคืนสู่ภาวะปกติได้ยากยิ่ง!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"