'บัญญัติ'ถูกดูดชินแล้ว 'อ๋อย'ชำระมรดกคสช.


เพิ่มเพื่อน    

    ชินแล้ว! "บัญญัติ" เผยกำเนิดพรรคใหม่ประชาธิปัตย์กระเทือนเล็กน้อย ตั้งข้อสังเกตเสียงสนับสนุน "บิ๊กตู่" เป็นนายกฯ เริ่มจางลง เพราะ 4 ปีแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ ยก "เสนีย์ ปราโมช" เป็นผู้นำตัวอย่าง แต่เพื่อไทยชี้เป็นแผนลับลวงพราง "จาตุรนต์" เชื่อสายสัมพันธ์กำนันกับ ปชป.ตัดไม่ขาด ให้ดูเกมอนาคตจะร่วมกับช่วย คสช.สืบทอดอำนาจ หยามพรรค กปปส.ไม่มีทางชนะ เพราะเคยขัดขวางการเลือกตั้ง
    นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. เป็นที่ปรึกษาพรรคว่า เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะนายสุเทพปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว คิดว่าการมีพรรคเกิดใหม่เป็นเรื่องธรรมดา หลัง 14 ตุลาคม มีพรรคเกิดขึ้นมากมาย ถือเป็นตัวเลือกของประชาชน เพื่อมีโอกาสเปรียบเทียบ และประชาชนรู้อะไรมากขึ้น จะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนพรรคใดประชาชนก็มีเหตุผล
    ส่วนจะกระทบฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้หรือไม่ ตนคิดว่าก็มีบ้าง พรรคเราเคยชินกับเรื่องทำนองนี้ เมื่อมีพรรคใหม่เกิดขึ้น จะมีการแย่งคะแนนเสียงแบบนี้ 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรกับการตั้งพรรคนี้ซึ่งสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อ  อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า ในช่วงแรกๆ มีท่าทีชัดเจนว่าจะสนับสนุน แต่ช่วงหลังๆ พูดเรื่องนี้น้อยลง อาจเป็นเพราะหนักอกหนักใจ เพราะช่วงหลัง พล.อ.ประยุทธ์ทำอะไรไม่ค่อยเข้าตา แต่ยังมีเวลาดูอีกระยะหนึ่ง  
    ถามถึงผลงาน 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช. นายบัญญัติกล่าวว่า ต้องให้ความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ทำงานหนักพอสมควร หลายเรื่องเป็นมรรคเป็นผล แต่บางเรื่องที่เป็นความหวังของประชาชน เช่น ปราบคอร์รัปชัน การปฏิรูป และปรองดอง ถ้าให้พูดตรงไปตรงมาก็ยังไม่สำเร็จ โดยเฉพาะปรองดอง ที่ยังมีการแตกแยกมากขึ้น ตนคิดว่าเป็นเรื่องน่าห่วง 
     ส่วนความมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นั้น อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า ถ้าไม่เลือกตั้งคราวนี้จะลำบาก เพราะเลื่อนมา 3-4 ครั้ง นายกฯ ไปประกาศกับต่างประเทศเยอะ ถ้าเลื่อนอีกก็ไปกันใหญ่ เสียรังวัดมามากแล้ว 
      “ผมคิดว่าถ้าเลื่อนนิดเลื่อนหน่อยต้องมีเหตุผล เพราะเลื่อนมาหลายครั้ง และการที่คนออกมาเรียกร้อง ท่านก็ไม่ควรไปตำหนิเขา เพราะท่านเลื่อนมาหลายครั้ง ถ้าจะเลื่อนจากเดือนกุมภาพันธ์ ไปอีก ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะอะไร ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงท่านก็ต้องพูดให้ชัด แต่ถ้าติดขัดในกระบวนการกฎหมาย มีข้อขัดข้องใด รัฐบาลมีมาตรา 44 ที่จะแก้ไขข้อขัดข้องทางเทคนิคกฎหมายดังกล่าวได้ ก็สามารถใช้มาตรา 44 จัดการเลือกตั้งได้ สังคมก็จะรับได้ แล้วการเมืองก็จะนิ่งด้วย” 
ชู "เสนีย์" ผู้นำตัวอย่าง
    นายบัญญัติกล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ล็อกหลายล็อกที่ทำให้พรรคการเมืองมีอุปสรรคที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งสำคัญมาก ซึ่งการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ควรจะเป็นการเลือกตั้งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจของประชาชน ถ้าไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสร้างความเข้าใจกับประชาชน การเลือกตั้งก็จะไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งตนก็ขอให้รัฐบาลเตรียมการไว้ด้วย
    ซักว่าผู้มีอำนาจเริ่มดูด ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ จะกระทบพรรคหรือไม่ นายบัญญัติแจงว่า เป็นเรื่องธรรมดา พรรคเรามีคนเข้า-ออกเรื่อยๆ อาจจะกระทบบ้าง เราก็ต้องแก้ไขกันไป ไม่มีอะไรที่ราบเรียบไปหมด ถ้าราบเรียบก็ไม่ใช่การเมือง 
    ในการปาฐกถาหัวข้อ "วิสัยทัศน์ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช" นายบัญญัติกล่าวตอนหนึ่งว่า สมัยการเลือกตั้งในสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ พรรคประชาธิปัตย์ประสบความสำเร็จได้รับเลือกตั้งมากที่สุด และมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่มากมายคล้ายๆ เวลานี้ ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยควรทุลักทุเล และมีการต่อรองมาก เพราะ ม.ร.ว. เสนีย์ไม่ยอมดูดเลย หากมีการต่อรองมากก็จะไม่เอา เพราะมองว่าหากเอาคนเหล่านี้มาร่วม รัฐบาลก็จะดูมัวซัว ความซื่อสัตย์สุจริตจะได้รับการหัวเราะจากประชาชน โดยเฉพาะสมคบกับคนโกง คนซื้อสิทธิขายเสียง โดย ม.ร.ว.เสนีย์จึงยึดหลักรักษาศรัทธาของประชาชน ถือเป็นวิสัยทัศน์ทางการเมืองที่อยากย้ำกับทุกคน
    เขากล่าวว่า ในสมัยนั้นบรรยากาศการเมืองก็มีความสับสนอลเวง มีการต่อต้านจากกลุ่มกระบวนการต่างๆ อย่างรุนแรงมาก แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ย้ำว่า การเป็นรัฐบาล สิ่งสำคัญอย่าปล่อยให้คนไทยฆ่ากันเอง อย่างไรก็ตาม คิดว่า ม.ร.ว.เสนีย์เป็นนักประชาธิปไตยที่ยึดในหลักการนี้มาโดยตลอด 
    นายบัญญัติกล่าวว่า สังคมทุกวันนี้ ผู้นำไม่จำเป็นต้องถึงขนาดขนาดตายเพื่อชาติ หรือเสียสละชีวิต เพียงแต่ควรทำในสิ่งที่ควรทำ อะไรที่เป็นข้อครหานินทาหรือดูไม่ดีก็อย่าทำ สังคมไทยจะเดินไปข้างหน้าได้ดี นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ของ ม.ร.ว.เสนีย์ มองการปกครองบ้านเมือง 3 วิธี คือ อำนาจ อามิส และอุดมการณ์ ซึ่งการเมืองที่มาด้วยอำนาจก็จะถูกโค่นล้มไปด้วยอำนาจ ส่วนอามิสใช้ไปก็ย่อมมีวันหมด จึงมีอุดมการณ์เท่านั้นที่ยั่งยืน
    อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า การเมืองที่มาด้วยอำนาจ และถูกล้มด้วยอำนาจ เห็นปรากฏการณ์แบบนี้ 6-7 ครั้ง ซึ่งการล้มอำนาจด้วยอำนาจนั่นเป็นเพราะใช้อำนาจทำลายตัวเอง มีอำนาจมากก็ใช้มาก คลั่งอำนาจ สุดท้ายเมื่อสังคมรู้ทัน ก็จะแพ้ภัยตัวเองไปไม่รอด เพราะประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าอำนาจประชาชนล้มไปหลายคณะแล้ว
ยึดมั่นอุดมการณ์
    "ดังนั้นต้องยึดอุดมการณ์ตามระบอบประชาธิปไตย และอุดมคติบนความเท่าเทียมตามกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่เออเองแล้วทำทุกอย่างให้เบ็ดเสร็จ" นายบัญญัติกล่าว
    ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการจดแจ้งชื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ว่า เป็นสิทธิ์ของแต่ละบุคคลที่จะจัดตั้งพรรคการเมือง และเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ส่วนจะเสียฐานเสียงภาคใต้หรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่กระทบกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ก็ต้องแข่งขันกับพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่อยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องปกติในทางการเมือง
    รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เผยว่า พรรคได้เตรียมบุคลากรที่เหมาะสมลงสมัครในแต่ละเขตเลือกตั้ง โดยตั้งใจส่งให้ครบทั้ง 350 เขต สำหรับงานด้านเอกสารที่จะส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ภายหลังจากเปิดให้สมาชิกยืนยันตัวตนนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร ขณะนี้มีสมาชิกมายืนยันกว่า 1 แสนคน โดยพร้อมดำเนินการตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการตั้งพรรคการเมืองของอดีตแกนนำ กปปส.ว่า คิดว่าเรื่องนี้คือบทสรุปของ 4 ปีรัฐประหาร ดังจะเห็นว่าก่อนหน้านี้มีความพยายามร่วมมือกันเพื่อให้เกิดรัฐประหารจนประสบความสำเร็จ ก่อนจะวางระบบเพื่อปูทางสู่การสืบทอดอำนาจ จะเห็นว่าวันนี้มีความพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจต่อไป ทำให้เห็นว่าการพูดถึงการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เรียกหาการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น ล้วนเป็นข้ออ้างที่ไม่มีความตั้งใจจริง
    "คิดว่านักการเมืองที่เลือกเดินออกจากพรรคการเมือง แล้วประสบความสำเร็จกับการนำมวลชน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เขาจะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง เพราะเป็นการทำอะไรที่ย้อนแย้งกับสิ่งที่เคยพูดทั้งหมด และการตั้งพรรคการเมืองครั้งนี้ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าคือสิ่งที่ดี จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จยาก”
    นายจาตุรนต์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับนายสุเทพ ที่ผ่านมาไม่ได้แยกจากกันไปเสียทีเดียว จึงต้องจับตาดูว่าอนาคตเกมการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร เพราะจุดสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจว่าจะสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.หรือไม่ หากทั้ง 2 ส่วนสนับสนุนให้ คสช.สืบทอดอำนาจ การเลือกเดินครั้งนี้จะเป็นเพียงยุทธวิธีหนึ่งของนายสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น 
    ส่วนตัวเห็นว่าการตั้งพรรคการเมืองของแกนนำ กปปส.จะไม่มีผลกระทบทางการเมืองมากนัก เพราะแกนนำ กปปส.ประสบความสำเร็จในการขัดขวางการเลือกตั้ง สนับสนุนการรัฐประหาร จึงจะมาประสบความสำเร็จในการตั้งพรรคการเมืองและลงเลือกตั้งไม่ได้ แม้จุดมุ่งหมายของการตั้งพรรคครั้งนี้คือต้องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็ตาม
ถอนรากถอนโคน คสช.
    แกนนำพรรคเพื่อไทยยังกล่าวถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ประกาศถ้าได้เป็นรัฐบาลจะชำระมรดก คสช.ทันทีว่า เป็นเรื่องที่นักการเมืองและผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยจะต้องคิด เพราะสิ่งที่ คสช.ทำไว้นั้นเป็นผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง จะต้องรื้อ เปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ คิดว่าคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยต่างเห็นด้วย เพราะประเทศไทยจะเสียหายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าปล่อยให้สิ่งที่ คสช.ทำไว้ยังคงคงอยู่ ก็จะยิ่งร้ายแรงไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม การจะจัดการกับมรดก คสช.ก่อนหรือหลังนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องมาคิดวิเคราะห์กันอีกที โดยต้องมาดูสถานการณ์ความเป็นจริงมาประกอบกัน
    นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ยังโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ว่า "วันนี้ไปรับหนังสือเดินทางจากอธิบดีกรมการกงสุล ได้รับแจ้งว่ากระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งให้สถานทูตและสถานกงสุลไทยทั่วโลกทราบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของผมแล้ว เมื่อได้เล่มใหม่แล้วก็สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ หลังจากไปไม่ได้มาเกือบ 3 ปี เรื่องที่จะต้องทวงสิทธิ์คืนเรื่องต่อไปคือการทำธุรกรรมการเงินสารพัดอย่างที่ถูกระงับมา 4 ปีแล้วครับ"
    นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวแสดงความยินดีกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย การเข้าสู่ระบบของกลุ่มการเมือง รวมไปถึงพรรคการเมืองที่อยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของประชาชนและประเทศนั้น ถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องเข้ามาแบบยอมรับกติกา ไม่ใช่เอาตัวเองเป็นใหญ่เหมือนที่ผ่านมา 
    เขาตั้งคำถามว่า เมื่อถึงการเลือกตั้งแล้วกลุ่มหรือพรรคเหล่านี้จะได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหน ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้รู้สึกหนักใจอะไร เชื่อว่าประชาชนมีความรู้สึกนึกคิดว่าที่ผ่านมาแต่ละพรรคการเมืองเป็นอย่างไร เมื่อการเลือกตั้งมาถึง เชื่อว่าประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองที่ยืนเคียงข้างประชาชนและระบอบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม รวมทั้งกำหนดนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีที่สุด
    วันเดียวกันนี้ ในวงเสวนา “ทิศทางและบทบาทของขบวนการทางสังคมในกระแสก่อตั้งพรรคการเมือง มีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหลากหลายวงการ เช่น นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw, ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายกิตติชัย งามชัยพิสิฐ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จัดขึ้นที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน เขตราชเทวี
ปฏิเสธกลุ่มทุน
     นายจอนกล่าวว่า พรรคการเมืองไทยมาจากฐานเศรษฐกิจ หรือมีนักลงทุนคอยสนับสนุน สะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองของไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีฐานมวลชนระดับรากหญ้าที่เข้มแข็ง ดังนั้นควรผลักดันระบอบประชาธิปไตยให้ไกลกว่านี้ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มาจากภาคประชาสังคม สามารถเกิดขึ้นได้ อาจต้องใช้เวลาร่วมกันสร้างขึ้นมา
    "สมาชิกพรรคควรมาจากรากหญ้า ไม่ได้มาจากเศรษฐี รวมถึงกำหนดนโยบายและเลือกกรรมการที่มาจากภาคประชาชน ที่ได้รับการเลือกจากสมาชิกในพื้นที่จริง ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญ ส่วนเงินหมุนเวียนภายในพรรค ก็ควรมาจากสมาชิก ไม่ใช่มาจากผู้ที่บริจาคมากสุดในพรรค จนเกิดการเกรงใจ ไม่เช่นนั้นก็ยังคงมีพรรคการเมืองแบบเดิมอยู่"
    นายจอนกล่าวว่า ฐานเสียงต้องมาจากภาคประชาชน ที่ไม่ได้มาจากกลุ่มนายทุน เหมือนเช่นพรรคอนาคตใหม่ ที่เข้ามามีบทบาท ผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญ พรรคการเมืองที่ปฏิเสธการเมืองแบบเก่าจะต้องร่วมมือกัน เพื่อเลือกบุคคลเหมาะสมมาแข่งกับพรรคขนาดใหญ่ เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียง
    ขณะที่นายกิตติชัยระบุว่า ภาคประชาสังคมเห็นด้วยกับการตั้งพรรคการเมือง แต่กลับจำกัดตัวเองเพียงเฉพาะแก้ปัญหาในชุมชนเท่านั้น ดังนั้น ต้องเสนอนโยบายทุกพรรค เพราะเกรงว่าจะสูญเสียข้อเสนอไป หากเสนอเพียงแค่บางพรรค แต่ไม่ชนะ จึงต้องเสนอทุกพรรคไปพร้อมๆ กัน 
    ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาเรื่องจุดยืนพรรคการเมือง โดยไม่ได้สนใจกลุ่มคะแนนเสียงที่เป็นกลุ่มก้อน และภาคประชาชนเองทำงานเพียงแต่ละประเด็นที่แคบลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นพรรคการเมืองควรไปเอาความคิดนโยบายของภาคประชาชนมาแก้ไข ไม่ใช่ภาพใหญ่อย่างเดียว 
    นายกิตติชัยกล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มีกติกากีดกันพรรคเล็กมากมาย เพราะมีข้อจำกัดคือการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกพรรคเล็กได้ และการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้สะท้อนเสียงจากภาคประชาสังคม แต่กลับสะท้อนเสียงจากคนในท้องถิ่นมากกว่า
    ขณะที่ ดร.กนกรัตน์มองว่า พรรคการเมืองที่มาจากภาคประชาชน เป็นไปได้ยากที่จะชนะการเลือกตั้ง แต่ทั้งหมดนี้ ความขัดแย้งหรืออุดมการณ์ยังมีอยู่ พร้อมย้ำว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง จะต้องไม่ใช่การเลือกตั้งจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพราะจะทำให้ประชาชนตั้งคำถามกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"