คนเมียนมาโวยโดนตบหน้า อาเซียนบรรลุฉันทมติกับ'มิน อ่อง หล่าย'


เพิ่มเพื่อน    

สังคมออนไลน์เมียนมาวิจารณ์ฉันทมติ 5 ข้อจากที่ประชุมซัมมิตอาเซียนเพื่อยุติวิกฤติในเมียนมา ว่าประชาชนเหมือนโดนตบหน้า เป็นข้อตกลงที่ไม่กล่าวถึงการฟื้นฟูประชาธิปไตยหรือเอาผิดกับกองทัพที่เข่นฆ่าพลเรือนหลายร้อยคนเลย ด้านรัฐบาลเงายินดี อาเซียนเห็นพ้องยุติความรุนแรงทันที

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เดินเข้าสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 (Photo by Secretariat of the President of Ind/Anadolu Agency via Getty Images)

    การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่สำนักเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียเมื่อวันเสาร์ที่่ผ่านมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา มาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับผู้นำของบรูไน, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, สิงคโปร์, มาเลเซีย และกัมพูชา ส่วนไทย, ลาว และฟิลิปปินส์ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศร่วมประชุมแทน

    แถลงการณ์จากบรูไน ประธานอาเซียนวาระปัจจุบัน เมื่อคืนวันเสาร์ เผยว่า ที่ประชุมบรรลุฉันทมติ 5 ข้อ ได้แก่ ยุติความรุนแรงทันที, ให้ทุกฝ่ายเปิดการสานเสวนาอย่างสร้างสรรค์, ตั้งผู้แทนพิเศษของอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การเจรจา, ยอมรับความช่วยเหลือ และอนุญาตให้ผู้แทนพิเศษอาเซียนเดินทางเข้าเมียนมาได้

    ฉันทมติ 5 ข้อไม่ได้กล่าวถึงนักโทษการเมือง ถึงแม้แถลงการณ์จะเผยว่า ที่ประชุม "ได้ยินเสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด" ก็ตาม

    สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมากล่าวว่า จำนวนนักโทษการเมืองที่โดนคุมขังนับแต่รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันเสาร์ เพิ่มเป็น 3,389 คนแล้ว ขณะที่มีพลเรือนเสียชีวิตจากการปราบปรามของกองกำลังฝ่ายความมั่นคง 748 คน

    ข่าวรอยเตอร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน กล่าวว่า ยังไม่พบการประท้วงในเมืองใหญ่ๆ ของเมียนมาภายหลังการประชุมอาเซียน แต่ชาวเมียนมาหลายคนแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียวิจารณ์ข้อตกลงของอาเซียน

    "แถลงการณ์ของอาเซียนเป็นการตบหน้าประชาชนที่โดนทำร้าย, โดนฆ่า และโดนคุกคามข่มขวัญโดยกองทัพ" ผู้ใช้เฟซบุ๊กเชื่อมอชี ตุน กล่าว "เราไม่ต้องการความช่วยเหลือด้วยแนวทางและรูปแบบความเชื่อแบบนี้ของพวกคุณ"

    นัง ทิ ลวิน เป็นชาวเมียนมาอีกคนที่แสดงทัศนะต่อข้อตกลงของอาเซียนโดยให้ความเห็นท้ายข่าวของสื่อเมียนมาว่า แถลงการณ์นี้ไม่ได้สะท้อนความประสงค์ของประชาชนเลย ทั้งการปล่อยตัวนักโทษและผู้ถูกคุมขัง, หาตัวคนรับผิดชอบต่อชีวิตที่ตายไป, เคารพผลการเลือกตั้ง และฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตย

    ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อแอรอน ทเว โพสต์ทวงถามว่า ใครจะเป็นคนจ่ายคืนให้แก่ชีวิตผู้บริสุทธิ์มากกว่า 700 คน

    อย่างไรก็ดี ความเห็นพ้องที่ให้เมียนมายุติความรุนแรงโดยทันทีนั้น ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) รัฐบาลเงาที่รวบรวมเอาฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่อดีตสมาชิกรัฐบาลก่อน, อดีต ส.ส. และแกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งต่างโดนรัฐบาลทหารตั้งข้อหาเป็นกบฏต่อแผ่นดิน

    ดร.ซาซา โฆษกของเอ็นยูจี ที่อยู่ระหว่างหลบซ่อนตัว กล่าวกับเอเอฟพีว่า ข้อตกลงนี้เป็นข่าวที่สร้างกำลังใจ "นี่คือสิ่งที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติกำลังเรียกร้อง" เขากล่าว และว่า เอ็นยูจีตั้งตาคอยการมีส่วนร่วมจากเลขาธิการอาเซียน และตั้งตารอการดำเนินการอย่างหนักแน่นจากอาเซียนเพื่อติดตามการตัดสินใจเหล่านี้ และการฟื้นฟูประชาธิปไตยและเสรีภาพสำหรับประชาชนและสำหรับภูมิภาคนี้

    ด้านทอม แอนดรูส์ ผู้จัดทำรายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า ยังต้องรอดูว่าการเกี่ยวพันของอาเซียนในครั้งนี้จะมีประสิทธิภาพอย่างไร "ผลของซัมมิตอาเซียนจะพบเห็นได้ในเมียนมา ไม่ใช่ในเอกสาร" เขาทวีตเมื่อวันอาทิตย์

    หนังสือพิมพ์นิวไลต์ออฟเมียนมาของทางการ รายงานเกี่ยวกับการเดินทางเยือนจาการ์ตาของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และว่า เขาได้หารือเกี่ยวกับ "การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง" ของเมียนมา แต่รายงานไม่ได้กล่าวถึงฉันทมติของอาเซียนที่ให้เมียนมายุติความรุนแรง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"