ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะการประกาศจุดยืนต่อต้านการรัฐประหาร 4 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม ที่มี 2 กลุ่มหลัก คือ พรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนหนุ่มสาวในนาม "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ที่พวกเขาอ้างว่าได้แสดงสิทธิเสรีภาพ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 60 รับรองไว้ในการวิพากษ์วิจารณ์ และชุมนุมด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ และความรุนแรง แต่กลับถูก คสช.ใช้อำนาจรัฐด้วย กฎเหล็ก ควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จ
โดยฝ่ายแรกคือพรรคเพื่อไทย บรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทยได้ถูกตั้งข้อหา 1.ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 57/2567 ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุมหรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง 2.ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2557 ในข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 3.ผิดมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา ยุยงปลุกปั่น 4.ผิดมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก
ฝ่ายหลัง แกนนำจำนวน 14 คน นำโดย นายรังสิมันต์ โรม, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นายปิยรัฐ จงเทพ, นายนิกร วิทยาพันธุ์, นายวิเศษณ์ สังข์วิศิษฏ์ ก็ถูกแจ้งข้อหา อาทิ 1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 2.ความผิดตาม ม.215 วรรคแรกมั่วสุมเกินกว่า 10 คนขึ้นไป หรือกระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 3.เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น 4.ม.216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตาม ป.อาญา ม.215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก 5.ขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป 6.ฐานความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108 เดินแถวเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางทางจราจร เป็นต้น
โดยเฉพาะในฝ่ายของนักศึกษา บางคนจะได้ลิ้มรสชาติการสูญเสียอิสรภาพเป็นครั้งแรกในชีวิต ในสถานการณ์ที่ตำรวจกำลังเดินหน้าฝากขังต่อศาล ท่ามกลางความเป็นห่วงของประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนานาชาติ โดยเฉพาะ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) - ฮิวแมนไรต์วอตช์ ที่ออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำทันที
กลับมาที่รัฐบาล คสช. หลังจากบริหารประเทศครบ 4 ปี ก้าวสู่ปีที่ 5 ยังติดหล่มกับปัญหาเดิมจากผลโพลต่างๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ไม่นับรวมการปฏิรูปประเทศที่ไม่คืบหน้า รวมทั้งสถานการณ์พลังงานเชื้อเพลิงที่ราคาขยับตัวขึ้นสูง
จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลทหารจะต้องเร่งแก้ไข ควบคู่กับการเตรียมพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ คสช.ประกาศเอาไว้จะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งขณะนี้คงต้องรอความชัดเจนว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ จะมีผลบังคับใช้หรือไม่ เพื่อจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็เพิ่งวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ต้องจับตาว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในวันที่ 30 พ.ค.นี้ จะมีผลออกมาเช่นใด โดยสามารถประเมินออกมาได้ 3 แนวทาง คือ 1.ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2.มีหรือขัด แต่ไม่เป็นสาระสำคัญต้องทำให้ตกทั้งฉบับ แก้เพียงบางมาตรา บางประโยคเท่านั้น และ 3.ขัดต่อสาระสำคัญรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องร่างใหม่ ซึ่งอาจทำให้โรดแมปเลือกตั้งเคลื่อนออกไป
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำนายว่า สมมุติว่าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ รัฐบาลสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในเดือน ก.พ.62 แม้จะมีการประเมินว่าอาจจะจัดการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.62 โดยหลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยื่นทูลเกล้าฯ ถวายในเดือน มิ.ย.61 และนับจากนั้นไปอีก 90 วัน หลัง พ.ร.ป.ส.ส.ประกาศใช้ ในช่วงเดือน พ.ย.61 ก็สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งได้ภายใน 150 วัน ดังนั้นรัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 150 วันก็ได้ ใช้เพียงแค่ 60 วันเพื่อให้เลือกตั้ง ก.พ.62 ได้ ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลปกติหากมีการยุบสภาฯ ก็จะให้จัดเลือกตั้งภายใน 60 วัน
นอกจากนี้ยังมีประเด็นศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยนัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยต่อในวันที่ 30 พ.ค. หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าขัดรัฐธรรม คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ก็จะสิ้นสภาพไป พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองก็จะมีผลบังคับใช้ดังเดิมตามที่ สนช.เห็นชอบไป พร้อมคืนสิทธิ์ของสมาชิกพรรคการเมืองให้กลับมาเช่นเดิม และพรรคการเมืองต่างๆ สามารถเคลื่อนไหวเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง
แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรับรองว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะเกิดปัญหาวิชาการ และหลักนิติรัฐ ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่มีกระบวนการตรากฎหมายถูกต้องตามขั้นตอนและมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็จะด้อยค่า ไร้ความศักดิ์สิทธิ์ และสามารถถูกคำสั่งหัวหน้า คสช.ลบล้างได้ทุกเมื่อ ในขณะที่ทางการเมืองก็เปิดช่องให้รัฐบาล คสช.เดินหน้าดูดนักการเมือง และทุ่มงบประมาณให้พื้นต่างๆ หาเสียงล่วงหน้าไปตามลำพัง ไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ยังติดล็อกไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้
อย่างเช่นล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ในวันที่ 11-12 มิถุนายน ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง คือ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยนายกฯ จะลงพื้นที่จังหวัดพิจิตรเพื่อพบปะประชาชน ก่อนที่จะประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.นครสวรรค์ หลังก่อนหน้านี้ ดูดกลุ่มนักการเมืองในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคและกลุ่มการเมืองต่างๆ อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังชล พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา กลุ่มมัชฌิมา กลุ่มบ้านริมน้ำ ตระกูลสะสมทรัพย์ และกลุ่ม กปปส. เป็นต้น
ดังนั้นในช่วงเดือนสิ้นเดือนพฤษภาคมจนถึงมิถุนายนนี้ จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองอีกครั้ง โดยเฉพาะความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จะเกิดขึ้นตามที่นายกฯ ลั่นวาจาได้หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ให้คำตอบ รวมทั้ง ความชัดเจนของ คสช. จะเล่นการเมืองไปในทางที่ตัวเองได้เปรียบเพียงฝ่ายเดียว โดยไม่สนใจการยอมรับหรือไม่
หรือสุดท้าย หากประเมินแล้วไปต่อลำบาก ได้ไม่คุ้มเสีย ก็อาจเลือกแนวทางของอาจารย์ปริญญา ที่แนะนำเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ “ถ้าได้ที่นั่ง ส.ส.ไม่ถึง 250 เก้าอี้ เพื่อขึ้นเป็นนายกฯ และอยู่ต่อทำงานในสภาฯ ได้ ก็ควรถอยดีกว่าและกลับมาอยู่ในฐานะคนกลางเหมือนเดิม" นักวิชาการชื่อดังกล่าวปิดท้าย.
ทีมข่าวการเมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |