บึงบอระเพ็ดแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในไทย จ.นครสวรรค์
บึงบอระเพ็ดเป็นบึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยขนาดเนื้อที่กว่า 132,639 ไร่ และมีความหลากหลายทางระบบนิเวศทั้งพันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์ และมีประชาชนส่วนหนึ่งเข้าไปอาศัยอยู่จับจองพื้นที่ทำกิน รวมไปถึงเป็นแหล่งน้ำดิบใช้ผลิตน้ำประปาของชาวนครสวรรค์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัด ทำให้บึงใหญ่แห่งนี้เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชาติ มีผู้มาใช้ประโยชน์มากมาย
แต่บึงบอระเพ็ดเผชิญปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี โดยเฉพาะปี 2563 บึงบอระเพ็ดเจอวิกฤติแล้งที่สุด น้ำในบึงแห้งขอด เห็นเกาะแก่งหินโผล่ขึ้นมามากมาย ไม่สามารถทำการประมงและทำการเกษตรได้ ไม่เฉพาะคน สัตว์น้ำก็ได้รับผลกระทบ โอกาสที่จะแพร่ขยายพันธุ์ลดลง
ประกอบกับสภาพพื้นที่มีปัญหาการบุกรุก ใช้ประโยชน์ไม่เหมาะสม ป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำถูกทำลาย เมื่อฝนตกลงมามวลน้ำที่ไหลหลากลงสู่บึงน้ำจืดแห่งนี้พัดพาตะกอนดินมามหาศาล ส่งผลให้บึงบอระเพ็ดตื้นเขินกักเก็บน้ำไม่เต็มประสิทธิภาพ ในฤดูฝนน้ำหลากจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน่านเข้าท่วมพื้นที่ แม้จะมียุทธศาสตร์พัฒนาบึงบอระเพ็ดเมื่อ 4 ปีก่อน แต่การพัฒนายังไม่เป็นไปตามแผนดีเท่าไหร่ ยังเจอน้ำท่วมและน้ำแล้งอยู่
จากปัญหาดังกล่าว กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทานดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำบึงบอระเพ็ด เพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำได้มากขึ้นและรองรับความต้องการใช้น้ำที่แนวโน้มมากขึ้นท่ามกลางภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน เกิดปัญหาน้ำมากน้ำน้อย กระทบวิถีชีวิตผู้คน ชุมชน สิ่งแวดล้อม
ขุดลอกตะกอนดินในบึงบอระเพ็ด แก้ตื้นเขิน เพิ่มปริมาณน้ำ
ขณะนี้โครงการบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เป็น 1 ใน 11 แหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ต้องเร่งปรับปรุงภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ ซึ่งจะมีโครงการขุดลอกตะกอนดินกว๊านพะเยา และโครงการพัฒนาหนองเล็งทราย จ.พะเยา โครงการขุดลอกตะกอนดินเวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย โครงการพัฒนาบึงราชนก จ.พิษณุโลก โครงการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร จ.พิจิตร โครงการพัฒนาหนองหาร จ.สกลนคร โครงการพัฒนาแก่งน้ำต้อน โครงการพัฒนาแก่งละว้า จ.ขอนแก่น โครงการพัฒนาบึงละหาน จ.ชัยภูมิ และโครงการพัฒนาหนองช้างใหญ่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งกรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย กองทัพบก และกองบัญชาการกองทัพไทย ดำเนินการ
นายประพิศ จันทร์มา
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติทั้ง 11 โครงการได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องจัดทำแผนแม่บทให้มีความสอดคล้องกันระหว่างปริมาณงาน ระยะเวลาก่อสร้าง และงบประมาณ อีกทั้งให้จัดเตรียมแผนโครงการต่อเนื่องกันด้วยการวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อให้การปฏิบัติงานในพื้นที่เกิดประสิทธิภาพเต็มที่ พร้อมทั้งกำชับให้ทุกโครงการ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเกิดประโยชน์คลี่คลายปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย
เวลานี้บึงบอระเพ็ดประกาศใช้มาตรการ "ให้ หวง ห้าม” จัดโซนนิ่ง เนื่องจากกำลังเผชิญปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างหนัก ในพื้นที่เร่งขุดลอกตะกอนดินบึงบอระเพ็ด และขุดบึงเป็นวังปลาหลายจุด เพื่อทดน้ำและกักเก็บน้ำใช้ในการเกษตรในฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง รวมถึงรักษาระบบนิเวศด้านการประมง เป็นที่อาศัยของปลาพันธุ์ต่างๆ ช่วงน้ำน้อย ให้ทันก่อนฤดูฝนมาถึง และรณรงค์ให้ชาวบ้านลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก หวังฟื้นฟูคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมให้กลับมา
ในส่วนที่มีการบุกรุก ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมใจลงพื้นที่ทำความเข้าใจทุกครัวเรือน ภายใต้โครงการพัฒนาบึงบอระเพ็ด เสนอแนวทางให้ชาวบ้านเช่าพื้นที่ในราคาถูกแทนการไล่ที่ แต่มีข้อแม้ต้องยินยอมให้พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่พอใจและให้ความร่วมมือ
“ ปีที่แล้วบึงบอระเพ็ดเจอวิกฤติแล้งหนักที่สุด หนักกว่าปี 58 เนื่องจากแม้จะช่วงฤดูฝน แต่ไม่มีน้ำฝนจากเขตเพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ไหลเข้าสู่บึงบอระเพ็ด ระดับน้ำในแม่น้ำก็น้อย ทำให้น้ำในบึงแห้งสนิท ทั้งกรมชลฯ และกรมน้ำต้องเร่งระดมสูบน้ำจากแม่น้ำน่าน 44 ล้านลูกบาศก์เมตร แก้ขาดแคลนน้ำและรักษาระบบนิเวศ" นายศุภชัย มโนการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครสวรรค์ กล่าว
ขุดบึงเป็นวังปลา เพื่อทดน้ำและกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง และฝนทิ้งช่วง
นอกเหนือจากขาดแคลนน้ำแล้ว ความเสื่อมโทรมก็เป็นอีกปัญหาเร่งด่วน จากการศึกษาของกรมชลประทานพบว่า น้ำที่ไหลเข้าสู่บึงบอระเพ็ดมาพร้อมตะกอนดินจำนวน 2 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งมีโครงการขุดลอกตะกอนดินอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 59 ต่อเนื่องทุกปีเพื่อแก้ตะกอนตื้นเขิน เพิ่มปริมาณน้ำ
ผอ.โครงการชลประทานนครสวรรค์เผยว่า บึงบอระเพ็ด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ครอบคลุม 3 อำเภอของ จ.นครสวรรค์ การแล้งหนักทำให้มีผลกระทบ ช่วงน้ำลด มีน้ำไม่ถึง 10 ล้าน ลบ.ม. กิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำล่องเรือชมบึงก็ทำไม่ได้
ในแผนปฏิบัติการเร่งด่วนพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดมี 6 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย ปรับปรุงประตูระบายน้ำ 2 แห่ง คือ ปตร.ปากคลองบอระเพ็ด เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำน่านเพิ่มปริมาณน้ำเข้าบึง โดยเฉพาะพันธุ์สัตว์น้ำธรรมชาติ เพราะกรมประมงห่วงชนิดพันธุ์ปลาในบึงที่ลดลง ส่วน ปตร.คลองบางปอง ปรับปรุงจากฝายเดิมเป็นบานพับ จากระดับ +24.00 เป็นระดับ +25.00 จะช่วยเพิ่มความจุของบึงจาก 221 ล้าน ลบ.ม. เป็น 413 ล้าน ลบ.ม. เป้าหมายเป็นแก้มลิงรับน้ำหลาก ตัดยอดน้ำที่จะไหลมากรุงเทพฯ แต่เขตบึงพื้นที่น้ำท่วมจะเพิ่ม ต้องเตรียมมาตรการแก้ปัญหานี้ต่อไป
นายศุภชัย มโนการ
ในแผนเร่งด่วนยังมีการขุดลอกตะกอน คลองดักตะกอน ขุดบึงเป็นวังปลาพื้นที่ 200 ไร่ ซึ่งห้ามทำประมงในวังปลา สร้างฝายชะลอน้ำเหนือบึงบอระเพ็ด เพื่อดักตะกอน ชะลอน้ำหลาก และเพิ่มการกักเก็บน้ำต้นทุน ตามหลักการอ่างเล็กเสริมอ่างใหญ่
นายศุภชัยบอกด้วยว่า มาตรการ "ให้ หวง ห้าม" มาจากการระดมความคิดร่วมกันของกรมและจังหวัดจนตกผลึกออกมา ออกกฎชัดเจน เขตให้ 4.1 หมื่นไร่ เขตหวง 4.5 หมื่นไร่ มีขอบเขตชาวบ้านทำกินได้เฉพาะการเกษตร ส่วนเขตห้ามเนื้อที่ 4.6 หมื่นไร่ อนุรักษ์ไว้เพื่อสมดุลธรรมชาติ ห้ามทำกิจกรรมทุกประเภท เชื่อว่าจะแก้ปัญหาบึงบอระเพ็ดได้ถูกจุด ตามแผนโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2567 อีกทั้งจังหวัดจัดเตรียมแผนโครงการต่อเนื่องพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำและท่องเที่ยวด้านวนเกษตรในรูปแบบโคก หนอง นา โมเดล นอกจากบรรเทาน้ำท่วมน้ำแล้ง จะสร้างเม็ดเงินเข้าจังหวัดต่อไป
พัฒนาแก้มลิงแก่งน้ำต้อนให้เก็บน้ำเพิ่มเป็น 35 ล้าน ลบ.ม.
จากภาคกลางมาที่อีสาน โครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อน จ.ขอนแก่น อีกโปรเจ็กต์ใหญ่ที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำชี แม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทยกว่า 1,047 กิโลเมตร ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ใช้ประโยชน์จากลุ่มน้ำแก่งน้ำต้อน
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ต้นน้ำชีมีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ ทั้งเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 5 แห่ง ปริมาณน้ำ 240 ล้าน ลบ.ม. แต่ช่วงกลางน้ำ ซึ่งไหลผ่าน จ.ขอนแก่น จำเป็นต้องหาพื้นที่เก็บกักน้ำ เพราะฝนทิ้งช่วงบ้าง น้ำขาด น้ำเกินบ้าง แก่งน้ำต้อนเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา ความเป็นมาโครงการในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริกับผู้ว่าฯ ขอนแก่นตั้งแต่ปี 2539 ลำน้ำชีหน้าน้ำหลากน้ำท่วมสองฝั่ง เมื่อน้ำลดน้ำที่ท่วมก็ลดตาม เกิดขาดแคลนน้ำ ควรหาวิธีเก็บกักน้ำในพื้นที่เพื่อใช้เพาะปลูก จากนั้นกรมชลฯ สร้างอ่างเก็บน้ำแก่งน้ำต้อนแล้วเสร็จปี 44 ความจุ 7 ล้าน ลบ.ม. และสำรวจหาพื้นที่แก้มลิงเพิ่มเติมรวม 34 โครงการ สองฝั่งน้ำชี
แก้มลิงแก่งน้ำต้อนมีพื้นที่ 6,000 ไร่ อยู่ใน 3 ตำบล คือ เมืองเก่า ดอนช้าง และบ้านหว้า รวมถึงแก้มลิงอื่นๆ สองฝั่งน้ำชียังขาดการบริหารจัดการน้ำเชื่อมโยงกัน นำมาสู่การปรับปรุงเป็นโครงการพัฒนาแก่งน้ำต้อน ระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ 64-67
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข
ผอ.สำนักชลประทานที่ 6 บอกว่า เฟส 1 ขุดลอกแก้มลิง ปริมาณดินขุด 15 ล้าน ลบ.ม. และสร้างประตูระบายน้ำ มีการชักน้ำจากแม่น้ำชีในฤดูน้ำหลากให้ไหลสู่แก่งน้ำต้อน ขยายทางน้ำ เฟส 2 มีสถานีสูบน้ำ พร้อมระบบส่งน้ำสายหลัก ระยะทาง 27 กิโลเมตร สายรอง 25 กิโลเมตร หากโครงการแล้วเสร็จเพิ่มการกักเก็บน้ำจาก 7 ล้าน ลบ.ม. เป็น 35 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 35,000 ไร่ ใน 7 ตำบล 3 อำเภอ
“ เกษตรกรในพื้นที่ทำนาปลูกข้าว ส่วนใหญ่เป็นเกษตรน้ำฝน แล้วก็มีพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ถั่ว ประสบปัญหาบางปีฝนน้อย ฝนทิ้งช่วง จะมีความเสี่ยง รายได้ไม่มั่นคง การพัฒนาแก้มลิงแก่งน้ำต้อนจะมีความมั่นคงในการใช้น้ำ เราต้องเก็บน้ำไว้สองฝั่งแม่น้ำสายหลักให้มากที่สุด สำรองไว้ยามแล้ง และทุกปีฤดูน้ำหลากแก้มลิงที่กระจายอยู่ช่วยเบรกยอดน้ำไม่ให้น้ำไหลท่วมพื้นที่ตอนล่าง จ.มหาสารคาม อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ซึ่งจะวางแผนบริหารจัดการน้ำจากสถานการณ์จริง ฤดูฝนที่ใกล้เข้ามาก็เตรียมพร้อมแล้ว" นายศักดิ์ศิริยืนยัน และบอกอีกว่า ในอนาคตพื้นที่โครงการจะมีพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจืด พื้นที่อนุรักษ์บัวหลวง ศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ทุกคนมาเรียนรู้ขยายความคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
แผนพัฒนาแก้มลิงมีงานประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ช่วยลดน้ำท่วม
การปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ 11 โครงการ ซึ่งคุมพื้นที่ทั่วประเทศ ต้องใช้งบประมาณมหาศาลและมีระยะเวลาดำเนินงาน จำเป็นต้องมีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตรงไปตรงมาสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็มีส่วนสำคัญต้องเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในไทย น้ำทุกหยดมีค่า ไม่ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างฟุ่มเฟือย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |