แอสตร้าฯใกล้แล้ว! ซิโนแวค5แสนโดส


เพิ่มเพื่อน    

 วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าโดยสยามไบโอไซเอนซ์คืบหน้า อย.ไฟเขียว เผยคุณภาพทัดเทียมกับวัคซีนที่ผลิตในประเทศอิตาลี "สปุตนิก-โมเดอร์นา" ขอขึ้นทะเบียนในไทย ขณะที่ซิโนแวคจากจีนมาเพิ่มอีก 5 แสนโดส กลางเดือนหน้าอีก 1 ล้านโดส

    เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่มาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนเป็นรายแรกกับ อย. ซึ่งได้รับอนุมัติทะเบียนไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2564 นั้น บริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ ยังได้เลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของโลกผ่านบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีความพร้อมรองรับการผลิตวัคซีนจำนวนมาก เพื่อให้ประเทศไทยและประเทศอื่นสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้การกำกับดูแลและการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิดจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ เพื่อให้การพัฒนาและการผลิตวัคซีนเป็นไปตามมาตรฐานสากล และเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยมีการปรึกษาหารือกับ อย.มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การพัฒนาสถานที่ผลิต กระบวนการผลิตตัวยาสำคัญและวัคซีน จนได้รับหนังสือรับรองมาตรฐาน GMP จาก อย. และดำเนินการผลิตตัวยาสำคัญและวัคซีนโควิด-19 พร้อมเก็บข้อมูลเพื่อเตรียมการยื่นเพิ่มสถานที่ผลิตวัคซีน
    ทั้งนี้ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ ได้จัดส่งข้อมูลกระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพการผลิตของวัคซีนโควิด-19 ของสถานที่ผลิต บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ต่อ อย. เมื่อวันที่ 9 เม.ย.และ 19 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา โดย อย.ทำการประเมินและพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน พบว่าข้อมูลมีความครบถ้วน มีคุณภาพ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าคุณภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตจากบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มีความทัดเทียมกับคุณภาพวัคซีนที่ผลิตจากสถานที่ผลิตในประเทศอิตาลีที่ขึ้นทะเบียนไว้แต่ต้น
    ดังนั้น อย.จึงได้อนุมัติเพิ่มสถานที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ จากสถานที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในวันที่ 23 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา ซึ่ง อย.มีความยินดีอย่างยิ่งที่มีส่วนสำคัญช่วยให้ประเทศไทยจะได้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อคนไทย โดยเร็ว
    เลขาธิการ อย.กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า สำหรับความคืบหน้าของการพิจารณาอนุญาตวัคซีนโควิด-19 ซึ่ง อย.ได้มีการอนุมัติไปแล้ว 3 รายคือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด, วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม และวัคซีนจอห์นสันแอนด์ จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด และอยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน 1 ราย คือวัคซีนของบารัต โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด
    ทั้งนี้ อย.ได้มีการติดต่อประสานงาน รวมทั้งตอบข้อซักถามของผู้ประกอบการที่สนใจมาขอขึ้นทะเบียนวัคซีน และล่าสุดทราบว่ามีผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลคำขอขึ้นทะเบียนยื่นต่อ อย.อีก  2 ราย ได้แก่ วัคซีนสปุตนิก วี โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด และวัคซีนของโมเดอร์นา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ซึ่ง อย.มีความพร้อมในการพิจารณาอนุมัติวัคซีนเพื่อให้คนไทยได้มีวัคซีนใช้โดยเร็ว
     น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงเช้าของวันเดียวกันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้รับแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของซิโนแวคจากประเทศจีนอีก 5 แสนโดส ได้มาถึงประเทศไทยแล้ว รวมถึงขณะนี้ประเทศไทยได้รับวัคซีนซิโนแวครวมแล้ว 2.5 ล้านโดส และได้รับแจ้งทางผลิตว่าภายในกลางเดือน พ.ค.2564 จะจัดส่งอีก 1 ล้านโดส รวมเป็น 3.5 ล้านโดส
     “รองนายกรัฐมนตรีระบุว่า หลังจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อกระจายวัคซีนไปให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด และนอกเหนือจากวัคซีนแล้ว ยังได้เร่งดำเนินการจัดหายาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ โดยวันจันทร์ที่ 26 เม.ย.นี้ ยาฟาวิพิราเวียร์จำนวน 2 ล้านเม็ดจะมาถึงประเทศไทย ซึ่งจะได้ส่งไปให้โรงพยาบาลเพื่อรักษาผู้ป่วยทันที”
    รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า การที่กระทรวงสาธารณสุขเร่งจัดหาวัคซีนยารักษาโรคโควิด-19 และเวชภัณฑ์นี้เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีข้อสั่งการให้เตรียมและจัดหาทุกส่วนให้เพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ารัฐบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือประชาชนในการปฏิบัติตนตามมาตรการควบคุมโรค ทั้งมาตรการส่วนบุคคล มาตรการองค์กร และมาตรการทางสังคมโดยเคร่งครัด เพื่อประสิทธิผลของการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค
    ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ครบ 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชน 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2564 ขณะที่วัคซีนส่วนที่ทยอยส่งเข้ามายังประเทศไทยแล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดย ณ วันที่ 23 เม.ย. 2564 ผู้ที่ได้รับวัคซีนสะสม 964,825 โดส ใน 77 จังหวัดเป็นวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 834,082 ราย และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 (ครบโดส) 130,743 ราย
    ขณะที่เพจองค์การเภสัชกรรมได้โพสต์ภาพและข้อมูลว่า ที่เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม รับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค จำนวน 5 แสนโดส จากประเทศจีน ที่ขนส่งโดยสายการบิน Air China Airline เที่ยวบินที่ CA603 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพมหานคร
    สำหรับการรับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค จากประเทศจีนในครั้งนี้เพิ่มอีกจำนวน 5 แสนโดส หลังจากที่ก่อนหน้านี้นำเข้ามาแล้ว 2 ล้านโดส รวมยอดนำเข้าวัคซีนซิโนแวคจากประเทศจีน จำนวนทั้งสิ้น 2.5 ล้านโดส โดยวัคซีนทั้งหมดนี้จะขนส่งไปจัดเก็บยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศา ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด จากนั้นองค์การฯ จะดำเนินการตรวจรับวัคซีนและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และเอกสารต่างๆ เมื่อผ่านการตรวจสอบทุกขั้นตอนแล้ว จะส่งให้กรมควบคุมโรคตรวจรับวัคซีนและกระจายไปยังหน่วยบริการและสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามแผนที่ทางกรมควบคุมโรคกำหนด โดยวัคซีนนี้จะฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 18-59 ปี คนละ 2 โดส.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"