บริหารโควิดเฟส 3 ‘ติดลบ’ กับข่าวลือยุบสภารีเซตใหม่


เพิ่มเพื่อน    

ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน ที่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ พุ่งแตะถึง 1,000 ครั้งแรก จนถึงวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังไม่เคยกลับไปต่ำกว่า 1,000 อีกเลย

         ที่น่ากังวลคือ เมื่อวันที่ 24 เมษายน ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยสร้าง “นิวไฮ” ด้วยการพุ่งขึ้นไปเกือบ 3,000 ราย

สถานการณ์ตลอดหลายวันที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะ “ทรง” กับ “ทรุด” ยังไม่เห็นทิศทางหรือสัญญาณว่า กราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อจะกลับลงไปต่ำกว่าหลักพันในเวลาอันรวดเร็วได้

การระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้ นับเป็นวิกฤติที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยต้องเผชิญกับเชื้อมรณะไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่ต้นปี 2563

         ขณะเดียวกัน การระบาดระลอกนี้ไม่ได้น่ากังวลเพียงแค่ตัวเลข แต่ยังรวมถึงระบบการบริหารจัดการของรัฐบาล หรือศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่ถูกมองว่า ทำคะแนน ติดลบ จากความไม่พร้อมในเรื่องต่างๆ

          เริ่มตั้งแต่ประเด็นเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาดูเหมือนรัฐบาลจะชะล่าใจเกินไป ทำให้เมื่อกางตัวเลขออกมาดูพบว่า ไทยกลายเป็นประเทศในลำดับท้ายๆ ที่มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในปริมาณที่ยังน้อยอยู่ เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ

         ที่ผ่านมารัฐบาล หรือ ศบค.พยายามบอกกับประชาชนว่า วัคซีนที่ดีที่สุดคือ มาตรการป้องกันสุขอนามัยส่วนตัวคือ สวมหน้ากาก ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง แต่เมื่อมีการระบาดในระลอกนี้ที่ติดเชื้อได้ง่ายและเร็ว ทำให้ถูกย้อนศรกลับว่า ตัดสินใจและประเมินผิดพลาดหรือไม่

          และการเดินหน้าจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมโดยเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการที่ พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเจรจากับรัสเซีย เพื่อขอการสนับสนุนวัคซีนสปุตนิก วี และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน หรือการที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เข้าไปพูดคุยกับบริษัท ไฟเซอร์ และมีสัญญาณที่กลับมา แม้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในทางหนึ่งมันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่ามันเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า ไม่ได้มีการวางแผนที่ดีเรื่องวัคซีนที่ผ่านมา

                นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ โดยเฉพาะเรื่องการประสานงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ตามระดับ แต่ปรากฏว่า หลายกรณีต้องรออยู่หลายวัน หรือต้องรอเป็นข่าวก่อนถึงจะได้รับความช่วยเหลือ บางรายรอจนติดทั้งครอบครัว และบางรายเสียชีวิตระหว่างรอการช่วยเหลือ

           ปัญหาปลีกย่อยเกิดขึ้นถึงระบบการติดต่อสื่อสาร บรรดาสายด่วนต่างๆ ที่รัฐบาลให้ไว้ไม่สามารถติดต่อได้ หรือรอสายนาน จนผู้ป่วยเคว้งคว้าง เกิดสภาวะเกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา ขนาด พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทดลองโทรศัพท์ไปยังเจอปัญหาเองกับตัว จนต้องแก้ไขกันทุกวันนี้

         เช่นเดียวกับเรื่องเตียงคนไข้ ที่กลายเป็นปัญหาหนึ่งทำให้การนำตัวผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาช้า หรือกรณีที่ กทม.ต้องรีบหาเตียงไอซียู หลังเหลือไม่มากนัก จึงต้องเร่งทำกันในระหว่างวิกฤติ

         หรือแม้กระทั่งเรื่องของโรงพยาบาลสนามเอง ที่แน่นอนว่า ในทางปฏิบัติมันไม่มีทางที่จะสะดวกสบายเท่ากับโรงพยาบาล หรือฮอตพิเทล หากแต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อมีการนำภาพโรงพยาบาลสนามของหลายๆ ประเทศที่มีดูเป็นระบบและระเบียบมากกว่าของไทย

          ยังไม่นับรวมเรื่องจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดในครั้งนี้ที่มาจากสถานบันเทิง หรือการแพร่ระบาดที่ จ.สมุทรสาคร อันมีสาเหตุมาจากการลักลอบพาแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศในระลอกที่แล้ว ที่รัฐบาลต้องรับเรื่องการปล่อยปละละเลย หละหลวมไปเต็มๆ

                จากสารพันปัญหาข้างต้น มันเลยกลายเป็นเครื่องหมายคำถามของประชาชนว่า ที่ผ่านมารัฐบาลประมาท หรือชะล่าใจเกินไปหรือไม่ว่าจะไม่มีการระบาดหนักขนาดนี้ ทั้งที่โดยวิสัยจะต้องมีการวางมาตรการไว้สำหรับกรณีเลวร้ายที่สุดไว้ก่อน

         และมันยังทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ผลงานการสะกดเชื้อมรณะในการระบาดรอบแรกเมื่อต้นปี 2563 จนได้รับการยกย่องเรื่องการป้องกันทางด้านสาธารณสุขเบอร์ต้นๆ ของโลก แท้จริงแล้วที่มันได้ผล เป็นเพราะมาตรการของรัฐ หรือเป็นเพราะความร่วมมือของภาคประชาชนเอง

          ตอนนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในสภาพ “เมาหมัด” ยังตั้งหลักได้ไม่แน่น เพราะเชื้อมันกระจายไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่มีสัญญาณชะลอตัวเลย สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดตอนนี้คือ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และขอความร่วมมือจากประชาชนเท่านั้น

          ถือว่าเป็นสภาวะที่วิกฤติที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือยุคปัจจุบันเลยก็ว่าได้

และสภาวะแบบนี้ มันเลยถูกจับโยงกับกระแสข่าวลือเรื่อง “ยุบสภา” เพื่อไปรีเซตกันใหม่ ที่โผล่ทะลุปล้องขึ้นมากลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

         ข่าวลือดังกล่าวถูกเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน ตั้งแต่การแบ่งจังหวัดให้รัฐมนตรีดูแล ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องปกติทุกครั้งที่มีรัฐมนตรีใหม่เข้ามาจะต้องมีการแบ่งกันใหม่ ทว่า จุดผิดสังเกตคือ รายชื่อของรัฐมนตรีกับพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล เสมือนเป็นการเตรียมการบางอย่าง

           การมอบหมายให้รัฐมนตรีดูแลรับผิดชอบในจังหวัดที่ตัวเองเป็น ส.ส.และมีฐานเสียง ไม่ได้แปลกใหม่ในทางการเมือง หากแต่ครั้งนี้มีบางจังหวัดที่สวนทางออกไป โดยเฉพาะการให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคเหนือให้พรรคพลังประชารัฐ และเป็น ส.ส.พะเยา ไปดูแล 3 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา และภูเก็ต ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ที่มีฐานเสียงอยู่ จ.สงขลา เป็นผู้ดูแล

          การให้ ร.อ.ธรรมนัส ที่ตอนนี้เป็นขุนพลภาคใต้ให้กับพรรคพลังประชารัฐดูแล 3 จังหวัดดังกล่าว ที่มี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐอยู่ และ 2 ใน 3 คือ สงขลา และนครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่มีผู้แทนทั้งจังหวัดรวมกัน 20 คน จึงถูกมองว่าเป็นการเข้าไปทำฐานเสียงเพื่อเตรียมตัวสู่การเลือกตั้ง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ยึดพื้นที่ภาคใต้แทนพรรคประชาธิปัตย์

           เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับพรรคประชาธิปัตย์ สอดรับกับคำพูดของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า “ทุกคนสามารถเข้าใจได้ไม่ต่างกัน“

                ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์เองก็น่าสนใจ หลังนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคออกมาเปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรค ได้ย้ำถึงการดำเนินการตามที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดถึงกรณีการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง หรือยุบสภาเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมความพร้อมตลอดเวลา

          นอกจากนี้ บรรดาพรรคการเมืองใหม่ต่างๆ ต่างทยอยจดจัดตั้งพรรคกันเป็นจำนวนมาก ประหนึ่งได้กลิ่นว่า พร้อมจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน

มันเลยทำให้การจับตาว่า หากสถานการณ์รัฐบาลไม่ดีขึ้น น่าจะหาจังหวะที่ดีๆ ลงไปรีเซตกันใหม่ โดยเฉพาะหลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ผ่านความเห็นชอบของสภาและมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ กับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปีในช่วงเดือนกันยายน ที่เป็นการวางขุมกำลังเอาไว้ให้พร้อมก่อน

 ที่หากทำเสร็จสิ้น 2 อย่างแล้ว อันเป็นเครื่องมือสำคัญ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น!!!. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"