ชมรมพัฒนาบุคลิกแห่งการไม่พูด


เพิ่มเพื่อน    

                                                                                                                               (1)

            เคยคิดๆ ไว้นานแล้วอยู่เหมือนกัน...ว่าอยากจะจัดตั้งสมาคม หรือชมรม พัฒนาบุคลิกการไม่พูด ขึ้นมาให้เป็นรูป เป็นร่าง เป็นตัว เป็นตน แต่ติดขัดที่ช่วงระยะนั้น คุณน้า หรือคุณปู่ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ท่านกำลังไปได้สวย ไปด้วยดี กับชมรมหรือสมาคม พัฒนาบุคลิกการพูด อยู่พอดิบ พอดี ก็เลยเลิกคิด เลิกกวนตีน เลิกอยากสร้างความเปรี้ยวตีน ให้กับใครต่อใครมาตั้งแต่นั้น...

                                                                                                                                    (2)

            ทั้งๆ ที่ การไม่พูด นั้น...ต้องถือเป็น ศิลปะขั้นสูง เอามากๆ คือไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะในยุคนี้ สมัยนี้ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเต็มไปด้วย เสรี ชนิดแทบฉิบหาย-วายวอดกันไปข้าง อะไรประมาณนั้น หรือถ้าลองย้อนกลับไปยังสังคมอินตะระเดีย ในยุคก่อนหน้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราเอาเลยก็ยังได้ การไม่พูด นั้น...ถือเป็นการ บำเพ็ญเพียร ชนิดหนึ่ง ที่อาจนำไปสู่การ บรรลุ อะไรต่อมิอะไรต่างๆ ได้เยอะแยะมากมาย และนี่เองที่ทำให้ พระมหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนา เชน (Jainism) ท่านจึงยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติมาตั้งแต่แรก หรือหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระบิดา-มารดา กษัตริย์แห่งนครไพศาลี เพราะการบำเพ็ญทุกรกิริยา ท่านเลยตัดสินใจออกบวช เพื่อแสวงหา สัจธรรม ที่แท้จริงตามแบบฉบับของตัวเอง ไม่ต่างอะไรไปจากพระพุทธเจ้าของหมู่เฮานั่นแหละ...

                                                                                                                                    (3)

            ว่ากันว่า...การไม่พูด ของ พระมหาวีระ นั้น ขนาดถูกคนเลี้ยงแพะเอาไม้ทุบหัว เพราะแพะที่ฝากไว้ให้ท่านเลี้ยงอยู่ชั่วประเดี๋ยวเดียว ถูกหมาป่าคาบเอาไปแ-ก โดยศาสดาศาสนาเชนรายนี้ ได้แต่นิ่งเงียบ ไม่อาจอ้าปาก ชี้แจง ให้เหตุผลแก้ต่างหรือแก้ตัว อะไรต่อมิอะไรได้ แต่ พระมหาวีระ ที่มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าคนเลี้ยงแพะไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า กลับไม่ได้คิดจะตอบโต้และไม่ได้คิดจะหลุดปากคำพูดใดๆ ออกมาเอาเลยแม้แต่น้อย ปล่อยให้โลหิตรินไหลออกจากร่างกาย แล้วเดินจากไปแบบเงียบๆ แบบไม่คิดจะพูดจาใดๆ ออกมาเลย และนั่นเองที่ทำให้คำร่ำลือเรื่อง การไม่พูด ของ พระมหาวีระ กลายเป็นเรื่องที่ถูกนำไป พูด หรือนำไปเสกสรรปั้นแต่ง จนกลายเป็นที่เชื่อถือ ศรัทธา กลายเป็น พระศาสดา ในเวลาต่อมานั่นเอง...

                                                                                                                        (4)

            หรือในยุคที่อนุทวีปอินเดีย...กำลังเพียรพยายาม ต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ในเวลาอีกนับพันๆ ปีต่อมาหลังจากนั้น ผู้นำอินตะระเดีย อย่างท่าน มหาตมะ คานธี ก็ถือเป็นอีกรายหนึ่ง ที่เพียรพยายาม เข้าถึง-เข้าใจ ต่อวิธีการและกระบวนการแห่ง การไม่พูด ตามแบบฉบับและแนวทางของ พระมหาวีระ นั่นแหละ ถึงขั้นต้อง ฝึก ต้องกำหนดช่วงเวลาให้กับการประพฤติปฏิบัติ ตามแนวทางดังกล่าวในแต่ละวัน  หรือที่เรียกๆ กันว่ากระบวนการ เข้าเงียบ ไม่เปิดปาก พูดจาว่ากล่าว กับใครต่อใครนับเป็นชั่วโมงๆ ในแต่ละวัน จนได้นำมาซึ่ง แนวทางการต่อสู้ ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ของบรรดานักต่อสู้เพื่อความถูกต้อง-ยุติธรรมที่แท้จริง ในระดับโลกตราบจนเท่าทุกวันนี้ นั่นก็คือแนวทางที่เรียกว่า สัตยาเคราะห์ นั่นเอง...

                                                                                                                        (5)

            อดีตเด็กในบ้าน หรือที่ผู้เกิดและเติบโตขึ้นมาภายใต้การอุ้มชู ดูแล ของท่าน มหาตมะ คานธี แถมยังเป็นลูกชายของเลขานุการส่วนตัวของท่าน คานธี อีกด้วย คือ นาย นารายัน เดซาย ได้เคยพยายามอธิบายสิ่งที่เรียกว่า สัตยาเคราะห์ เอาไว้ในหนังสือเรื่อง คานธีรำลึก-มหาบุรุษอหิงสา ตั้งแต่เมื่อช่วงปี ค.ศ.1999 โน่นเลย ว่าเอาไป-เอามาแล้วมันคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แบบชนิดที่สามารถลอกแบบ เลียนแบบ กันได้แบบทั้งดุ้น ทั้งด้าม โดยเฉพาะถ้าหากผู้ที่ประพฤติและปฏิบัติตามแนวทางที่ว่านี้ ยังไม่อาจลด อัตตา หรือความเป็น ตัวกู-ของกู ที่มีอยู่ภายในกมลสันดาน ของบรรดาผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้มี ปาก ทั้งหลาย และมักใช้ช่องทางที่ว่านี้ ระบายลมผ่าน อะไรต่อมิอะไร ไปตาม อารมณ์-ความรู้สึก ที่เกิดจากการ ปรุงแต่ง ภายในตัวตนของตน จนนำไปสู่การกล่าวดี-กล่าวร้าย กล่าวหา อาฆาต ดูหมิ่น เหยียดหยามและชิงชัง ระหว่างกันและกันได้เสมอๆ...

                                                                                                                                                (6)

            คือ สัตยาเคราะห์ ของท่าน มหาตมะ คานธี ตามคำอธิบายของ นารายัน เดซาย นั้น...ไม่เพียงแต่ต้อง ยินดีและเต็มใจยอมรับความเจ็บปวดที่ตนอาจได้รับ แต่ยังต้อง ยอมรับคำตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการ หรือตามคำวินิจฉัยของศาล หรือ ยินดีที่จะสงบศึกชั่วคราว ไปจนถึง บรรลุถึงการแก้ปัญหาด้วยหนทางที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าตนมีศักดิ์ศรีมากขึ้น รวมทั้ง ยินดีในชัยชนะอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน และด้วยความรู้สึกขอบคุณ ฯลฯลฯ อีกด้วยต่างหาก หรือพูดง่ายๆ ว่าต้องแทบไม่หลงเหลือสิ่งที่เรียกว่า อัตตา ภายในตัวตนของตนเอาไว้เลย มันถึงจะพอ เข้าถึง-เข้าใจ ต่อแนวทางที่เรียกว่า สัตยาเคราะห์ ได้บ้าง...

                                                                                                                        (7)

            แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ...ในโลกยุคนี้-สมัยนี้ โอกาสที่ใครต่อใครจะ เข้าถึง-เข้าใจ แนวทางต่อสู้แบบ สัตยาเคราะห์ ของท่าน มหาตมะ คานธี หรือการ บำเพ็ญเพียร ด้วย การไม่พูด ของ พระมหาวีระ มันคงน่าจะลำบากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุเพราะโลกยุคนี้-สมัยนี้ ต่างฝ่ายต่างหันไปเน้นในการเสริมสร้าง อัตตา ของแต่ละคน แต่ละตัว แต่ละฝ่าย หรือต่างพยายามพูดแล้ว-พูดเล่า โพสต์แล้ว-โพสต์เล่า  หนักซะยิ่งกว่า ผีเจาะปาก ยิ่งเข้าไปทุกที โดยสิ่งที่พูดๆ ออกมานั้น ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า อารมณ์-ความรู้สึก แห่ง ตัวกู-ของกู ที่ได้รับการ ปรุงแต่ง ไปตามความชอบ-ความชัง ความรัก-ความเกลียด จนกลายเป็นความโกรธ เกลียด เคียดแค้น อาฆาต พยาบาท ริษยาและชิงชัง ไปจนได้...นั่นแล...

                                                                 --------------------------------------------------------

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"