ทหารอินเดียในนามของกองทัพจักรวรรดิอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1 (ภาพจาก iwm.org.uk)
สารคดีโทรทัศน์ชื่อ The Unremembered : Britain’s Forgotten War Heroes (วีรบุรุษสงครามของอังกฤษที่ถูกลืม) เดินเรื่องโดย “เดวิด แลมมี” ส.ส.พรรคแรงงาน ออกอากาศเมื่อพฤศจิกายน ค.ศ.2109 ทาง Channel 4 แลมมี ซึ่งเป็นชาวอังกฤษผิวสีได้เดินทางไปทั่วประเทศเคนยาและแทนซาเนีย เพื่อหาคำคอบว่าเหตุใดทหารชาวแอฟริกันและผู้ทำหน้าที่ในสงครามโลกเพื่อชัยชนะของอังกฤษจึงถูกมองข้ามและลืมเลือน
นอกจากนี้เขายังได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ “ดิ ออฟเซิร์ฟเวอร์” อีกด้วย ระบุตอนหนึ่งว่า “ทั่วแอฟริกาตะวันออก มีอนุสรณ์สถานผู้พลีชีพในสงครามเพียง 3 แห่ง คือในเมืองมอมบาซา, ไนโรบี และดาร์ เอส ซาลาม
การนำเสนอของ “แลมมี” ทำให้องค์กรที่ทำหน้าที่ด้านอนุสรณ์สถานและการรำลึกวีรบุรุษสงครามของสหราชอาณาจักร คือ Commonwealth War Graves Commission (คณะกรรมการสุสานสงครามเครือจักรภพ) ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและตรวจสอบเรื่องนี้
ปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษได้จัดตั้ง Imperial War Graves Commission (IWGC) ขึ้นเพื่อการจดจำรำลึกผู้เสียชีวิตในสงครามที่ร่วมรบเพื่ออังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นชาวอังกฤษเองหรือผู้คนในประเทศอาณานิคม โดยการสลักชื่อจารึกบนแผ่นหินเหนือหลุมศพต้องปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน ทั้งทหารและพลเรือน ไม่เกี่ยวกับยศ-ตำแหน่งสูงต่ำ รวมถึงเชื้อชาติและความเชื่อที่แตกต่าง
ในสมัยนั้นชื่อคณะกรรมการยังใช้คำว่า “Imperial” หรือ “จักรวรรดิ” ทำหน้าที่ครอบคลุมตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1, สงครามโลกครั้งที่ 2 และการล่าถอยในช่วงปลดปล่อยอาณานิคม จนปี ค.ศ.1960 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น Commonwealth War Graves Commission (CWGC) นั่นคือเปลี่ยนคำว่า “จักรวรรดิ” เป็น “เครือจักรภพ”
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะทำงานที่มี “เซอร์ทิม ฮิทเชน” เป็นประธาน ได้มีรายงานความยาว 70 หน้าออกมา เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร โดยเฉพาะต่อสื่อมวลชนในอังกฤษ เพราะมีคำว่า “Pervasive Racism” หรือ “การเหยียดเชื้อชาติอย่างแพร่หลาย” อยู่ในรายงานด้วย
สรุปจากรายงานได้ว่า คณะทำงานพิเศษได้ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานในยุคต้นของ IWGC เพื่อชี้แจงถึงสภาพความไม่ยุติธรรมเกี่ยวกับการรำลึกถึงผู้สูญเสียของจักรวรรดิอังกฤษในสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง แต่มีข้อจำกัดเกิดขึ้น เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 และขนาดของข้อมูลที่มีเป็นจำนวนมาก คณะทำงานจึงมุ่งตรวจสอบเฉพาะการทำงานของ IWGC หลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 เพียงเท่านั้น
หลักการของ IWGC เกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัตินั้นเกิดผลอย่างดีเยี่ยมในยุโรป แต่พบว่าในพื้นที่อื่นของโลกกลับไม่เป็นเช่นนั้น
ชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของสหราชอาณาจักรแลกมาด้วยชีวิตที่ปลิดปลิวมากกว่า 8 แสนคน ประเทศอาณานิคมและดินแดนในเครือจักรภพมีส่วนสำคัญในการนำชัยมาให้จักรวรรดิอังกฤษ ทั้งเงินตราจำนวนมหาศาล วัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติ และชีวิตเลือดเนื้อ
ทหารแอฟริกันรบให้กับอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1 (ภาพจาก blackhistorymonth.org.uk)
อาจไม่ง่ายที่จะนำเสนอตัวเลขได้แม่นยำ แต่ก็ไม่เกินเลย หากจะประมาณว่าผู้คนในประเทศอาณานิคมและดินแดนในเครือจักรภพของอังกฤษที่ร่วมรบและทำหน้าที่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีมากกว่า 3 ล้านคน และมากกว่า 5 แสนคน เสียชีวิต
ดูเหมือนว่าประเทศในเครือจักรภพ อย่างแคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีบทบาทสำคัญ และมักเป็นพระเอกนางเอกในวีรกรรมสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ในความเป็นจริง ทั้งหญิงและชายของประเทศในเครือจักรภพที่กล่าวมา เข้าร่วมในสงครามประมาณ 1.1 ล้านคน ซึ่งยังเป็นส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับกำลังรบที่มาจากบรรดาประเทศอาณานิคมรวมกัน
ยกตัวอย่างทหารที่มาจากประเทศอินเดียก็มากกว่า 1.2 ล้านนายเข้าไปแล้ว ซึ่งทหารเหล่านี้ถูกส่งไปยังสมรภูมิหลักทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเมโสโปเตเมีย (อิรัก) ก็ถือเป็นกำลังรบถึง 2 ใน 3 ของทั้งหมด และยังถูกส่งเข้าร่วมรบในยุโรป, อียิปต์, ปาเลสไตน์, แอฟริกาทั้งตะวันออกและตะวันตก
นอกจากนี้ ยังมีชาติที่ไม่ได้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ได้แก่ จีน ก็ยังถูกระดมพลไปถึงประมาณ 1 แสนคน เพื่อเป็นกำลังแรงงานแบกหามให้การช่วยเหลือในสงคราม ส่วนใหญ่ทำหน้าที่ในฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1917 พวกเขาได้รับค่าแรงเมื่อลงเรือคนละ 20 หยวน และอังกฤษจะจ่ายให้กับครอบครัวของแรงงานสงครามเหล่านี้อีกเดือนละ 10 หยวน
แม้จะเป็นที่ทราบกันว่าการเข้าร่วมรบของคนจากดินแดนในอาณัติของอังกฤษจำนวนมากมาจากความสมัครใจ แต่ก็พบว่าในหลายประเทศ เช่น อียิปต์ และอาณานิคมอังกฤษในแอฟริกาตะวันออกและตะวันตก (รวมถึงอาณานิคมที่ยึดมาจากเยอรมนี) มีสัดส่วนค่อนข้างสูงที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารโดยไม่เต็มใจ ตั้งแต่การข่มขู่ทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงบังคับขู่เข็ญ ในบางกรณี เรียกกันว่า “ลักพาตัวคราวละมากๆ” ก็มี
แค่ในอียิปต์ที่เดียว กล่าวกันว่ามีถึงประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของกำลังทหารทั้งหมด 327,000 นาย ถูกเกณฑ์เป็นทหารโดยการบังคับ
และแม้ว่ากำลังรบจากทั้งเอเชียและแอฟริกามีส่วนสนับสนุนสำคัญให้จักรวรรดิอังกฤษได้รับชัยชนะ แต่พวกเขาจำนวนมากแทบจะไม่ถูกกล่าวสรรเสริญ รวมถึงความสูญเสียของพวกเขาไม่ถูกนับรวม หรือไม่ได้รับการจดจำรำลึก อันเกิดจากการทำงานของ IWGC ที่มีความผิดพลาด มองข้าม และอคติลำเอียง
ในการทำงานดังกล่าวนี้เมื่อปี ค.ศ.1920 เจ้าหน้าที่คนหนึ่งให้ความเห็นกับคณะกรรมการ IWGC ว่า “ชนพื้นเมืองที่ตายไปส่วนใหญ่เป็นเพราะธรรมชาติของพวกเขาที่ป่าเถื่อน” และว่า “การจารึกชื่อบนแผ่นหินเหนือหลุมศพเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ”
ด้วยเหตุการปฏิบัติที่ขัดกับหลักการของ IWGC ดังกล่าวนี้ พบว่าผู้เสียชีวิตประมาณ 45,000 ถึง 54,000 ราย (ส่วนใหญ่เกิดกับชาวอินเดีย, แอฟริกาตะวันออก, แอฟริกาตะวันตก, อียิปต์ และโซมาเลีย) ได้รับการรำลึกถึงที่ไม่ยุติธรรม ในบางกรณี แทนที่จะสลักชื่อบนหลุมศพเป็นรายบุคคลเหมือนในยุโรป พวกเขากลับถูกเขียนชื่อรวมๆ กันในป้ายของอนุสรณ์สถาน หรือบางคนมีชื่อในทะเบียนคนตาย แต่ไม่ปรากฏชื่อในอนุสรณ์สถาน
ผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 116,000 ราย หรืออาจมากถึง 350,000 ราย ไม่ได้ถูกจดจำรำลึกโดยการเขียนชื่อ หรือไม่แม้กระทั่งจะกล่าวถึงเลยด้วยซ้ำ (ส่วนใหญ่เกิดในแอฟริกาตะวันออกและอียิปต์) สาเหตุเพราะทหารและเจ้าหน้าที่ในประเทศอาณานิคมที่ทำงานให้กับ IWGC ไม่มีความใส่ใจ หาชื่อผู้ตายไม่ได้ รวมถึงไม่ทราบสถานที่ฝังศพ หรือเลือกที่จะบิดเบือนหลักการของพวกเขาเองด้วยการเชื่อว่าสังคมหรืออารยธรรมของคนตายเหล่านั้นไม่มีธรรมเนียมการรำลึกผู้สูญเสียเป็นรายบุคคล
รายงานยังพบว่า ทั่วแอฟริกา, อินเดีย และตะวันออกกลาง ในยุคคริสต์ทศวรรษ 1920 หลักการและอุดมคติของจักรวรรดิอังกฤษเกี่ยวกับดินแดนอาณานิคมมีผลต่อการปฏิบัติงานของ IWGC ซึ่งไม่เกิดในยุโรป นั่นคือกฎเกณฑ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ในอังกฤษและยุโรปไม่จำเป็นต้องนำไปใช้ในดินแดนอื่นเสมอไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องทัศนคติต่อความเชื่อและการจัดพิธีศพของผู้ที่ไม่ใช่ชาวยุโรปที่แตกต่างกันออกไป นำไปสู่การทึกทักไม่รำลึกถึงผู้ตายแบบเดียวกับที่ทำในยุโรป
การตัดสินใจของ IWGC ในสมัยก่อนโน้น แม้ว่าอาจจะมาจากข้อมูลที่ได้ไม่เพียงพอ ความผิดพลาดที่เกิดจากองค์กรอื่นที่ส่งข้อมูลต่อกันมา และความคิดเห็นที่มาจากผู้ปกครองในอาณานิคมเวลานั้น แต่ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติที่เกิดขึ้นมาจากความลำเอียง อคติ และการเหยียดเชื้อชาติที่มีอยู่อย่างแพร่หลายของเจ้าอาณานิคม
ลักษณะการจดจำรำลึกที่ไม่ยุติธรรมเท่าเทียม แบ่งได้ 4 ประเภท คือ 1.คณะกรรมการ IWGC มีชื่อผู้ตายและสถานที่ฝังศพ แต่ทั้ง 2 อย่างถูกเพิกเฉย บนอนุสรณ์สถานจึงไม่มีการจารึกชื่อ 2.คณะกรรมการ IWGC มีชื่อผู้ตายและสถานที่ฝังศพ แต่เพิกเฉยต่อสถานที่ฝั่งศพ จึงมีชื่อจารึกอยู่บนอนุสรณ์สถานกลาง 3.คณะกรรมการ IWGC มีชื่อผู้ตาย แต่ไม่ทราบสถานที่ฝังศพ มีการบันทึกชื่อผู้ตายลงในทะเบียน แต่ในอนุสรณ์สถานจารึกเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิต และ 4.คณะกรรมการ IWGC ไม่มีทั้งชื่อผู้ตายและสถานที่ฝังศพ การรำลึกเป็นแต่เพียงกล่าวถึงโดยทั่วไป อนุสรณ์สถานไม่มีการจารึกชื่อ
ข้อเสนอแนะจากคณะทำงานนี้ สรุปได้เป็น 3 ข้อใหญ่ ได้แก่ 1.ขยายพื้นที่และเวลาในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับการรำลึกถึงผู้วายชนม์อันไม่เป็นธรรมนี้และปฏิบัติให้ถูกต้อง 2.มีพันธสัญญาในการสร้างและเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ และ 3.รับรู้และยอมรับประวัติศาสตร์อันขมขื่นนี้และสื่อสารไปยังทุกสังคมของอดีตสมาชิกจักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง
“ส.ส.แลมมี” กล่าวหลังอ่านรายงานว่า “ความจริงก็คือไม่มีพวกเราคนไหนได้เล่าเรียนสิ่งเหล่านี้ในโรงเรียนมาก่อน และยังเป็นความจริงอีกว่ายังมีคนหนุ่มสาวในสหราชอาณาจักรอีกมากมายไม่มีความรู้ความเข้าใจว่าใครบ้างที่สร้างประวัติศาสตร์และเสียสละให้กับพวกเรา ให้กับสังคมและชีวิตที่เรากำลังสุขสมรื่นรมย์อยู่ในเวลานี้”
นายกรัฐมนตรี “บอริส จอห์นสัน” กล่าวขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ในนามของรัฐบาล และเขารู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้ทราบความจริงว่าผู้เสียชีวิตจากสงครามไม่ได้รับการระลึกถึงอย่างเคารพและเสมอภาคดุจเดียวกัน ทหารเป็นล้านๆ จากแอฟริกา เอเชีย แคริบเบียน และตะวันออกกลาง ได้เสียสละและแสดงความกล้าหาญอย่างใหญ่หลวงด้วยชีวิตเพื่อให้พวกเราได้มีสันติภาพและอิสรภาพในวันนี้
ขณะที่ “ร้อยเอกเบน วอลเลซ” รัฐมนตรีกลาโหม บอกว่า รู้สึกโกรธเคืองที่ “พี่น้องร่วมรบ” ถูกลืมมาโดยตลอด และขอขอบคุณ “เดวิด แลมมี” ส.ส. พรรคแรงงานที่จุดประเด็นในเรื่องนี้ ถือเป็นจุดลึกของความเสียใจที่ในความรับรู้เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่าง ค.ศ.1914-1918 จำกัดอยู่แค่ Battle of Somme (ยุทธการที่แม่น้ำซอมม์-ฝรั่งเศส) และบทกวีที่ได้รับความนิยมเป็นส่วนใหญ่ และไม่ได้ให้การสรรเสริญทหารจากเครือจักรภพและอดีตอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษอย่างเหมาะสม
แรงงานสงครามชาวจีนของกองทัพอังกฤษ ในการรบที่ฝรั่งเศส (ภาพจาก eastsussexww1.org.uk)
“คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องยอมรับว่าเราได้ละเลยเรื่องเหล่านี้ไปจากการศึกษาของเยาวชน คงต้องทำให้ถูกต้องเสียที”
ด้านฝ่ายค้าน มีปฏิกิริยาในทางตรงกันข้าม หนึ่งในนั้นคือ “มาร์ติน โดเคอร์ตี-ฮิวจ์” จากพรรคชาติสกอต กล่าวว่า เป็นการ “เสแสร้งอย่างร้ายกาจ” และ “เป็นความย้อนแย้งแห่งการรับรู้” ของรัฐบาลเมื่อเทียบกับการตอบสนองต่อรายงานอีกฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนก่อน
รายงานดังกล่าวคือผลการศึกษาของ Commission on Racial Ethnic Disparities (คณะกรรมการศึกษาความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติและผิวสี) ที่ตั้งขึ้นโดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีเพื่อหวังลดโทนการประท้วงของกลุ่มเคลื่อนไหว Black Lives Matter คณะกรรมการถูกคัดเลือกโดย “มูนิรา เมียซา” ที่ปรึกษาทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี ผู้ซึ่งเคยมีความเห็นว่า “อังกฤษไม่มีการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบและในทางโครงสร้าง”
รายงานสรุปว่า “สหราชอาณาจักรไม่มีระบบกดขี่คนกลุ่มน้อยเหลืออยู่อีกแล้ว” และ “โครงสร้างของครอบครัวและชนชั้นในสังคมส่งผลกระทบต่อชีวิตมากกว่าสาเหตุจากความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ”
ทำให้คณะทำงานของยูเอ็นเกี่ยวกับคนที่สืบเชื้อสายจากแอฟริกาออกมาวิจารณ์ว่า “เป็นความพยายามในการทำให้ความเหนือกว่าของคนผิวขาว (White Supremacy) เป็นเรื่องปกติ”
รัฐบาลอังกฤษต้องแก้ต่างแทนรายงานฉบับนี้ว่าเป็นการตีความผิดๆ จากคณะทำงานของยูเอ็น.
***************
ที่มา :
- cwgc.org/media/noantj4i/report-of-the-special-committee-to-review-historical-inequalities-in-commemoration.pdf
- theguardian.com/uk-news/2021/apr/22/minister-apologises-for-black-and-asian-war-dead-commemoration-failures
- black-history.org.uk/projects/black-and-asian-soldiers-during-ww1/
- bbc.com/news/uk-politics-56800763
- en.wikipedia.org/wiki/Commonwealth_War_Graves_Commission
- en.wikipedia.org/wiki/Commission_on_Race_and_Ethnic_Disparities
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |