เศร้า...และแสดงความเสียใจกับครอบครัว พรรณกลิ่น หลังเกิดเหตุ ร.ต.อ.บุญชู พรรณกลิ่น รอง สวป.กองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) ช่วยงานฝ่ายอำนวยการ บก.รฟ. ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วตัดสินใจใช้เข็มขัดผูกคอตัวเองเสียชีวิตภายในห้องน้ำ ขณะรักษาตัวที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ.ตำรวจ โดย พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผกก.สน.ปทุมวัน เจ้าของพื้นที่เกิดเหตุบอกถึงมูลเหตุจูงใจ จากการสอบสวนพบผู้เสียชีวิตมีความเครียดจากการที่อาจทำให้แม่ ภรรยา และลูก มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยทั้งแม่ ภรรยา และลูกได้เข้าตรวจที่ รพ.พระมงกุฎวัฒนะเช่นเดียวกับตัวเอง แต่ยังไม่ทราบผล ทำให้ ผู้กองบุญชู รู้สึกละอายใจและก่อเหตุขึ้นมา ถือเป็นความสูญเสียที่ทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น โดย พล.ต.ท.พรชัย สุธีรคุณ นายแพทย์ (สบ 8) รพ.ตำรวจ ได้ให้คำแนะนำในช่วงปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ประชาชนและตำรวจมีความเครียด โรงพยาบาลตำรวจมีกลุ่มงานจิตเวชดูแลอยู่ ถ้ามีความเครียดหรือซึมเศร้าสามารถโทร.มาได้ตลอดเวลา รพ.ตำรวจพร้อมให้คำปรึกษา หมายเลขโทรศัพท์ 08-1932-0000
ถูกต้องและเหมาะสม...คำสั่ง บิ๊กเด่น-พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. ที่มีวิทยุสั่งการไปถึง ผบช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผบก.ในสังกัด สง.ผบ.ตร. เรื่องกำชับการปฏิบัติในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และลดความเสี่ยงการติดเชื้อของข้าราชการตำรวจ ที่ให้ชะลอการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์และจุดกวดขันวินัยการจราจร โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด สำหรับจุดตรวจป้องกันอาชญากรรม จุดสกัดกั้นยาเสพติด และจุดสกัดกั้นตามแนวชายแดน ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรกว่าเหตุ เพราะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตำรวจเองมีผู้ที่ติดเชื้อโควิดทะลุ 500 นายไปแล้ว ยังไม่รวมกลุ่มที่ต้องกักตัวอีกเป็นพัน หากให้ไปตั้งด่านตรวจที่ต้องสัมผัสกับประชาชนมากๆ ตำรวจก็กลัวเชื้อจากชาวบ้าน ชาวบ้านก็กลัวเชื้อจากตำรวจ วุ่นกันแย่เลย ๐
เห็น ผบ.ปั๊ด-พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เป็นห่วงกำลังพลและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด สั่งไปยังแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ระดมสรรพกำลัง อุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์ให้มาช่วยดูแลประชาชนและข้าราชการตำรวจไม่ให้มีการแพร่ระบาดไปมากกว่านี้ รวมทั้งยังห่วงการป้องกันตัวของตำรวจที่ออกพบปะปฏิบัติหน้าที่กับประชาชน และสถานที่ราชการกำชับต้องดูแลตัวเองตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค เพื่อไม่ให้ตำรวจรับเชื้อเข้ามาและไม่ให้ตำรวจแพร่เชื้อสู่ประชาชน รวมทั้งกำชับตำรวจไม่ให้เข้าไปอยู่ในแหล่งที่อาจมีความเสี่ยงแพร่เชื้อโรค เพื่อเซฟกำลังพลให้ตำรวจสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ยินก็อุ่นใจแทน ตำรวจ แต่อีกอย่างเท่าที่ฟังมาจากตำรวจเล็กๆ ตำรวจเด็กๆ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ ผบ.ปั๊ด จัดทำประกันภัยโควิด-19 ให้ลูกน้อง จะรูปแบบไหน จะแบ่งให้ บช.ไปดำเนินการเองหรืออย่างไร ลูกน้องรับได้หมด เพียงแค่ขอความอุ่นใจในการทำงานเท่านั้น ๐
นี่สิรวดเร็วได้ใจลูกน้อง บิ๊กอู๊ด-พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ร่วมมือกับบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จัดทำประกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเป็นสวัสดิการและบำรุงขวัญกำลังใจให้ตำรวจในสังกัด โดยทำประกันโควิดให้ลูกน้องแล้ว 5,413 นาย รวมทั้งกำชับให้หัวหน้าหน่วยในทุกระดับชั้นของ บช.น.แสวงหาความร่วมมือในการจัดทำประกันโควิด-19 ให้แก่ข้าราชการตำรวจในสังกัด เช่นเดียวกับ บิ๊กแซ็ก-พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1) ก็สั่งให้ผู้การจังหวัดในสังกัดไปประสานความร่วมมือจัดทำประกันโควิด-19 ให้ลูกน้องเช่นกัน รวมทั้งเน้นย้ำหากจังหวัดใดติดขัดให้รีบแจ้งเพื่อมอบเงินส่วนตัวช่วยเหลือ ซึ่งเท่าที่ทราบตอนนี้หลายจังหวัดในสังกัด บช.ภ.1 เริ่มทำประกันโควิดแล้ว ยกเว้น บก.อำนวยการ ภาค 1 เท่าที่ฟังมายังไม่มีการทำประกันให้ลูกน้อง แม้จะไม่ใช่หน้างานสัมผัสประชาชน แต่ก็ต้องสัมผัสตำรวจฝ่ายปฏิบัติที่หมุนเวียนเข้ามาใน บช. หลายคนเลยหวั่นใจ หลายคนเลยไม่มั่นใจ หลายคนน้อยเนื้อต่ำใจ ทำงานอำนวยการไม่มีใครสนใจเหมือนฝ่ายปฏิบัติ อย่างไรคงต้องฝาก บิ๊กแซ็ก กระตุ้นหัวหน้างานฝ่ายอำนวยการหน่อยน่าจะดี
แม้ขณะนี้กำลังพลของกองทัพติดเชื้อโควิด-19 กันไม่น้อย แต่ถือเป็นช่วงพีกที่ทุกเหล่าทัพออกมาตรการควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มข้น ในส่วนของกองทัพบก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก เน้นย้ำมาตรการ พิทักษ์พล เพื่อลดภาระด้านสาธารณสุขของประเทศ และยังสงวนกำลังพลที่เหลือไว้ใช้ในภารกิจสนับสนุนรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด ที่ยังมีงานหนักรออยู่ข้างหน้าจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่มีมากขึ้น ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม สั่งการในการประชุมสภากลาโหมทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ให้ทุกเหล่าทัพเตรียมรถพยาบาลทหารไว้จำนวน 26 คัน โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ประสานการทำงานร่วมกับศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเพื่อนำส่งโรงพยาบาลสนาม นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมรถพยาบาลทหารเพิ่มเติมพร้อมปฏิบัติการอีก 21 คัน รวมทั้งหมด 47 คัน
ส่วนการปฏิบัติก็ต้องเป็นไปอย่างทันท่วงทีในการเตรียมรถพยาบาลทหาร โดย บิ๊กแก้ว-พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) ได้สั่งการเร่งด่วนให้กองทัพสนับสนุนยานพาหนะพร้อมพลขับในการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลสนาม พร้อมสั่งการให้จัดตั้ง ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ Covid-19 ศปม. ที่กรมยุทธบริการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย โดยเบื้องต้นจะให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการในการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไปส่งยังโรงพยาบาลสนามได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้จัดยานพาหนะสนับสนุนจำนวนทั้งสิ้น 21 คัน ประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 5 คัน กองทัพบก จำนวน 10 คัน กองทัพเรือ จำนวน 3 คัน และกองทัพอากาศ จำนวน 3 คัน โดยจะทำการหมุนเวียนรับส่งผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลสนามวันละ 5 คัน ระหว่างเวลา 08.00-20.00 น. ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วานนี้ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ๐
ขณะที่กองทัพเรือก็ขยับเร็วเช่นกัน ศุกร์ที่ผ่านมา พล.ร.ต.นิธิ พงศ์อนันต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ รับแนวทางจาก พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือปุ๊บ ก็ได้สั่งการให้โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทำการปรับ สโมสรกรมแพทย์ทหารเรือให้เป็นหอพักผู้ป่วยที่ติดเชื้อ โดยใช้ชื่อว่า หอผู้ป่วยปิ่นเกล้า สามารถรับรองผู้ป่วยได้ จำนวน 40 เตียง ซึ่งขณะนี้ได้รับความร่วมมือจากกรมช่างโยธาทหารเรือ และกรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ ส่งกำลังพลเพื่อจัดเตรียมสถานที่และความพร้อมในการให้บริการ โดยหอพักผู้ป่วยนี้จะรับเฉพาะผู้ป่วยเพศชาย ทั้งที่เป็นกำลังพลของกองทัพเรือ รวมถึงประชาชนทั่วไป ๐
พูดถึงกองทัพเรือแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาถือได้ว่า งานเข้า หลายกรณี ไล่ตั้งแต่ปรากฏภาพนายทหารหลายนายแต่งเครื่องแบบสีขาวไปร่วมพิธีทางความเชื่อของ หลวงปู่พุทธะเทพสุริยะจักรวาล จนต้องประกาศกฎเหล็กห้ามไม่ให้สวมเครื่องแบบไปร่วมงานนอกศาสนาเพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์กองทัพเรือ และกรณีของทหารยศเรือตรี สังกัดนายทหารพระธรรมนูญ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ แฝงตัวเข้าไปแอบถ่ายภาพนักกีฬาในการแข่งขันยิมนาสติกลีลา ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน โดย น.ท.หญิง มธุศร เลิศพานิช รองโฆษกกองทัพเรือ ต้องออกมายืนยันว่ากองทัพเรือจะไม่ปกป้องผู้กระทำผิด และได้มีการลงโทษด้วยการงดบำเหน็จ 6 เดือน แต่สื่อนำภาพของ น.ท.หญิง มธุศร ขณะชี้แจงมาประกอบข่าว ทำให้หลายคนเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ก่อเหตุเอง จึงต้องมีการแก้ไขให้ชัดเจนเพื่อความถูกต้อง ๐
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |