สงครามต่อต้านก่อการร้ายของสหรัฐในอัฟกานิสถาน


เพิ่มเพื่อน    

     กลางเดือนเมษายน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ประกาศถอนทหารอเมริกันทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายใน 11 กันยายนนี้ ยุติสงคราม 20 ปี เหตุเพราะได้ลงโทษผู้ก่อวินาศกรรม 11 กันยา.แล้ว ปัจจุบันเหลือทหารอเมริกันราว 2,500 นาย จากที่เคยมีสูงสุด 1 แสนนาย

            แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับการถอนทหาร แต่แนวคิดนี้มีมาหลายปีแล้ว รัฐบาลสหรัฐเจรจากับตอลีบันเรื่อยมาเพื่อยุติสงคราม คำถามสำคัญคือ อนาคตของอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไร ตอลีบันจะยึดกรุงคาบูลหรือไม่ ประเทศนี้จะเป็นฐานที่มั่นของผู้ก่อการร้ายไหม อย่าลืมว่าสหรัฐมีนโยบายทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายทั่วโลก

ความสำคัญของกรณีศึกษาอัฟกานิสถาน:

            ในมุมมองทางวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สงครามต่อต้านก่อการร้ายในอัฟกานิสถานเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะ

                ประการแรก ไม่ใช่เรื่องเก่า ไม่ใช่เรื่องยุคสงครามเย็น เริ่มเมื่อ 20 ปีก่อนในศตวรรษที่ 21 ยุคโลกาภิวัตน์และเรื่อยมาจนวันนี้ เป็นประเด็นร่วมสมัย เป็นตัวอย่างสดใหม่

                ประการที่ 2 เห็นตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้เข้าใจกระบวนการตั้งแต่แรก ดำเนินเรื่อยมาเป็นเวลา 20 ปีและสิ้นสุด (อ้างอิงจุดถอนทหารทั้งหมด) เห็นวิธีการนำเสนอของรัฐบาลสหรัฐในแต่ละช่วง ตั้งแต่เหตุผลส่งกองทัพเข้าไปจนถึงประกาศถอนทหารทั้งหมด

                ประการที่ 3 ประโยชน์จากความรู้ที่ได้ ที่สำคัญคือ เข้าใจนโยบาย การดำเนินนโยบาย การที่สังคมอเมริกันเห็นด้วยกับการส่งทหารเข้าไปทำสงคราม จนถึงการถอนตัวที่ทุกรัฐบาลประกาศว่าคือชัยชนะ ซึ่งสามารถวิเคราะห์วิพากษ์ได้หลายแง่มุมเช่นกัน

9/11 เหตุส่งทหารเข้าอัฟกานิสถาน:

            เมื่อเกิดเหตุ 11 กันยายน 2001 ผู้ก่อการร้ายบังคับเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช สรุปว่า พวกอัลกออิดะห์เป็นผู้โจมตีสหรัฐ และขณะนั้นอาศัยอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน รัฐบาลบุชขอให้ตอลีบันมอบตัวอุซามะห์ บินลาดิน หรือโอซามา บินลาเดน (Osama Bin Laden) แต่บินลาเดนในยามนั้นเป็นวีรบุรุษของเหล่ามุสลิมที่ต่อต้านสหรัฐ นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ตอลีบันประกาศยืนยันสนับสนุนอัลกออิดะห์

            ประธานาธิบดีบุชจึงสั่งกองทัพบุกอัฟกานิสถานโค่นล้มรัฐบาลตอลีบัน พร้อมกับกวาดล้างอัลกออิดะห์ ปฏิบัติการเริ่มต้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2001 หลายประเทศร่วมมือด้วย รวมทั้งรัสเซีย

            ธันวาคม 2001 Mullah Omar ผู้นำตอลีบันกับทหารที่เหลือยอมแพ้ เป็นอันยุติยุคตอลีบันปกครองอัฟกานิสถาน และในเดือนนี้เองรัฐบาลชั่วคราวถูกจัดตั้งขึ้น นายฮามิด การ์ไซ (Hamid Karzai) ได้เป็นผู้นำรัฐบาล แต่พวกตอลีบันกับกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นหลายกลุ่มปฏิเสธอำนาจรัฐบาลกลาง ดังนั้นแม้ระบอบตอลีบันในกรุงคาบูลจะสิ้นสุด แต่การปะทะกับรัฐบาลใหม่ กองกำลังนาโตและสหรัฐดำเนินต่อไป

ความสำเร็จของรัฐบาลไบเดนหรือของใคร:

            ย้อนหลังไปเมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบามา รับช่วงต่อจากประธานาธิบดีบุช โอบามาประกาศนโยบายถอนทหารกลับประเทศ

            พฤษภาคม 2014 ประธานาธิบดีโอบามาประกาศนโยบายความมั่นคงสหรัฐต่ออัฟกานิสถานว่า ภายในสิ้นปี 2014 สหรัฐจะยุติภารกิจรบ (combat mission) พร้อมกับถอนกำลังส่วนใหญ่ ให้เหลือเพียง 9,800 นาย ทหารที่เหลือจะทำหน้าที่ช่วยฝึกกองกำลังรักษาความมั่นคงของอัฟกานิสถาน และจะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2016

            แต่กระบวนการเป็นไปอย่างล่าช้า ต้องเจรจากับตอลีบัน รัฐบาลอัฟกันที่สหรัฐสนับสนุน การเจรจายืดเยื้อหลายปี อย่างไรก็ตามสามารถลดจำนวนทหารลง

            รัฐบาลทรัมป์มาแนวทางเดียวกัน คือ ต้องการพาทหารกลับบ้าน ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2020 รัฐบาลทรัมป์กับตอลีบันบรรลุข้อตกลงระงับการปะทะกัน สาระสำคัญคือ ระงับความรุนแรงระหว่างสหรัฐกับตอลีบันไว้ก่อน พร้อมกับเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพถาวร สหรัฐจะถอนกำลังออกจากประเทศทั้งหมดภายใน 14 เดือน (ในขั้นแรกจะลดลงเหลือ 8,600 นาย จากจำนวนราว 13,000 นาย) ตอลีบันต้องไม่ปล่อยให้อัลกออิดะห์หรือกลุ่มอื่นๆ ใช้ประเทศเป็นฐานปฏิบัติการ ส่วนอนาคตของประเทศเป็นเรื่องที่คนอัฟกันต้องตัดสินใจกันเอง

            ข้อตกลงนี้จึงเป็นข้อตกลงเบื้องต้นสู่สันติภาพในที่สุด

อนาคตของอัฟกานิสถาน:

            เมื่อรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช นำทัพทำสงครามประกาศว่าจะปราบพวกตอลีบัน-อัลกออิดะห์ให้ราบคาบ สถาปนาอัฟกานิสถานที่มี “เสถียรภาพและสันติ” มาถึงยุครัฐบาลทรัมป์กับไบเดน เหลือเพียงต้องการพาทหารอเมริกันกลับบ้าน คนอัฟกันต้องดูแลอนาคตของตัวเอง

            บางคนวิเคราะห์ว่ารัฐบาลทรัมป์กับไบเดนต้องการแค่ได้พาทหารกลับบ้าน ได้ประหยัดงบประมาณส่วนนี้ ส่วนอนาคตประเทศ ผลต่อภูมิภาค ผลในภาพกว้างไม่ถูกเอ่ยถึง ซึ่งคงไม่ผิดถ้ายึดหลักอเมริกาต้องมาก่อน (America First) เพราะหลักการนี้ ขอเพียงอเมริกาได้ประโยชน์ อยู่รอดปลอดภัย ไม่สนใจว่าประเทศอื่นจะเป็นอย่างไร ขอเพียงไม่ขัดผลประโยชน์สหรัฐเป็นอันใช้ได้

            ฮามิด การ์ไซ อดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถานพูดอีกมุมว่า “ชาวอัฟกันต้องตายในสงครามที่ไม่ใช่ของเรา” การทำสงครามในอัฟกานิสถานมี “เพื่อความมั่นคงของสหรัฐและเพื่อผลประโยชน์ของชาติตะวันตก”

            อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ อดีตประธานาธิบดีการ์ไซกล่าวถึงความล้มเหลวของรัฐบาลสหรัฐว่า หลังทุ่มเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ทำศึก 2 ทศวรรษ ทุกวันนี้พื้นที่กว่าครึ่งของประเทศยังอยู่ใต้การปกครองของพวกตอลีบัน ถ้ายึดตามขนาดพื้นที่ ตอลีบันในวันนี้เป็นผู้ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่

            สหรัฐสามารถล้มรัฐบาลตอลีบัน จัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด แต่ครองอำนาจเพียงพื้นที่เล็กๆ บางคนพูดติดตลกว่าได้แค่ดูแลกรุงคาบูลเท่านั้น ทุกวันนี้รัฐบาลอัฟกานิสถานอยู่ได้เพราะกองทัพสหรัฐคุ้มครอง จึงเป็นคำถามว่าหากสหรัฐถอนกำลัง รัฐบาลกรุงคาบูลจะอยู่ได้หรือไม่ ต้องไม่ลืมว่าตอลีบันเป็นผู้ปกครองประเทศก่อนหน้าทหารอเมริกันกับพวกเข้ามา

            ถ้ามองจากมุมตอลีบันอาจอธิบายว่า พวกเขาสู้กับทหารอเมริกันและพวกอย่างทรหดถึง 20 ปี แม้ต้องล่าถอยในช่วงแรก บาดเจ็บล้มตายไม่น้อย แต่สามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่คืนได้ก่อนทหารอเมริกันกับพวกถอนทัพกลับบ้าน

ประเด็นชัยชนะของสหรัฐ:

            ถ้าจะบอกว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของไบเดนคงไม่ใช่ เพราะเมื่อสิ้นรัฐบาลบุชเข้าสู่โอบามา สหรัฐลดทอนกำลังเรื่อยมา พูดได้เพียงว่าท้ายที่สุดสงครามต่อต้านก่อการร้ายในอัฟกานิสถานมาจบลงที่สมัยไบเดน เมื่อประกาศถอนทหารที่เหลืออยู่เพียง 2,500-3,500 นายกลับมาตุภูมิ

            ถ้าวิเคราะห์ตามแนวทางนโยบายต่างประเทศสหรัฐ การถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานถือเป็นความสำเร็จ ตีความว่าไม่มีเหตุต้องคงทหารในประเทศนี้ ตรงกับความต้องการของคนอเมริกันจำนวนมาก รัฐบาลสหรัฐกับตอลีบันตกลงกันได้แล้ว ตอลีบันในวันนี้เลิกทำสงครามครูเสดกับสหรัฐดังที่เคยประกาศไว้

            แต่อัฟกานิสถานกว้างใหญ่ ภูมิประเทศหลายส่วนซับซ้อนนอกการควบคุมของรัฐบาล นอกอำนาจของตอลีบัน เป็นไปได้หรือไม่ที่อาจมีฐานผู้ก่อการร้ายลับและวันหนึ่งจะไปก่อเหตุในอเมริกา ยุโรป

            สงครามต่อต้านก่อการร้ายในอัฟกานิสถานจะเป็นชัยชนะถาวรหรือระยะสั้น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์.

--------------------------------

ภาพ : หญิงอัฟกันกลุ่มหนึ่งกำลังเดินในแถบชานเมือง Badakshan

เครดิตภาพ : https://news.un.org/en/story/2021/03/1088112

--------------------------------

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"