สาหัส! ศบค.แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งแรง จ่อยกระดับมาตรการคุมเข้มบางจังหวัด


เพิ่มเพื่อน    

24 เม.ย. 64 - เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 2,839 ราย ซึ่งสาเหตุ พบตัวเลขเพิ่มขึ้นจริง แต่เป็นตัวเลขสะสมรอการคลีนข้อมูล เพราะอาจมีการส่งชุดข้อมูลซ้ำกันจึงต้องคลีนข้อมูลหลายรอบ โดยตัวเลขการติดเชื้อในประเทศ 2,827 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 2,523 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 304 ราย และมาจากต่างประเทศ 12 ราย  ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 53,022 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 377 ราย  หายป่วยสะสม 30,566 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 22,327 ราย อาการหนัก 418 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 113 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 8 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 129 ราย  

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผู้เสียชีวิต 8 ราย รายที่ 1 ชายไทย อายุ 48 ปี จ.สมุทรปราการ โรคประจำตัวโรคอ้วน ปัจจัยเสี่ยงการป่วยไปสถานบันเทิงย่านศรีนครินทร์ วันที่ 12 เม.ย.มีไข้ เจ็บคอ ถ่ายเหลว วันที่ 18 เม.ย.พบเชื้อและปอดอักเสบ วันที่ 22 เม.ย.เสียชีวิต 

รายที่2 หญิงไทย อายุ 83 ปี จ.กทม. โรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด ปัจจัยเสี่ยงการป่วยสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า วันที่ 14 เม.ย.มีไข้ อ่อนเพลีย วันที่ 18 เม.ย.พบเชื้อ วันที่ 22 เม.ย.เสียชีวิต 

รายที่ 3 ชายไทย อายุ 89 ปี จ.กทม. เป็นผู้ป่วยติดเตียง มะเร็งลำไส้ ปัจจัยเสี่ยงการป่วยสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 22 เม.ย. มีไข้ ไอ หายใจลำบาก วันที่ 23 เม.ย.พบเชื้อและเสียชีวิต 

รายที่ 4 ชายไทย อายุ 63 ปี จ.กทม.โรคประจำตัวความดันโลหิต เก๊าฑ์ ปัจจัยเสี่ยงการป่วยสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 11 เม.ย.มีไข้ วันที่ 22 เม.ย.พบเชื้อ วันที่ 23 เม.ย.เสียชีวิต  

รายที่ 5 ชายไทย อายุ 68 ปี จ.ฉะเชิงเทรา โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัจจัยเสี่ยงการป่วยสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 10 เม.ย. มีไข้ วันที่11 เม.ย.พบเชื้อ วันที่ 22 เม.ย.เสียชีวิต 

รายที่ 6 หญิงไทย อายุ 82 ปี จ.สมุทรปราการ โรคประจำตัวมะเร็งปากมดลูก ปัจจัยเสี่ยงการป่วยสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 14 เม.ย.พบเชื้อ วันที่ 20 เม.ย.เสียชีวิต  

รายที่ 7 ชายไทย อายุ 75 ปี จ.นครสวรรค์ โรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด ต่อมลูกหมากโต ปัจจัยเสี่ยงการป่วยสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 9 เม.ย.ไอ เจ็บคอ ครั่นตัว วันที่ 11 เม.ย. พบเชื้อ วันที่ 22 เม.ย.เสียชีวิต 

และรายที่ 8 ชายไทย อายุ 62 ปี จ.นนทบุรี โรคประจำตัวไตวายเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อสถานบันเทิง วันที่ 18 เม.ย.เหนื่อย วันที่ 21 เม.ย.พบเชื้อ วันที่ 23 เม.ย.เสียชีวิต  

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมศบค.ชุดเล็กวันนี้ พล.อ.ณัฐพล​ นาคพาณิชย์​ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ​ (สมช.)​ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19​ (ศปก.ศบค.) ได้รายงานสาเหตุการติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามาจากการติดเชื้อในที่ทำงาน ติดเชื้อจากการพบปะรับประทานอาหารร่วมกัน ติดเชื้อภายในครอบครัว ติดเชื้อจากการมั่วสุม รวมกลุ่ม ไม่เว้นระยะห่าง ติดเชื้อจากกิจกรรมการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ และอาจจะเกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะ ซึ่งข้อมูลตรงนี้ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง รวมถึงผู้ติดเชื้อให้ไทม์ไลน์คาดเคลื่อน จึงทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดล่าช้า 

"ดังนั้นจึงขอเน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคลต้องเข้มข้น ผู้ประกอบการ กิจกรรม กิจการ รวมถึงการขนส่งสาธารณะต้องดูแลสถานที่ของตัวเอง ให้เป็นไปตามมาตรการสาธารณสุข รวมถึงให้ทุกภาคส่วนเข้มข้นมาตรการเวิร์คฟอร์มโฮม เพื่อจะได้ไม่มีมาตรการที่แรงกว่านี้ พร้อมกันนี้ยังให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ติดตามการปฏิบัติตามข้อกำหนดของศบค.อย่างเคร่งครัด"  

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) เช้าวันเดียวกันนี้ มีการรายงานสถานการณ์เตียงผู้ป่วยภาพรวมของประเทศ โดยเตียงในรูปแบบต่างๆ ทั้งห้องความดันลบ ห้องความดันลบแบบรวมกลุ่ม ห้องแยกผู้ป่วย หอที่รวมผู้ป่วยโควิด Hospitel และห้องไอซียู ข้อมูลวันที่ 22 เม.ย. มีทั้งสิ้น 40,524 เตียง ครองเตียง 19,386 เตียง เตียงว่าง 21,138 เตียง ถือว่ายังไม่ถึงวิกฤต ซึ่งตัวเลขที่ตนพูดเมื่อวันที่ 23 เม.ย. เป็นภาพของกทม.จนทำให้หลายคนวิตก โดยข้อมูลเตียงของกทม.และปริมณฑล ณ วันที่ 22 เม.ย. มีเตียงทั้งหมด 16,422 เตียง ครองเตียง 11,075 เตียง เตียงว่าง 5,347 เตียง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลภาพรวมต้องพยายามให้เตียงว่างมากที่สุด กทม.แม้จะมีประเด็นพอสมควรแต่ข้อดีคือมีบุคลากรทางการแพทย์มาก ก็จะบริหารจัดการให้ผู้รอเตียงได้รับการรักษาพยาบาล  

ผู้สื่อข่าวรานงานว่าการรอเตียงจากเดิมผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการ แต่ระหว่างรอเตียงอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นเหมือนที่มีข่าวการเสียชีวิตระหว่างรอเตียง มีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันนี้มี 2,013 รายที่รอเตียง ซึ่งเพิ่มขึ้น 590 ราย เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ได้ดำเนินการคนที่รอเตียงเข้าไปรับการรักษาแล้ว 724 ราย ซึ่งในที่ประชุมอีโอซีวันเดียวกันนี้ได้พูดคุยถึงกรณีผู้ป่วยรอเตียง 2,013 รายนี้ว่าจะจัดโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel รวม 4 แห่งในกทม.และปริมณฑล และจะติดต่อกลับ 2,013 ราย ให้ได้เสร็จสิ้นภายใน 2-3 วันนี้ ขอให้รอรับโทรศัพท์ ถ้าใครมีอาการรุนแรงจะให้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนไม่สบายใจเพราะได้รับรายงานว่าหลายสายมีการปฏิเสธการแอดมิดและติดต่อกลับไปไม่ได้ ถึง 146 สาย จึงขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือ เราพยายามทำเต็มที่ทุกอย่างขอให้ท่านร่วมมือกับเราไม่ปฏิเสธการแอดมิด และเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่เป็นข่าวก็ขออภัย 

เมื่อถามว่าหากผู้ติดเชื้อยังบวกมาเรื่อยๆจนเกินขีดความสามารถการรองรับ จะออกมาตรการในการคุมเข้มอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลอย่างใกล้ชิด และพร้อมยกระดับในการดูแลประชาชนในภาพรวม แต่ข้อมูลชุดนำเข้าต้องวิเคราะห์แยกแยะให้ชัดเจนว่ากลุ่มก้อนไหนที่เป็นปัญหาและจัดการเฉพาะที่ ซึ่งในปัจจุบันชัดเจนว่ากทม.และปริมณฑลมีตัวเลขที่สูงรอรับบริการ เหลือเพียงการบริหารจัดการ ตัวเลขที่สูงขึ้นหากเราพยายามช่วยกันอย่างเต็มที่ไม่มีการแพร่เชื้อไปบุคคลในครอบครัว กิจกรรม กิจการที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน จะถูกจัดการอย่างไรเป็นมาตรการที่ละเอียดอ่อนมาก ตอนนี้อยู่ในช่วงของ 2 สัปดาห์การยกระดับมาตรการมีความสำคัญและผลกระทบต่อประชาชน 

"ดังนั้นหากเราจะยกระดับต้องดูพื้นที่ไม่ใช่ประกาศไปทั่วทั้งประเทศ และประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดอาจจะได้รับผลกระทบนี้ ข้อนี้ชัดเจนเราจะไม่ทำเช่นนั้น แต่อาจเป็นพื้นที่เฉพาะหรือกลุ่มควบคุมสูงสุดอะไรอย่างไรนั้นขอให้รอเวลาขณะนี้ฝ่ายยุทธศาสตร์กำลังคิดกันอยู่ และจะมีข้อเสนอในเชิงมาตรการออกมาอีกครั้ง"  
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"