ทะเลสาบบิวะฝั่งใต้ส่วนที่ติดกับเมืองโอสึ
วันอาทิตย์ที่แล้วผมได้เขียนถึงสวนอุเอโนะ และช่วงหนึ่งได้ระบุถึง “บึงชิโนบาสุ” และ “วัดคาเนอิจิ” ที่สร้างในสมัยของโชกุน “โตกุกาวะ อิเอมิตสึ” หลังจากที่“โตกุกาวะ อิเอยาสึ” รวมชาติญี่ปุ่นได้สำเร็จและย้ายเมืองหลวงจาก “เฮอัง” (เกียวโต) ไปยัง “เอโดะ” (โตเกียว)
บ่อน้ำชิโนบาสุนั้นคือตัวแทนของ “บิวะโกะ” หรือทะเลสาบบิวะ ในจังหวัดชิกะ ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และวัดคาเนอิจิ คือวัด “เอ็นยากูจิ”บนภูเขา “ฮิเอะ” ที่อยู่ติดกับทะเลสาบบิวะด้านตะวันตกเฉียงใต้ คาบเกี่ยวระหว่างจังหวัดชิกะและจังหวัดเกียวโต
อาทิตย์นี้เลยจะขออนุญาตนำท่านผู้อ่านมายังการเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นครั้งที่ 3 ของผมเมื่อฤดูใบไม้เปลี่ยนสีปีที่แล้ว ซึ่งมีโอกาสได้ขึ้นไปเยี่ยมชมวัดเอ็นยากูจิและมองลงมายังทะเลสาบบิวะจากภูเขาฮิเอะ สองธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นในภูมิภาคคันไซ
หลังจากค้างหนึ่งคืนที่โอซาก้า ย่านริงกุทาวน์ และอีกคืนในเกียวโต ย่านพอนโตโช ผมก็เดินทางระยะสั้นๆ ด้วยรถไฟจากสถานีเกียวโตไปยังสถานีโอสึเกียว เมืองโอสึ จังหวัดชิกะ ใกล้ๆ อพาร์ทเมนต์ของ “ฮิโรกิ” เพื่อนชาวญี่ปุ่นของผม ฮิโรกิเคยเดินทางไปพำนักที่กรุงเทพฯ พร้อม “เอมิซัง” แฟนสาวในตอนนั้น (ปัจจุบันคือภรรยา) เป็นเวลาราว 2 ปี และเรียนภาษาไทยจนพูดได้พอเข้าใจ เมื่อต้นปีที่แล้วคู่รักก็ได้ตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตในญี่ปุ่นอีกครั้ง
ขณะผมกำลังยืนดูการปราศรัยของคณะผู้สมัคร ส.ส. บนรถเครื่องขยายเสียงบริเวณด้านหน้าของสถานีรถไฟก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนถัดไป ฮิโรกิก็เดินเข้ามาหาและสวมกอดทักทาย ผมไม่ทันได้ถามว่าใช่พรรคที่เขาสนับสนุนหรือเปล่า เขาก็เดินนำไปยังรถยนต์นิสสันแบบอีโคคาร์ที่เพิ่งเช่ามา ในรถมีคนนั่งรออยู่
ไม่ใช่ “เอมิซัง” ภรรยาของเขา แต่เป็นสตรีอีกคนอายุอานามเป็นรุ่นพี่ของพวกเราทั้งคู่ ฮิโรกิแนะนำให้ผมรู้จักว่านี่คือ “โจมิซัง” อาจารย์สอนภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยเกียวโต พวกเขารู้จักกันเมื่อครั้งเดินทางท่องเที่ยวในกัมพูชาเมื่อราว 3 ปีก่อน เธอบอกว่าเรียก “โจ” เฉยๆ ก็ได้
ผมถามว่าเราเป็นเพื่อนบ้านกันหรือเปล่า โจตอบว่าพวกเราเป็นชาวเอเชียอาคเนย์เหมือนกัน “ฉันมาจากฟิลิปปินส์”
ฮิโรกิเฉลยว่าเอมิซังจะนั่งรถไฟตามไปที่เมืองทาคาชิมาค่ำนี้ เธอยังทำงานไม่เสร็จ และก่อนอื่นเราควรกินมื้อเที่ยงกันก่อน
นิไน-โด เชื่อมกันด้วยระเบียงทางเดิน มีตำนานเล่าว่าพระสงฆ์นาม “เบนไก” ผู้แกร่งกล้าสามารถแบกขึ้นบ่าได้
ร้านอาหารอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟ พนักงานต้อนรับเดินนำไปยังห้องส่วนตัว เราสั่งอาหารมาเต็มโต๊ะตามคำแนะนำของคนเดินโต๊ะ และกินจนอิ่มแปล้ โดยเฉพาะตัวผมที่เมื่อคืนวานแทบไม่ได้กินอะไรมากนัก นอกจากเครื่องดื่มประจำชาติญี่ปุ่นชนิดหมักจากข้าว
ระหว่างทางขึ้นภูเขาฮิเอะ (Hiei-zan) ที่คดเคี้ยว บวกด้วยอาหารอิ่มท้องและสาเกคงค้าง ทำให้เกือบต้องขอให้ฮิโรกิจอดรถตั้งหลายครั้ง แต่ฝืนประคองตัวจนถึงลานจอดรถด้านบนของวัดเอ็นยากูจิ (Enryakuji) ปัจจุบันเป็นทั้งมรดกของประเทศและมรดกโลกขององค์การยูเนสโก
วัดแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 788 โดยพระสงฆ์นาม “ไซโช” โดยการสนับสนุนของจักรพรรดิ “กัมมุ” เพื่อเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์เฮอัง เมืองหลวงแห่งใหม่ (หลังย้ายมาจาก “นาระ”) จากวิญญาณชั่วร้ายมีจะมาจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
พระสงฆ์ไซโชนั้นได้เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนานิกายเทียนไท้ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาเทียนไท้ที่เมืองจีน และได้กลับญี่ปุ่นไปตั้งสำนักขึ้นและเรียกว่านิกายเทนได ไม่นานก็มีลูกศิษย์ลูกหามากมายบวชเข้าไปอยู่ไต้ร่มกาสาวพัสตร์ หลัง 12 ปีแห่งการบำเพ็ญเพียรเรียนรู้ พระที่เก่งจะมีตำแหน่งในวัด ส่วนที่เหลือก็จะลาสิกขาไปรับราชการและทำงานการเมือง
ใช้เวลาไม่นานวัดแห่งนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งนิกายใหม่หลายนิกายเคยศึกษาอยู่ที่วัดนี้แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะ นิชิเรน และ เซน ตอนที่รุ่งเรืองสูงสุดนั้นมีวัดเล็กๆ ถูกสร้างกระจัดกระจายทั่วอาณาเขตบนยอดเขาถึงกว่า 3,000 วัด
ในช่วงที่ “โอดะ โนบุนางะ” ขึ้นมาเป็นใหญ่ เขามองวัดแห่งนี้เป็นภัยสำหรับตัวเองและเป็นอุปสรรคสำหรับการรวมชาติ เพราะมีอิทธิพลทางการเมืองสูง และมีกองกำลังพระของตนเองด้วย จึงส่งกองทัพขึ้นมาปราบเมื่อปี ค.ศ. 1571 สังหารหมู่พระสงฆ์และเผาทำลายวัดจนเกือบเหลือแต่ซาก
ชากา-โด อาคารหลังเก่าแก่ที่สุดของวัด
อย่างไรก็ตาม วัดเอ็นยากูจิที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงเอโดะในยุคของโชกุนตระกูล “โตกุกาวะ” ก็ค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นใหม่จนกลับมามีความสำคัญอีกครั้งแม้ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะชื่อเสียงของพระสงฆ์ที่มุ่งบำเพ็ญตบะและถือสันโดษ
วัดเอ็นยากูจิถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ “โทโดะ” ทางตะวันออก, “ไซโตะ” ทางตะวันตก และ “โยกาวะ” ทางเหนือ อารามสำคัญๆ ส่วนใหญ่จะอยู่รวมกันในส่วนโทโดะ สองส่วนแรกนั้นสามารถเดินถึงกันโดยใช้เวลาประมาณ 20 นาทีผ่านเส้นทางธรรมชาติ แต่ส่วนโยกาวะนั้นอยู่ห่างออกไปจากไซโตะหลายกิโลเมตร
ฮิโรกิจอดรถที่ลานหน้าปากทางเข้าส่วนไซโตะที่ท้องฟ้าเปิดโล่ง แต่พอเดินเข้าไปก็เป็นโลกของต้นไม้สูงใหญ่ โดยเฉพาะบรรดาต้นซีดาร์ สงบร่มรื่น อากาศปรับอุณหภูมิลดลงอย่างฉับพลัน
เราเดินไปทางซ้ายผ่านศาลานิไน-โด เป็นอาคารไม้สองฝั่งซ้าย-ขวา เชื่อมกันด้วยระเบียงทางเดินที่เป็นเหมือนสะพานลอย ลอดระเบียงนี้แล้วเดินลงบันไดหินลาดชันไปยังศาลาชากา-โด เป็นอาคารหลังเก่าแก่ที่สุดในวัดซึ่งกำลังมีพิธีการสำคัญอยู่พอดี ฮิโรกิซื้อตั๋วจากพระสงฆ์ให้ผมและโจ ราคาคนละ 700 เยน พวกเราเดินขึ้นบันได ถอดรองเท้าแล้วเข้าไปนั่งฟังบทสวดตรงเฉลียงด้านหน้า ไม่มีเสียงพูดคุย ฮิโรกิจึงไม่สามารถอธิบายให้ฟังได้ว่าเป็นพิธีอะไร
สักพักก็เริ่มอนุญาตให้เดินเข้าไปด้านในตัวอาคาร ทราบว่าเพิ่งจะเปิดต่อสาธารณะเมื่อไม่นานมานี้ ด้านในคือรูปปั้นและรูปแกะสลักโบราณของเทพเจ้าหลายสิบองค์ แสงไฟที่เปิดเพียงสลัวยิ่งทำให้ดูขรึมขลังน่าเกรงขาม ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป และทางเดินแคบๆ ลักษณะต้องเดินวนไปยังทางออก บังคับให้เราอยู่ในนี้ได้เพียงชั่วสองสามนาทีเท่านั้น
เมื่อออกมาเราก็เดินกลับไปขึ้นรถยนต์แม้ว่าจะมีศาลาเล็กๆ อยู่อีกจำนวนหนึ่งในบริเวณนี้ ฮิโรกิขับไปยังลานจอดของด้านหน้าส่วนโทโดะ ตั๋วที่เราซื้อก่อนหน้านี้สามารถใช้ครอบคลุมได้ทั้ง 3 ส่วน
ต้นไม้ใหญ่มักได้รับการเคารพบูชา
วัดส่วนนี้มีศาลาและอารามของพระมากกว่าส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีร้านค้าและห้องน้ำไว้บริการนักท่องเที่ยวที่มีเยอะกว่าโซนอื่นเช่นกัน พวกเราเดินชมอยู่ได้ไม่นานก็เดินกลับออกไป และพร้อมใจกันแวะดื่มชาร้อนที่ร้านหน้าประตูทางเข้า ฝ่ายโจนั้นพิเศษที่มีเครื่องดื่มที่เธอเรียกว่าสาเกสดมาดื่มด้วย แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็น “นิโกริ” สาเกที่กรองอย่างหยาบๆ (อย่างตั้งใจ) มากกว่า เพราะมีลักษณะสีขาวขุ่น แม้ไม่ถึงกับเข้มจนคล้ายสาโท “มักกอลลี” ของเกาหลี แต่ผมไม่ขอชิมตามคำเชิญเพราะยังไม่หายอาการคลื่นไส้ ส่วนฮิโรกิกินขนมหวานถั่วแดงต้มผสมแป้งโมจิ
เราปล่อยให้ส่วนโยกาวะของวัดเอ็นยากูจิอยู่อย่างอิสระตามบัญชาของคนนำทาง ซึ่งผมเองก็เห็นด้วย ฮิโรกิขับลงจากยอดเขาฮิเอะที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 848 เมตร ไปยังจุดชมวิว มองเห็นทะเลสาบบิวะส่วนทางด้านทิศใต้เป็นรูปหัวใจอยู่เบื้องล่าง เมื่อเงยหน้าขึ้นก็เห็นดวงจันทร์ลอยเด่นแม้เวลายังไม่ห้าโมงเย็นดีนัก จุดชมวิวตรงนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ชื่อ Garden Museum Hiei ตั้งอยู่ด้วย แต่เราไม่ได้เข้าไป
การเดินทางขึ้นมายังวัดเอ็นยากูจินั้น นอกจากทางรถยนต์แล้วก็ยังมีรถบัสจากเกียวโต รถกระเช้า 2 สาย ทั้งจากฝั่งเกียวโตและฝั่งชิกะ แต่ในฤดูหนาวระหว่างเดือนธันวาคมถึงกลางมีนาคมจะไม่มีบัสและรถกระเช้าจากฝั่งเกียวโตให้บริการ
หอระฆัง ตีดังทั้งวัน
ฮิโรกิขับผ่านด่านเก็บค่าผ่านทางออกจากเขตอุทยานอีกด้านหนึ่ง เมื่อลงสู่ถนนด้านล่างแล้วก็ขับเลียบทะเลสาบบิวะมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปยังเมืองทาคาชิมาในเวลาที่อาทิตย์ส่องแสงจางและค่อยๆ มืดลงในที่สุด
เราแวะถ่ายรูปกับเสาประตูโทริอิในทะเลสาบด้านหน้าศาลเจ้าชิราฮิเกะ เสาโทริอิเรืองรับกับแสงไฟประดิษฐ์ที่ยิงออกไปจากฝั่ง มีดวงจันทร์ลอยบนท้องฟ้าเป็นฉากหลัง ดูแล้วช่างสวยงามสอดคล้อง
พระจันทร์จะเต็มดวงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
บ้านพักของเราค่ำคืนนี้ตั้งอยู่ริมทะเลสาบที่มีถนนกั้น เป็นบ้านไม้ 2 ชั้นครึ่ง เจ้าของบ้านคือพ่อของเอมิซัง หรือพ่อตาของฮิโรกินั่นเอง แกมาถึงไล่เลี่ยกับเราเพื่อเปิดประตูบ้านให้ พ่อตาที่ญี่ปุ่นก็เหมือนพ่อตาบ้านเรา ลูกเขยเรียกว่า “พ่อ” เหมือนกัน ผมไม่รู้จักชื่อจริงของพ่อตาฮิโรกิเพราะเขาแนะนำว่า “นี่คือโอโต้ซัง” หรือคุณพ่อ
บ้านของโอโต้ซังหลังสำหรับอยู่อาศัยกับโอก้าซัง (คุณแม่) อยู่ในเขตตัวเมืองทาคาชิมา ส่วนหลังนี้มีไว้สำหรับพักผ่อนยามว่าง และบ่อยครั้งน่าจะมีกิจกรรมดนตรีสังสรรค์กันด้วย เพราะในห้องรับแขกมีเครื่องเล่นแผ่นเสียง เปียโน 1 หลัง กีตาร์อคูสติก 2 ตัว กีตาร์ไฟฟ้าอีก 2 ตัว หนึ่งในนั้นคือ “ฮอฟเนอร์ 500/1” เบสกีตาร์รูปทรงคล้ายไวโอลินรุ่นเดียวกับที่ “พอล แม็คคาร์ทนีย์” แห่ง “เดอะบีทเทิลส์” ใช้ในยุคแรกๆ
ผมจึงถาม “ได้ไปดูพวกเขาที่โตเกียวหรือเปล่าครับ ?”
“ไปทั้ง 2 ครั้งเลย แต่ครั้งที่ 2 ต้องผิดหวังเพราะพอล แม็คคาร์ทนีย์ ป่วยกะทันหัน คอนเสิร์ตถูกยกเลิก”
ฮิโรกิ เพื่อนของผู้เขียน
“เป็นบ้านที่สวยและน่าอยู่มากเลยนะครับ” ผมเปลี่ยนเรื่อง
“ใช่ ผมก็คิดอย่างนั้น แต่จะเก็บไว้ก็ไม่มีเวลาดูแล ใจหายเหมือนกันที่จะต้องขายมันไปในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า” โอโต้ซังพูดภาษาอังกฤษได้ดีมากเพราะเคยไปใช้ชีวิตที่อเมริกาอยู่นานหลายปี
ฮิโรกิเตรียมผ้าขนหนูสำหรับไปออนเซ็นเสร็จเรียบร้อยเราก็ออกจากบ้านแล้วแวะรับเอมิซังที่สถานีรถไฟ ก่อนมุ่งหน้าสู่บ่อออนเซ็นในเขตมากิโนะ ผ่านต้นซากุระที่เรียงแถวกันอยู่สองข้างทาง และโน้มเข้าหากันเป็นอุโมงค์ต้นไม้
แม้กลางคืนก็ยังเห็นความงาม.
ประตูโทริอิของศาลเจ้าชิราฮิเกะ ตั้งอยู่ในทะเลสาบบิวะ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |