รัฐมนตรีต่างประเทศจีนแสดงความหวังว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาวันเสาร์นี้จะเปิดทางออกสำหรับ "การลงจอดอย่างนุ่มนวล" แก่เมียนมา ขณะรัฐบาลเงาเมียนมาร้องขออินเตอร์โพลร่วมมือตำรวจอินโดนีเซียจับกุมพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
รายงานข่าวของรอยเตอร์และเอเอฟพีเมื่อวันศุกร์กล่าวว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนว่าด้วยเมียนมาที่กรุงจาการ์ตาวันเสาร์ที่ 24 เมษายนนี้ ได้รับการจับตาว่าเป็นความพยายามร่วมกันครั้งแรกของนานาชาติเพื่อหาทางคลี่คลายวิกฤติในเมียนมา ทั้งยังเป็นบททดสอบสำหรับอาเซียนที่่ยึดถือแนวทางไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกและดำเนินการกันด้วยฉันทมติ
ในการโทรศัพท์พูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยและของบรูไนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เปิดเผยว่า จีนคาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่การเริ่มต้นที่ดี ที่จะช่วยให้เกิด "การลงจอดที่นุ่มนวล" สำหรับทางออกของเมียนมา
แถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศของจีนอ้างคำกล่าวของหวังอีกว่า "การแทรกแซงอย่างไม่เหมาะสม" จากนอกภูมิภาคเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง การปฏิบัติพิสูจน์แล้วว่า การกดดันอย่างไม่ดูตาม้าตาเรือโดยกำลังจากต่างชาตินั้นไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาภายในของประเทศหนึ่งประเทศใด แต่จะนำความปั่นป่วนวุ่นวายหรือแม้แต่นำความเสื่อมมาสู่สถานการณ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบและทำให้ภูมิภาคนี้ไร้เสถียรภาพ
"จีนเรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศแสดงท่าทีที่ไม่ลำเอียงและยุติธรรม และกระทำให้มากขึ้นเพื่อช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในเมียนมา แทนที่การทำในสิ่งตรงกันข้าม" หวังกล่าว "จีนจะรักษาติดต่อสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับอาเซียนไว้ต่อไป และจัดการงานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาต่อไปในวิธีของตน"
ภายในเมียนมาเมื่อวันศุกร์ ผู้ประท้วงออกมาเดินขบวนในนครย่างกุ้งอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องผู้นำอาเซียนยืนอยู่ข้างประชาชนเมียนมา และร้องตะโกนขอให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และผู้นำคนอื่นๆ ทันที พวกเขาเดินขบวนอย่างรวดเร็วผ่านเจดีย์ซูเลกลางนครย่างกุ้ง
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) ที่เป็นรัฐบาลเงาซึ่งประกอบด้วยอดีต ส.ส.และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ส่งจดหมายถึงองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (อินเตอร์โพล) เรียกร้องให้ตำรวจสากลจับกุมพลเอกอาวุโส มิ่น อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมาและผู้นำสภาบริหารแห่งรัฐ โดยขอให้ร่วมมือกับตำรวจอินโดนีเซีย จับกุมนายทหารผู้นี้เมื่อมาเข้าร่วมประชุมอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาวันเสาร์
อู ลวิน โก ลัต รัฐมนตรีมหาดไทยของรัฐบาลเงาชุดนี้ กล่าวในจดหมายว่า มิน อ่อง หล่าย ถูกคณะค้นหาข้อเท็จจริงขององค์การสหประชาชาติกล่าวหาเมื่อปี 2561 ว่าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในเหตุการณ์ปราบปรามชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ นอกจากนี้ ผบ.สส.นายนี้ยังก่อรัฐประหารและรับผิดชอบต่อการตายของพลเรือนอย่างน้อย 739 คน และการคุมขังคนอีกมากกว่า 3,000 คนนับถึงวันที่ 21 เมษายน
เมื่อปี 2562 รัฐบาลแกมเบียเคยยื่นฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก กล่าวหากองทัพเมียนมาว่ากระทำโหดร้ายต่อชาวโรฮีนจา โดยอ้างถึงชาวโรฮีนจาที่อพยพจากยะไข่เข้าบังกลาเทศหลังปฏิบัติการกวาดล้าง คนเหล่านี้บอกเล่าถึงการเข่นฆ่า, จับกุม และทรมานโดยพวกทหาร โดยพลเอกอาวุโสผู้นี้ก็โดนฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ด้วย
จดหมายเรียกมิน อ่อง หล่าย ว่าอาชญากรและผู้ก่อการร้ายที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐยะไข่ และต้องถูกดำเนินคดีในศาลระหว่างประเทศทั้งสองศาลนี้
ต่อมาในค่ำวันเดียวกัน รัฐบาลทหารเมียนมาตอบโต้ด้วยการประกาศว่า รัฐมนตรีเงาทั้ง 24 คนของเอ็นยูจีและพวกพ้องอีก 2 คน ซึ่งอยู่ระหว่างหลบซ่อนตัว โดนตั้งข้อหาเป็นกบฏต่อแผ่นดิน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |