23เม.ย.64-ศิริราชชี้แจงกรณีการเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในบุคลากรทางการแพทย์ สืบเนื่องจากมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำนวน 3 ราย ซึ่งมีอาการชาบริเวณแขน ขา ใบหน้าด้านซ้ายหลังฉีดวัคซีนนั้น
รศ. นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นกับนักศึกษาแพทย์ จำนวน 2 ราย และอาจารย์ จำนวน 1 ราย เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 20 - 30 ปี โดยมีอาการหลังเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด–19 ในตอนเช้าของวันที่ 22 เมษายน 2564 แล้วเริ่มมีอาการตอนสายถึงค่ำ เมื่อได้รับการตรวจ ที่ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช โดยได้รับการตรวจร่างกาย และการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษอื่น ๆ รวมทั้งการตรวจเอกซเรย์สมองด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) แต่ไม่พบความผิดปกติใด ๆ หลังจากนั้นจึงได้รับไว้ในโรงพยาบาลศิริราชเพื่อสังเกตอาการ จนอาการดีขึ้น จึงให้กลับบ้านได้ในวันที่ 23 เมษายน 2564
จากกรณีดังกล่าวข้างต้น ศ. พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก และอาจารย์สาขา โรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า น่าจะเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนในประชากรจำนวนมาก (mass vaccination) ดังเช่นเดียวกับรายงานที่เกิดขึ้นที่จังหวัดระยอง โดยอาการเหล่านี้ ได้มีรายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าอาจเกิดขึ้นได้ในการฉีดวัคซีนชนิดอื่น โดยเรียกภาวะนี้ว่า Immunization Stress - Related Response (ISRR) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อการได้รับ วัคซีน โดยมักจะเกิดในผู้ที่มีอายุน้อย ซึ่งอาจเกิดผลข้างเคียงได้ 2 อย่าง คือ
1. ผลข้างเคียงจากวัคซีน ที่จะทำให้มีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
2. ปฏิกิริยาของผู้รับวัคซีน ที่ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท หรือระบบหัวใจ โดยจะมีอาการคล้ายจะเป็นลม หรือหน้ามืด
ดังนั้น การเตรียมตัวก่อนการได้รับวัคซีนโควิด-19 จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ประกอบด้วย การพักผ่อนให้เต็มที่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และเตรียมสภาพจิตใจให้ผ่อนคลาย
สำหรับผู้ที่มีอาการมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วขณะได้รับการฉีดวัคซีน และมักจะหายได้เองภายในระยะเวลา 24 - 48 ชั่วโมง และได้รับการสืบสวนโรค หรือตรวจด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ก็จะไม่พบความผิดปกติใด ๆ
ดังนั้น การฉีดวัคซีน โควิด-19 จึงมีความปลอดภัยมากกว่าอัตราการเกิดผลข้างเคียง และหากมีผลข้างเคียงก็มักจะหายได้เอง โดยไม่หลงเหลือความผิดปกติใด ๆ จึงขอให้บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปมีความมั่นใจในความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีน หากมีความกังวล หรือข้อสงสัยขอให้ปรึกษาแพทย์ก่อนได้รับวัคซีน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |