บิ๊กตู่สั่งเกาะติดเมียนมา หวังอาเซียนถกทางออก


เพิ่มเพื่อน    

  “ประยุทธ์” สั่งเหล่าทัพจับตาสถานการณ์เมียนมา พร้อมแผนสำรองอพยพคนไทยทันทีหากรุนแรงขึ้น รัฐบาลมอบ 5 ล้านบาทช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หวังประชุมอาเซียน 24 เม.ย. มีทางออกสันติ

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 4/2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบเป็นนโยบายให้หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการเหล่าทัพติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะในเมียนมา และเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาและผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงภายใน และการสู้รบในพื้นที่ชายแดนที่มีขึ้น โดยให้กองกำลังป้องกันชายแดนของทุกเหล่าทัพประสานการทำงานกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่เพิ่มความเข้มงวดกวดขัน การรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดนในทุกช่องทาง พร้อมทั้งเน้นย้ำการแสดงท่าทีต่อสถานการณ์ในเวทีระหว่างประเทศ ให้ยึดกรอบกระทรวงการต่างประเทศ และแนวทางของอาเซียนเป็นหลัก รวมทั้งให้เตรียมความพร้อมอพยพคนไทยออกจากเมียนมา กรณีสถานการณ์มีความรุนแรงขึ้น และเตรียมการรองรับผู้หนีภัยความไม่สงบ โดยยึดหลักมนุษยธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์กังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา รัฐบาลไทยจึงพิจารณาเตรียมมอบเงินสนับสนุนการดำเนินการแก่สภากาชาดไทย จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อให้การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และเป็นประโยชน์แก่ประชาชนเมียนมา โดยจะเป็นการดำเนินการผ่านสภากาชาดเมียนมา
“ในวันเสาร์ที่ 24 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมผู้นำอาเซียนเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาที่สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ซึ่งนายกฯ ได้มอบหมายให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ เป็นผู้แทนพิเศษ และเป็นผู้แทนนายกฯ ประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะได้นำเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม และหวังว่าผลของการประชุมจะมีส่วนทำให้สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลายอย่างสันติโดยเร็ว” นายอนุชาระบุ
ด้านนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวถึงการประชุมนี้ว่า จีนหวังให้การประชุมนำไปสู่การเริ่มต้นที่ดี ช่วยให้สถานการณ์เมียนมามีทางออกสวยงามแบบซอฟต์แลนดิ้ง แต่ควรหลีกเลี่ยงการแทรกแซงอย่างไม่เหมาะสมจากนอกภูมิภาค เพราะการกระทำที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าการกดดันอย่างรุนแรงแบบไม่ลืมหูลืมตาจากภายนอกไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในประเทศใดๆ ได้ มีแต่จะสร้างความปั่นป่วนหรือสถานการณ์ย่ำแย่ลงอีก ซึ่งจะส่งผลและบั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาค"
 "จีนจะสื่อสารกับอาเซียนอย่างใกล้ชิดต่อไป และยังทำงานที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา ตามวิถีทางของตนต่อไป" นายหวังระบุ
วันเดียวกันภาคประชาชนทั้งในนามบุคคล องค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) และมูลนิธิได้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องการชุมนุมในวันที่ 24 เม.ย. ที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 ข้อ ที่น่าสนใจคือข้อ 6 ที่เสนอให้อาเซียนไม่ควรใช้หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในตามกฎบัตรอาเซียน และข้อ 8 ที่ให้ประเทศอาเซียนที่ทำธุรกิจ การค้า ข้อตกลงและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า กับเมียนมาระงับความร่วมมือทางธุรกิจในทุกประเภท.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"