23 เมษายน 2564 นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 เม.ย. 2564 เวลา 09.00 น. ตนพร้อมด้วยสมาชิกไม่เกิน 50 คน จะขับรถแท็กซี่ไปที่กระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่องขอคัดค้านการเสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ... ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบในหลักการร่างดังกล่าวในเร็วๆ นี้ โดยร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ กำหนดให้สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะให้บริการผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชันอย่างถูกกฎหมายกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้
ทั้งนี้ การยื่นคัดค้านครั้งนี้นั้น เนื่องจาก ตนมองว่า ขณะนี้ ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ที่มีอยู่ประมาณ 120,000 คันทั่วประเทศ กำลังประสบผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบาดระลอก 3 ในหลายพื้นที่ ทำให้ไม่มีผู้โดยสารและไม่มีรายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว จนทำให้เหลือผู้ประกอบการรถแท็กซี่ที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้ และยังพยุงกิจการไปได้ ประมาณ 30,000-40,000 คัน หรือคิดเป็น 30% เท่านั้น ส่วนอีก 80,000-90,000 คัน หรือ 70% ได้จอดรถแท็กซี่ไว้ แล้วไปหาอาชีพอื่นทำ เพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว
“การไปยื่นหนังสือที่กระทรวงคมนาคมในวันที่ 26 เม.ย.นี้นั้น ผมและสมาชิกผู้ขับแท็กซี่อีกกว่า 50 คน จะปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันโควิด-19 และเป็นไปตามมาตรการของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. อย่างเคร่งครัด สำหรับผู้ที่นำรถแท็กซี่ไปนั้น จะนั่งอยู่บนรถแท็กซี่ไม่ลงมาจากรถ แต่จะมีบางส่วนเท่านั้นที่จะไปยื่นหนังสือ และขอส่งตัวแทนเข้าไปประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารกระทรวงเพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ต่อไป” นายวรพล กล่าว
นายวรพล กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการผลักดันร่างฯ ดังกล่าว เพื่อให้มีผลบังคับใช้รวดเร็วนั้น ทำให้เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการแท็กซี่รายเดิมที่อยู่ในระบบอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งวันนี้การประกอบการก็ลำบากอยู่แล้ว ดังนั้นการเข้ามายื่นครั้งนี้ เพื่ออยากจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกในการดำเนินการดังกล่าวร่วมกัน โดยให้คำนึงถึงผู้ประกอบการแท็กซี่รายเดิมด้วย ส่วนในทางปฏิบัติเรื่องนี้นั้น ประเภทรถที่จะเอามาให้บริการต้องเป็นรถที่มีกาจดทะเบียนสาธารณะ (ป้ายเหลือง) และมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะเหมือนกับรถแท็กซี่ในระบบทุกอย่าง แต่การลงทุนประเภทรถที่นำมาให้บริการสำหรับรถยนต์ทั่วไปเครื่องยนต์ขนาด 1,000 ซีซีขึ้นไป ถ้าผ่อนงวดรถเสร็จเป็นวงเงินประมาณ 700,000-800,000 บาทเท่านั้น ขณะที่รถแท็กซี่มีขนาด 1,600 ซีซีขึ้นไปเมื่อผ่อนค่างวดรถเสร็จมีวงเงิน 1,500,000-1,700,000 บาท ซึ่งการลงทุนต่างกันมาก
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ ยังมีกลุ่มแท็กซี่ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัดที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก เช่น แท็กซี่ จ.ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา เชียงราย เชียงใหม่ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะรวมตัวกันขับเคลื่อนไปยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องดังกล่าว ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดนั้นๆ ด้วย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา ตนได้ยื่นหนังสือถึงนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. แล้ว ซึ่ง ขบ. รับเรื่องไปพิจารณาต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |