"บิ๊กตู่" หารือ ปธน.อินโดฯ ยันไทยหนุนประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 24 เม.ย. คลี่คลายสถานการณ์เมียนมา "ก้าวไกล" เรียกร้องไม่ให้ใช้เวทีนี้รับรองความชอบธรรมเผด็จการทหาร จี้รัฐบาลปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและภูมิภาค 44 องค์กรร่อน จม.เปิดผนึกบี้ประเทศอาเซียนคว่ำบาตรกดดันหยุดฆ่า ปชช.ตามอำเภอใจ
เมื่อวันที่ 22 เมษายน เวลา 09.30 น. ที่ห้องโดม ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทางโทรศัพท์กับนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีชื่นชมบทบาทอินโดนีเซียในเวทีอาเซียน ที่ได้ผลักดันให้มีการประชุมผู้นำอาเซียนเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ที่สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ในวันเสาร์ที่ 24 เม.ย.นี้
พล.อ.ประยุทธ์มีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมาซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด และตระหนักดีว่าสถานการณ์ในเมียนมาเป็นประเด็นที่มีความท้าทายอย่างยิ่งต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ในฐานะนายกรัฐมนตรีไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศ จึงไม่สามารถเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ที่กรุงจาการ์ตาได้ โดยมอบหมายให้นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ เป็นผู้แทนพิเศษเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งด้วยความห่วงใยในสถานการณ์ นายกฯ ได้ฝากความเห็นเพื่อให้นายดอนได้นำเสนอในที่ประชุม พร้อมทั้งอวยพรให้การประชุมประสบผลสำเร็จ ส่งผลให้สถานการณ์ในเมียนมาเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยพร้อมผลักดันการดำเนินการตามมติของที่ประชุม
ด้านประธานาธิบดีอินโดนีเซียขอบคุณและชื่นชมบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางด้านต่างประเทศ และความคิดเห็นของไทยส่งผลสำคัญในการผลักดันภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ เข้าใจดีถึงการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาเซียนจะมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลาย
ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนจัดตั้งกระบวนการสันติภาพที่นำโดยอาเซียน เพื่อยุติการสังหารประชาชนและนำเมียนมากลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตย โดยกระบวนการสันติภาพก็มีหลายกลไกที่อาเซียนสามารถใช้ได้ เช่น จัดตั้งกลุ่มผู้ประสานงานอาเซียน จัดตั้งทูตพิเศษของอาเซียน หรือจัดตั้งกลุ่มเพื่อนประธาน ทั้งนี้ ทหารเมียนมาต้องยุติการใช้ความรุนแรงและปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ต้องไม่ปล่อยให้การประชุมผู้นำอาเซียนเป็นเวทีที่ให้การยอมรับและความชอบธรรมกับเผด็จการทหารเมียนมา ควรผลักดันผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มได้มีโอกาสหาทางออกร่วมกันในกระบวนการจะเปิดรับทุกฝ่าย ดังนั้นผู้นำอาเซียนจึงควรยื่นคำเชิญให้กับทุกฝ่ายในการหาทางออกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ ไปจนถึงกองทัพ และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้กระบวนการสันติภาพที่เปิดกว้างและมีความจริงใจเกิดขึ้นได้
"อาเซียนควรยืนยันในหลักการความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยตระหนักว่าถึงเวลาแล้วที่จะเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ดำเนินการตามอำนาจในหมวด 6 และจัดตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในเมียนมา รวมทั้งให้ผู้นำอาเซียนจัดตั้งคณะทำงานเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเมียนมา และเรียกร้องให้ทหารเมียนมายอมเปิดให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สามารถเข้าไปถึงได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ ถ้าเมียนมาเกิดวิกฤติ ก็จะเป็นวิกฤติของประเทศไทยที่มีชายแดนติดต่อกับเมียนมาถึง 2,400 กิโลเมตรด้วย ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะต้องทำตามหลักการการคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเองในระยะยาว โดยรู้แจ้งถึงสิ่งที่ถูกต้อง และแสดงออกให้เห็นว่าประเทศไทยยืนอยู่ข้างประชาชนชาวเมียนมา ไม่ได้เป็นสหายในสงครามร่วมหัวจมท้ายกับทหารเมียนมา” นายพิธาระบุ
พรรคกล้าออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลไทยควรต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนัดพิเศษที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 เม.ย. ดังนี้ 1.ต้องชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาไม่ได้เป็นปัญหาความมั่นคงภายในประเทศเท่านั้น แต่จะส่งผลให้เกิดการอพยพย้ายถิ่น หนีร้อนมาพึ่งเย็นประเทศเพื่อนบ้าน เกิดเป็นภาระและความเสี่ยง ทั้งด้านความมั่นคงและการจัดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 2.ควรแสดงท่าทีอย่างแข็งขันไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น เสี่ยงต่อการแทรกแซงจากต่างชาติ อันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโดยรวมในภูมิภาคอาเซียนไปด้วย และ 3.เสนอให้รัฐบาลทหารเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่รวมตัวกันในนามรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ใช้วิธีทางการเมือง หารือเพื่อหาทางออกร่วมกันโดยสันติ โดยอาเซียนต้องพร้อมทำหน้าที่เป็นกรรมการตัวกลาง
วันเดียวกัน นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศ พร้อมภาคประชาสังคม 44 องค์กร ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำประเทศอาเซียน โดยเรียกร้อง 8 ข้อ เพื่อแก้วิกฤติการเมืองในเมียนมา ดังนี้ 1.เชิญผู้แทนจากรัฐบาลเพื่อเอกภาพแห่งชาติ (เอ็นยูจี) เข้าร่วมแก้ปัญหา 2.อาเซียนเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนโดยทันที ปลดปล่อยผู้ถูกคุมขัง และหยุดยั้งการเข่นฆ่าตามอำเภอใจ 3.อาเซียนเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยนักโทษและผู้ต้องขังทางการเมืองโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงผู้นำที่ชอบธรรมของพรรคเอ็นแอลดี ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่อาวุโสอีกจำนวนหนึ่งด้วย
4.อาเซียน ภายใต้การนำของไทย เปิด "ระเบียงมนุษยธรรม" ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อเอื้ออำนวยให้องค์กรด้านมนุษยธรรมของไทยและองค์การระหว่างประเทศ และหน่วยงานของสหประชาชาติ ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์ที่ฉุกเฉินเร่งด่วนให้แก่ผู้พลัดถิ่นนับพันนับหมื่นคน 5.อาเซียนต้องกระชับความร่วมมือในการเจรจาหารือกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ภายใต้การนำของเวียดนาม ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ 6.อาเซียนไม่ควรใช้หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ตามกฎบัตรอาเซียนมาเป็นข้ออ้างในการยื้อเวลา หรือเบี่ยงเบนไปจากเจตจำนงเพื่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความมั่นคงในภูมิภาคนี้
7.ประเทศไทยพึงแสวงหาความช่วยเหลือจากอาเซียนในการประกาศเขตห้ามบินตลอดภูมิภาคที่เป็นแนวชายแดนไทย-เมียนมา และ 8.ประเทศอาเซียนที่ทำธุรกิจ การค้า ข้อตกลงและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้ากับเมียนมา พึงต้องระงับความร่วมมือทางธุรกิจในทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ถูกควบคุมหรือเป็นทรัพย์สินของระบอบทหารและบริวารของเขา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |