นับวันรอให้ถึงกำหนดเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ วันที่ 22 พ.ค. เพราะมีหลายเรื่องต้องติดตาม โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และล่าสุดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565
โดยเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ซึ่งก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่อ ครม.ในครั้งนี้ ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ตามมาตรา 77 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ระหว่างวันที่ 24 มี.ค.-7 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา และได้ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว
หลังจากนี้ สำนักงบประมาณจะได้จัดพิมพ์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ 65 และเอกสารประกอบงบประมาณ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบอีกครั้งในวันที่ 11 พ.ค.2564 และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
รองโฆษกรัฐบาลไล่เรียงไทม์ไลน์การพิจารณาในชั้นสภาและวุฒิสภาว่า สภาจะพิจารณาวาระที่ 1 ในวันที่ 26-27 พ.ค.2564 และวาระที่ 2-3 ในวันที่ 11-13 ส.ค.2564 จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ในวันที่ 23-24 ส.ค.2564 และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 7 ก.ย.2564 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม รายจ่ายของแผ่นดินในปี 65 นั้น ตั้งวงเงินทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งน้อยกว่างบประมาณรายจ่ายปี 64 จำนวน 1.85 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.66%
โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายแบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2.36 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 76.15% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน 6.24 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.14% รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.22% รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 2.49 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.81% และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.02%
ทั้งนี้ งบรายจ่ายปี 65 เป็นการตั้งงบประมาณแบบขาดดุล โดยจะมีการกู้งบประมาณขาดดุล 700,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้วมีปัญหาว่าทางรัฐบาลส่งเอกสารงบประมาณให้สภาล่าช้า จึงทำให้ ส.ส.ไม่สามารถอ่านรายละเอียดได้อย่างรอบคอบ
ฉะนั้น ในปีนี้เอง “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาฯ ให้สัมภาษณ์เปิดเผยว่า ได้ตกลงเบื้องต้นว่าจะเสนอมาให้เร็ว เพื่อให้สภามีเวลาพิจารณาตามกำหนดเวลาที่สำนักงบประมาณกำหนดไว้ โดยครั้งที่ผ่านมาล่าช้า เพราะกว่าจะส่งมา มีเวลาตรวจสอบเพียง 7 วัน ทำให้ ส.ส.บางท่านดูไม่ทัน จึงขยายเวลาไป 10 กว่าวัน แต่ครั้งนี้เราขอเวลาพิจารณาตรวจสอบ 9-10 วัน โดยทาง ผอ.สำนักงบประมาณรับปากว่าจะส่งมาตามเวลาที่กำหนด
หากพิจารณาจากที่ “รองโฆษกไตรศุลี” แถลงนั้น ปัญหาการจัดส่งเอกสารให้สภาน่าจะไม่ซ้ำรอยเดิมอีก
สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในมุมของพรรคเพื่อไทย “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” ส.ส.กทม. ระบุว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดของงบลงทุน แต่หากการจัดสรรงบลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศ ไม่เกิดประโยชน์ในการพัฒนา รวมถึงไม่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติโควิด เช่น งบประมาณการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ งบซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ในหน่วยงานราชการที่ยังคงใช้งานต่อไปได้ เช่น รถประจำตำแหน่งของผู้บริหารหน่วยงาน รวมถึงงบฟุ่มเฟือยอื่นๆ เช่น การศึกษาดูงานที่ไม่เหมาะสมกับช่วงเวลานี้ คิดว่าสภาคงไม่ปล่อยให้งบประมาณที่มีลักษณะเช่นนี้ผ่านไปได้อย่างแน่นอน
น.อ.อนุดิษฐ์ระบุอีกว่า ในช่วงสถานการณ์ที่ประชาชนเผชิญโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจ งบประมาณทุกบาทต้องใช้อย่างคุ้มค่า งบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต้องผันไปทุ่มเทเยียวยาแก้ปัญหาตรงนี้ก่อน
ด้าน “เทพไท เสนพงศ์” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า งบประมาณปี 65 จัดตั้งวงเงินน้อยกว่างบประมาณปี 2564 ที่มีวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท กู้งบประมาณขาดดุล 608,962.5 ล้านบาท ประมาณการรายได้ 2,677,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินงบประมาณปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ประมาณการรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท และการกู้งบประมาณขาดดุล 700,000 ล้านบาท หมายความว่าปี 65 ประมาณการรายได้จะน้อยกว่า แต่การกู้งบประมาณขาดดุลจะสูงกว่า
อดีต ส.ส.เทพไทเสนอให้ ครม.มีความรอบคอบในการอนุมัติจัดทำงบประมาณประจำปี 2565 โดยต้องคำนึงถึงการรองรับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 3 หรืออาจจะมีรอบ 4 หรือรอบ 5 ตามมาก็ได้ ซึ่งจะได้ไม่ต้องรื้อแผนงบประมาณในภายหลังอีก รัฐบาลควรปรับลดแผนการใช้เงินงบประมาณของทุกกระทรวง ทบวง กรม มาเป็นงบประมาณที่ใช้ในการแก้ปัญหาประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ตัดงบประมาณในส่วนต่างๆ เช่น 1.งบการประชุมสัมมนา 2.งบการศึกษาดูงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3.งบประมาณการก่อสร้างโครงการใหม่ ยกเว้นโครงการที่มีงบผูกพัน 4.งบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และการก่อสร้างค่ายทหาร เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินงบประมาณเพียงพอในการเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศช่วงโควิดกำลังระบาด และไม่ควรที่จะใช้พระราชกำหนดเงินกู้เพิ่มเติมอีกในอนาคต
ทั้งหมดนี้คือความคืบหน้าเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 65 เป็นเบื้องต้น สรุปใจความได้ว่า นอกจากคัดค้านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทั้งหลายที่เป็นประเด็นทุกปี โดยให้เหตุผลว่าเพื่อนำเงินตรงส่วนนี้ไปเยียวยาในสถานการณ์โควิดและฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้วนั้น ถ้ายังจำกันแม่น การพิจารณาปีที่แล้วมีข่าวอื้อฉาว ส.ส.หากินแบบหน้าด้าน ไร้ยางอาย โทรศัพท์ไปตบทรัพย์ 5 ล้านบาทกับอธิบดีกรมน้ำบาดาลเพื่อแลกกับการอนุมัติโครงการ จนถึงขณะนี้เรื่องก็ได้เงียบหายเข้ากลีบเมฆเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ฉะนั้น การพิจารณาในชั้น กมธ.งบประมาณ ปี 65 รอบนี้อย่ากะพริบตา อาจได้กระชากหน้ากาก ส.ส.คดโกงเงินหลวงอีกหลายคน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |