22 เม.ย.64 - เมื่อเวลา 11.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่1,470 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศทั้งหมด โดยมาจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 1,370 ราย จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 100 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 48,113 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 477 ราย หายป่วยสะสม 29,848 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 18,148 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย โดยรายที่ 1 เป็นหญิงไทยอายุ 24 ปี อาชีพค้าขาย ที่อยู่ขณะป่วย จ.พัทลุง มีโรคประจำตัว โรคอ้วน ประวัติ วันที่ 7 เม.ย. ไปสถานบันเทิง ซึ่งมีผู้ติดเชื้อโควิด วันที่ 16 เม.ย.ตรวจหาเชื้อโควิด มีไข้ ไอ เจ็บคอ วันที่ 17 เม.ย.ผลพบเชื้อและปอดอักเสบ หายใจเหนื่อย วันที่ 19 เม.ย.ออกซิเจนในเลือดต่ำลง มีภาวะปอดอักเสบรุนแรงและเสียชีวิต วันที่ 20 เม.ย. รายที่ 2 หญิงไทย อายุ 68 ปี อาชีพดูแลเด็ก ขณะป่วยอยู่ จ.สระบุรี มีโรคประจำตัวภูมิแพ้ ประวัติ วันที่ 5 เม.ย.สัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า วันที่ 12 เม.ย. เริ่มมีอาการ ไข้ ไอ วันที่ 19 เม.ย.เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล มีอาการหายใจลำบาก มีเสมหะ ใส่ท่อช่วยหายใจ และระบบหายใจล้มเหลว ผลพบเชื้อ และเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย.
รายที่ 3 ชายไทย อายุ 83 ปี ขณะป่วยอยู่ กทม. มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง วันที่ 17 มี.ค.มีไข้สูง ไอแห้ง มีน้ำมูก อ่อนเพลีย วันที่ 22 มี.ค.ไปรักษาที่คลินิกเอกชน วันที่ 23 มี.ค.รับตรวจคัดกรองเชิงรุกจากหน่วยรถพระราชทาน วันที่ 24 มี.ค.ผลพบเชื้อ วันที่ 25 มี.ค.รับการรักษาที่โรงพยาบาล วันที่ 31 มี.ค.เหนื่อยมากขึ้น ใส่ท่อช่วยหายใจ ต่อมาอาการทรุดลง และเสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย. รายที่ 4 หญิงไทย อายุ 80 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง ขณะป่วยอยู่ จ.นครปฐม มีโรคประจำตัวเบาหวาน ประวัติ 13-15 เม.ย. ญาติเดินทางมาจาก กทม.มาเยี่ยม วันที่ 16 เม.ย. มีอาการอาเจียนเป็นเลือดเสีย ญาตินำส่งโรงพยาบาล ผลพบเชื้อ ต่อมาอาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตวันที่ 17 เม.ย.
รายที่ 5 ชายไทย อายุ 45 ปี อาชีพพนักงานขับรถ ขณะป่วยอยู่ กทม. มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง วันที่ 9 เม.ย.มีไข้ ไอ เหนื่อย มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า วันที่ 17 เม.ย.ไข้สู 40.2 องศา ไอมีเสมหะ หนาวสั่น กินได้น้อยลง จึงไปตรวจที่โรพยาบาลและรับยากลับบ้าน วันที่ 19 เม.ย.เข้ารักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการหายใจเหนื่อย ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำผลพบเชื้อและปอดอักเสบ จึงใส่ท่อช่วยหายใจ เสียชีวิตวันที่ 20 เม.ย. รายที่ 6 ชายไทย 59 ปี พนักงานรัฐวิสาหกิจ ขณะป่วยอยู่ กทม. มีโรคประจำตัวเบาหวาน ประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า วันที่ 14 เม.ย.มีอาการไอ วันที่ 20 เม.ย.เข้ารักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการไอ หายใจลำบาก ใส่ท่อช่วยหายใจ ตรวจพบเชื้อโควิดและเสียชีวิตในวันเดียวกัน
และรายที่ 7 ชายไทย อายุ 86 ปี อาชีพรับจ้าง ขณะป่วยอยู่ กทม. มีโรคประจำตัว โรคหัวใจ ประวัติ วันที่ 5 เม.ย.สัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า วันที่ 16 เม.ย.ตรวจพบเชื้อและมีอาการไอแห้งอ่อนเพลีย วันที่ 18 เม.ย. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล วันที่ 20 เม.ย. มีอาการหอบเหนื่อยค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ อาการแย่ลงและเสียชีวิต วันที่ 21 เม.ย. ทำให้มียอดเสียชีวิตสะสม 117 ราย ส่วนสถานการณ์โลก ผู้ป่วยยืนยันสะสม 144,431,869 ราย เสียชีวิต 3,071,625 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการฉีดวัคซีนขณะนี้ ฉีดเข็มแรกสะสม 746,617 คน เข็มที่สองสะสม 118,223 คน นอกจากนี้ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) วันเดียวกันนี้ มีการรายงานสถิติผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ระลอก พบว่าระลอกแรก ในปี 63 มีผู้เสียชีวิต 67 ราย จากผู้ป่วยสะสม 6,772 รายคิดเป็นร้อยละ 0.82 ระลอกที่ 2 เดือนม.ค.-มี.ค.64 มีผู้เสียชีวิต 27 ราย จากผู้ป่วย 21,035 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.13 และระลอกที่ 3 เดือนเม.ย.มีผู้เสียชีวิต 16 ราย จากผู้ป่วย 17,780 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.10 โดยผู้เสียชีวิตในระลอกแรกมากที่สุดคือช่วงวัย 40-59 ปี ระลอก 2 และระลอก 3 คือผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้ง 3 ระลอกส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า กรณีที่ขณะนี้มีการแพร่กระจายเชื้อไปในหลายพื้นที่ทำให้ประชาชนกังวลว่าจุดที่เดินทางไปนั้นมีความเสี่ยงหรือไม่ กรมอนามัยได้จัดทำแบบประเมินตนเองของสถานประกอบการบนแพลตฟอร์ม " Thai Stop COVID Plus" เพื่อให้ผู้ประกอบการทำแบบประเมินตนเอง เมื่อภาครัฐภาคเอกชนร่วมมือกัน และถ้าได้ความร่วมมือจากประชาชนจะทำให้การป้องกันโควิดมีประสิทธิภาพ
เมื่อถามว่า กรณีนำผู้ติดเชื้อโควิดไปอยู่รวมกันในโรงพยาบาลสนาม จะทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และกลายพันธุ์ของโรคหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การไปอยู่โรงพยาบาลสนามไม่ใช่อยู่อย่างสบายๆ ต้องเว้นระยะห่างกันทุกคน และใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งการอยู่ร่วมกันนี้จะได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ ถือว่าเป็นมาตรฐานที่สูงกว่าอยู่ในบ้านของตัวเองหรือในชุมชน ซึ่งโรงพยาบาลสนามใน จ.เชียงใหม่ ใน จ.กรุงเทพฯ ก็ดูเรียบร้อยดี
ถามว่า กรณีผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ที่เกิดอาการคล้ายโรคอัมพฤกษ์นั้น มีสาเหตุจากการฉีดวัคซีนหรือไม่ และจะต้องพิจารณาหยุดฉีดวัคซีนชั่วคราวหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมอีโอซี ได้หารือเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่และมีการนำเข้าข้อมูลจากคณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีน 6 รายที่เกิดขึ้น โดยข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่ไม่เกี่ยวกับล็อตการนำเข้า และการฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่า ฉีดกันเป็นแสนรายแล้วมีผลข้างเคียงเพียงไม่กี่ราย จึงไม่จำเป็นต้องหยุด หลังจากนี้จะมีการพิจารณาลงลึกถึงสาเหตุต่อไป และชุดข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (who) ระบุว่าการฉีดเป็นกลุ่มใหญ่อาจเกิดอาการข้างเคียง หลังจากนี้คงมีการรายงานรายละเอียดออกมา แต่ขณะนี้ทุกรายอาการไม่หนัก และยืนยันการฉีดวัคซีนจะเดินหน้าต่อ ด้วยความสมัครใจ ยืนยันไม่มีการบังคับ แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็ใช้ความสมัครใจ ส่วนกรณีการหาเตียงรักษายากนั้น ทุกฝ่ายไม่สายใจและกำลังประชุมหาทางออกกันอยู่
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |