กกร.ชี้โควิดระลอกใหม่ทุบเศรษฐกิจยาว 3 เดือน หั่นเป้าจีดีพีเหลือ 1.5-3% กระทุ้งรัฐบาลอัดฉีด 2 แสนล้านเยียวยา-เร่งฉีดวัคซีน หวั่น ศก.ฟุบโต 0%
เมื่อวันที่ 21 เมษายน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยผลการประชุม กกร. ว่าที่ประชุมมีมติปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2564 ลงเหลือ 1.5-3% จากเดิมคาดไว้เติบโต 1.5-3.5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีน รวมถึงมาตรการเยียวยากว่า 2 แสนล้านบาทของรัฐบาล หากไม่มีเม็ดเงินเยียวยาเข้ามาอัดฉีดในระบบและการฉีดวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาจทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัว หรือมีจีดีพีเติบโตในอัตรา 0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดการณ์อยู่ที่ 1-1.2% จากเดิมคาดไว้ที่ 0.8-1%
“กกร.ประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในเดือนเม.ย.นี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างน้อย 3 เดือน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและกำลังซื้อ เพราะแรงงานในภาคบริการต้องหยุดหรือลดชั่วโมงการทำงาน ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินที่มีกว่า 2 แสนล้านบาทเข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประคับประคองกำลังซื้อในประเทศโดยรวม และขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ/แรงงานที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค” นายสุพันธุ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นมาก กกร.จึงปรับประมาณการการส่งออกปีนี้อยู่ที่ 4-6% เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดเติบโต 3-5% เพราะมองว่าไทยจะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวดีขึ้น ตามรายงานขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่ประเมินปริมาณการค้าโลกปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 8% เทียบกับประมาณการครั้งก่อนคาดเติบโต 7.2% ส่งผลดีต่อการผลิตและการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าเดิมที่คาดไว้ ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักของไทยปีนี้มีทิศทางดีขึ้นกว่าการประเมินครั้งก่อน โดยเฉพาะสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น ที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงต้นทุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นแรงกดดันสำคัญต่อความสามารถของผู้ส่งออกของไทยในระยะต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเป็นห่วงเรื่องการกระจายวัคซีนของรัฐบาลที่ยังล่าช้าและแผนงานยังไม่ชัดเจน จึงได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานใน 4 ด้าน เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี แบ่งการทำงานออกเป็น 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะแก้ไขปัญหาการกระจายและฉีดวัคซีน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในเรื่องโลจิสติกส์ การขนส่งและสถานที่ในการฉีด เช่น ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร นิคมอุตสาหกรรม ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น
2.คณะสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ โดยประสานข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน 3.คณะสนับสนุนระบบอำนวยความสะดวกระบบงานต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการฉีด จนถึงการออกใบรับรอง และการจัดทำระบบ Vaccine Passport เพื่อใช้แสดงในการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ และ 4.คณะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ที่ผ่านมาได้รวบรวมความต้องการภาคเอกชนในการซื้อวัคซีนเพื่อเร่งการฉีดให้เร็วขึ้น โดยมีผู้ซื้อแสดงความจำนงมาแล้วกว่า 5 ล้านโดส และขอให้สำนักงานองค์การอาหารและยา (อย.) ผ่อนคลายระเบียบเพื่อให้มีการซื้อวัคซีนได้มากขึ้น
"ทางภาคเอกชนต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีและคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ตอบรับข้อเสนออย่างรวดเร็วในการเร่งหาวัคซีนทางเลือก โดยได้อำนวยความสะดวกในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม พร้อมกับจะจัดหาวัคซีนโควิด-19 อีก 2-3 ยี่ห้อ เพิ่มเติม 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ภาครัฐดำเนินการไว้แล้ว ซึ่งภาคเอกชนนำโดย กกร.จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองด้วย เพื่อช่วยลดงบประมาณของรัฐบาล" ประธาน กกร.ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |