ย้อนยุคสุ 'ไม่เอาก็ให้ 'เต้' ความเป็นไปได้เปลี่ยนตัว 'นายกฯ'


เพิ่มเพื่อน    

 

       หลังจากแกนนำม็อบ 3 นิ้วถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังอย่างต่อเนื่อง การออกมาเคลื่อนไหวของแกนนำเสื้อแดงรุ่นเก๋า ที่ปรับโทนการเรียกร้อง ลดระดับเหลือแค่ “ไล่บิ๊กตู่” ก็เริ่มเสียงดังขึ้น ทั้งกลุ่มของ “จตุพร พรหมพันธุ์” ที่ไม่แตะสถาบัน และ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ที่หนุนข้อเรียกร้องของม็อบ 3 นิ้ว แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะจาบจ้วง หรือพาดพิง 

                เมื่อแรงสวิงเริ่มกลับมาที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในห้วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กำลังหน้าสิ่วหน้าขวาน กระแสข่าวการเปลี่ยนตัว “นายกฯ” จึงดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้ง ตามอารมณ์ของคนในสังคม ที่กังวลว่ารัฐบาลจะไม่มีศักยภาพที่จะดูแล ปกป้องตนเองได้

                ความไม่พอใจต่อความล่าช้าในการบริหารจัดการวัคซีน ยิ่ง “เข้าทาง” ในสิ่งที่ฝ่ายค้านได้ตั้งข้อสังเกตไว้จากการอภิปรายในสภาฯ รวมถึงปัญหาปากท้องของคนในสังคมที่ตามมาเป็นลูกโซ่ จากการทำมาค้าขายฝืดเคือง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

                ตอกย้ำด้วยข้อมูลที่ปรากฏออกมาสู่สังคม ยังคลุมเครือเรื่อง “ต้นตอ” การระบาดจากความบกพร่องในการบังคับใช้กฎหมายกับสถานบันเทิง การปกปิดไทม์ไลน์ของเหล่าบรรดา “บิ๊กเนม” ทั้งหลายที่เข้าไปใช้บริการ เลยไปถึงข้อมูลการนำเชื้อเข้าประเทศจากบรรดาลูกหลานไฮโซที่เปิดธุรกิจพนันออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน 

                สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ต่ำสูง ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ต่างจากคดี “บอส” ที่เกิดขึ้นในซอยทองหล่อเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้

                กลายเป็น “อารมณ์” ของสังคมที่ต้องการ “ความรับผิดชอบ” จากผู้นำฯ จนกลายเป็นข่าวสะพัดเรื่องการเปลี่ยนตัว “นายกฯ” อีกระลอก

                แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในเมื่อปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ยังสามารถคุมสภาพการเมืองภายใน และการเมืองบนท้องถนนไว้ได้ การเปลี่ยนม้ากลางศึกในสถานการณ์โควิด-19 จึงยังไม่ใช่เหตุปัจจัยหลัก ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ “ความชอบธรรม” ที่เกิดจากความรับผิดชอบในการบริหารประเทศ

                ในความเป็นจริง พล.อ.ประยุทธ์ จึงยังไม่มีเหตุผลในการลาออก และยังไม่มีการกระซิบให้ลาออกในห้วงเวลานี้แต่อย่างใด ยิ่งการเปลี่ยนแปลงด้วยการยุบสภาฯ ก็ยังไม่ใช่จังหวะที่ทำได้ เนื่องจากยังมีภารกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องยืนระยะในการดำเนินภารกิจสำคัญให้จบ

                -ไล่ตั้งแต่การผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2565 ซึ่งเป็นกุญแจหลักในการบริหารประเทศไปจนถึงปี 2565

                -ดูผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเป้าหมายในการออกแบบพรรคการเมืองที่อยู่ในเครือข่ายอำนาจของตนเองให้เข้มแข็งเพื่อกลับเข้ามายึดที่นั่งในสภาฯ ให้มากที่สุด สร้างปราการป้องกันการแตะต้องสถาบัน เนื่องจากในห้วงที่ผ่านมานักการเมืองใช้เวทีสภาฯ “ปักธง” และวิพากษ์วิจารณ์สถาบันในหลายวาระ 

                -การแต่งตั้งข้าราชการให้เสร็จสิ้นในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

                -ทดสอบสนามเลือกตั้งในเมืองกรุง ด้วยผลจากการต่อสู้ชิงชัยในสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

                กระแสข่าวที่สะพัดในเรื่องการเปลี่ยนตัวนายกฯ จึงเป็นเรื่องธรรมชาติในช่วง “รัฐบาลขาลง” เมื่อบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งเข้าปีที่ 2 และเมื่อผนวกกับ 5 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหาร ซึ่งนานวันก็ต้องหอบหิ้วเหล่าบรรดา “ลูกหาบ” ที่มีชนักติดหลัง เนื่องจากช่วยรัฐบาลมาด้วยกันแล้วโดยไม่กล้ากลืนเลือดจัดการใคร จึงเกิดคำถามของสังคมว่าถึงเวลาที่จะ “ไขก๊อก” แล้วใช่หรือไม่

                กลายเป็นจุดกำเนิดของ “ไอโอ” ที่ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ใช่ “ลุงตู่” แล้วจะเอาใคร?

                ย้อนให้นึกถึง "ประโยคเด็ด" เมื่อครั้งรัฐบาลของ รสช.ที่มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็นประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ( รสช.) ได้พูดไว้ในการให้น้องๆ ขึ้นมาเป็นนายกฯ ช่วงหลังการรัฐประหารปี 2534 ว่า

                “สุไม่เอาก็ให้เต้”!!!

                ทำให้ชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รุ่นพี่ 3 ป. ถูกหยิบยกมาพูดอีกครั้ง หากเกิดอุบัติเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลุกจากเก้าอี้ผู้นำประเทศ

                ส่วนตัวเลือกอื่นๆ ที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะเป็น “สายแข็ง” ที่ถูกพูดถึงว่าจะเข้ามาเป็นนายกฯ สำรอง อย่าง “อนุทิน ชาญวีรกูล” ก็ยังมีความยึดโยงกับพลังอำนาจในประเทศหลายส่วนน้อยเกินไป แม้จะมีเครือข่ายทหารจากการเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรอยู่บ้าง หรือแม้กระทั่งมี โอวี (วชิราวุธวิทยาลัย) อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ใช่ตัวเลือกในสถานการณ์ขณะนี้ และคงต้องรอลุ้นหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป

                การรวมกลุ่มทางการเมือง และการผุดพรรคเล็กพรรคน้อยทั้งรวมไทยสร้างชาติ เศรษฐกิจไทย พลัง ฯลฯ ที่เป็นการขยายเซลล์จากพรรคพลังประชารัฐ ในช่วงที่กระแสสังคมสาละวนกับสถานการณ์โรคระบาด ส่งสัญญาณให้เห็นสูตรการเมืองที่จะนำไปใช้หลังการยุบสภาฯ และจะมีเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงปี 65 ที่เริ่มรัวปี่กลองรบกันแล้ว

                โดยลุ้นว่า การอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเดินเข้าสู่ปีที่ 8 จะนานกว่าสถิติของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี หรือไม่ ก่อนที่ไปต่อ หรือวางมือหลังยุบสภาฯ

            ส่วนอุบัติการณ์เปลี่ยนตัว "นายกฯ" อย่างกะทันหันน่าจะเป็นไปได้ยาก!!!!.

                   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"