เมื่อเกิดรัฐประหารในเมียนมา เพื่อนบ้านใหญ่ทางตะวันตกอย่างอินเดียย่อมต้องคิดหนักว่าจุดยืนของตนจะเป็นอย่างไร
ข้อแรกที่ต้องพิจารณาสำหรับอินเดียในกรณีนี้คือ จีนจะเอาอย่างไรกับเมียนมา
อินเดียไม่ต้องการกดดันกองทัพเมียนมาจนต้องไปซบอกจีน
เพราะลึกๆ แล้วอินเดียรู้ดีกว่ากองทัพเมียนมามีความระแวงจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
แต่อินเดียก็รู้ดีว่าเมียนมาไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องคบหาสหายใหญ่ทางด้านเหนือเพื่อการด่วงดุลแห่งอำนาจเอาไว้ให้ดีที่สุด
บางคนถามว่า ทำไมอินเดียซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น "ประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดของโลก" จึงไม่ออกมาประณามกองทัพเมียนมาในการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงอย่างหนักหน่วง
ทำไมอินเดียจึงไม่เห็นพ้องกับที่สหรัฐฯ และยุโรปออกมาคว่ำบาตรกองทัพเมียนมา
แนววิเคราะห์ด้านหนึ่งคือ อินเดียต้องการจะรักษาช่องทางการสื่อสารกับกองทัพเมียนมาไว้ เพื่ออย่างน้อยเป็น "หน้าต่างเล็กๆ" ที่ยังพอจะพึ่งพาได้
เพราะอินเดียไม่ต้องการให้เมียนมาต้องอยู่ในภาวะถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก จนต้องหันไปคบหาจีนในฐานะ "มิตรแท้พิสูจน์กันยามยาก"
แนวทางของอินเดียได้รับคำอธิบายชัดเจนจากนายเค นาคราช ไนดู รองผู้แทนถาวรของอินเดียประจำสหประชาชาติ ที่บอกกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการประชุมเกี่ยวกับเมียนมาว่า
ไม่มีปัญหาที่อินเดียจะร่วมประณามการใช้ความรุนแรงในเมียนมา
แต่การตัดสัมพันธ์กับเมียนมาจะสร้าง "ภาวะสุญญากาศ" ซึ่งจะไม่เป็นผลดี
ด้วยเหตุผลนี้อินเดียจึงสนับสนุนให้มีการดำเนินการกับเมียนมาในทุกรูปแบบเพื่อหาทางแก้ปัญหาอย่างสันติ และหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการสูญเสียมากกว่านี้
แต่จะไม่ถึงกับ "ตัดญาติขาดมิตร" กับเมียนมา
ต่อมาอีกไม่กี่วัน อินเดียก็แสดงท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้น เพราะสถานการณ์ในเมียนมาย่ำแย่ลงเรื่อยๆ มีการไล่ล่าฆ่าฟันผู้ประท้วงรวมถึงเด็กๆ ผู้หญิงและคนแก่อย่างไม่เลือกหน้า
อินเดียจึงเพิ่มความเข้มข้นด้วยการเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง และให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคนที่ยังถูกควบคุมตัวเอาไว้
นายอรินธรรม แบกชี โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย บอกนักข่าวว่าอินเดียสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา และพร้อมที่จะรับบทบาทคนกลางในการแก้วิกฤติของประเทศเพื่อนบ้าน
แล้วทำไมอินเดียจึงส่งทูตทหารเข้าร่วมขบวนพาเหรดในวันกองทัพเมียนมา (Armed Forces Day) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างหนัก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 คน และทำให้กลุ่มผู้เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยออกมาประณามการเข้าร่วมของอินเดียในครั้งนั้น
อินเดียเป็นหนึ่งใน 8 ประเทศ (รวมถึงไทย) ที่ส่งตัวแทนไปร่วมในการเฉลิมฉลองวันกองทัพเมียนมา
นอกจากนั้นยังมีจีน, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เวียดนาม, ลาว และรัสเซีย
มีคำอธิบายจากคนในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียว่า การที่อินเดียไปร่วมพิธีวันนั้นไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแสดงว่าอินเดียสนับสนุนและยอมรับการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา
แต่ควรจะมองจากมุมที่ว่า อินเดียและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องใช้ "ความละเอียดอ่อน" ในการจัดการกับสถานการณ์ในเมียนมา
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพขั้นรุนแรงที่จะกระทบต่อทั้งภูมิภาค
จะว่าไปแล้วเหตุผลทำนองนี้ก็ละม้ายกับที่รัฐบาลไทยใช้อธิบายท่าทีของตนต่อกรณีเดียวกัน
นั่นคือ "เดิมพัน" ของอินเดียนั้นแตกต่างไปจากของประเทศตะวันตกอื่นๆ
อินเดียจึงยึดแนวทางการใช้สายสัมพันธ์ที่มีกับกองทัพเมียนมา เพื่อหาทางหว่านล้อมและเจรจากับนายพลผู้กุมอำนาจของประเทศนั้นในการหาทางออกที่นิ่มนวลและเสียหายน้อยที่สุด
แนวทางหลักของอินเดียในการสานสัมพันธ์กับรัฐบาลเมียนมา คือการลดทอนอิทธิพลของจีน
จีนใช้เมียนมาเป็นทางผ่านเข้าถึงมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นน่านน้ำที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์
กองทัพเมียนมาร่วมมือกับอินเดียในการทำลายแหล่งหลบซ่อนของผู้ก่อการร้าย ในบริเวณรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียติดกับชายแดนเมียนมา
จริงๆ แล้วอินเดียอาจต้องการรักษาความสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมา เพื่อให้ช่วยปราบกลุ่มกบฏที่มีฐานที่มั่นอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และมีปฏิบัติการอยู่บริเวณชายแดนของสองประเทศนี้เสมอ
อินเดียรู้ดีว่าจีนจัดหาอาวุธให้กองทัพเมียนมาอย่างสม่ำเสมอ
อีกทั้งจีนก็ยังช่วยส่งอาวุธให้กองกำลังอาระกันเป็นครั้งเป็นคราว...ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้อินเดียไม่สบายใจ
เป็นที่รู้กันว่ากองกำลังอาระกันพยายามขัดขวางโครงการขนส่งหลายรูปแบบที่เรียกว่า Kaladan Multi-Modal Transit Transport Project ที่เชื่อมเมืองท่าทางตะวันออกของอินเดียอย่างเมืองกัลกัตตา กับเมืองท่าในเมียนมาที่เมืองซิตเว (Sittwe) ในรัฐยะไข่
แต่อินเดียก็ไม่ต้องการให้คนเมียนมาที่กำลังประท้วงรัฐประหารอยู่ขณะนี้เกิดความรู้สึกต่อต้านอินเดีย เหมือนกับที่มีกระแสต่อต้านจีนอยู่ทุกวันนี้เช่นกัน
และต้องไม่ลืมว่าอินเดียได้ประกาศยืนข้างสหรัฐฯ ในยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อีกทั้งเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศกลุ่ม Quad ที่มีอเมริกา, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลียและอินเดียเป็นสมาชิก
ถ้าอเมริกายืนอยู่ข้างต้องคว่ำบาตรกองทัพเมียนมา และขณะเดียวกันก็สกัดอิทธิพลจีนในภูมิภาคนี้ไปด้วย อินเดียก็มีทางเลือกไม่มากนักต่อวิกฤติเมียนมา!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |